xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ปล่อยอินโดฯสำรวจที่พัก อ้างไม่ใช่ผู้สังเกตการณ์ ย้ำเขมรไม่ถอนทหารก็เลิกคุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
นายกฯ เผย “ประวิตร” ให้อิเหนาเข้ามาสำรวจดูที่พักอาศัย แต่ไม่ได้เข้าพื้นที่ ยันไม่ใช้ผู้สังเกตการณ์ ก่อนจัดประชุมจีบีซี ที่เขมร คุยถอนทหารพ้น 4.6 ตร.กม.ก่อนเซ็นทีโออาร์ ถ้าไม่ทำก็หยุดแค่นั้น ส่ง “สุวิทย์” ประชุมมรดกโลก ย้ำ เลื่อนแผนบริหารจัดการพระวิหาร ปัดให้ผู้สำรวจเข้าก้าวแรกดึงชาติอื่นจุ้น ยันต้องมาดูเอ็มโอยู 43 ลั่นพรรคไม่ยอมกัมพูชา

วันนี้ (23 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีชุดเล็กถึงการเตรียมการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลก และศาลโลก ว่า ขณะนี้มีความก้าวหน้า และชัดเจนมากขึ้น คือ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับผู้สังเกตการณ์ โดยสรุปขณะนี้ คือ หลังจากที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พบปะรัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีแนวทางที่จะดำเนินการเป็นขั้นเป็นตอน โดยข้อแรกจะมีผู้สำรวจเข้ามาดูจุดที่มีการระบุเอาไว้ในข้อกำหนด หรือทีโออาร์ ว่า ผู้สังเกตการณ์ที่เคยพูดคุยกันไว้จะเข้ามาอยู่ตรงไหน ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นเจ้าหน้าที่ธรรมดา จะเข้ามาดูที่พักอาศัยว่าจะอยู่ตรงไหน โดยจะอยู่ 1-2 วัน ก็จะกลับ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อคณะผู้สำรวจเดินทางมาดูจุดที่จะมีผู้มาสังเกตการณ์แล้ว จะมีการประชุมจีบีซี ที่กรุงพนมเปญ หรือที่อื่นในกัมพูชา ซึ่งแล้วแต่กัมพูชาจะเป็นผู้กำหนดเป็นการประชุมจีบีซีตามกลไกปกติของ 2 ฝ่าย โดยหัวข้อสำคัญที่จะมีการพูดคุยกัน คือ ประเด็นการถอนทหารตามที่ไทยได้พูดไว้จากพื้นที่ที่เป็นปัญหากันอยู่ ฉะนั้น ความก้าวหน้าในเรื่องนี้หยุดอยู่ในขั้นตอนนี้ เมื่อการประชุมจีบีซีได้ผลเป็นที่พอใจตามเงื่อนไขที่เราได้กำหนดไว้คือ มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรแล้ว จึงจะมีการดำเนินการในเรื่องของทีโออาร์ และผู้สังเกตุการณ์ต่อไป ซึ่งยังอยู่ในเงื่อนไขของมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่กำหนดไว้ว่า เรื่องทีโออาร์เราจะเดินหน้าต่อก็ต่อเมื่อจะมีการถอนทหารออกไป

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า คืนวันที่ 23 พ.ค.นี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเดินทางไปมรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยจะมีการพบปะทวิภาคีกับกัมพูชาในวันที่ 25 พ.ค.และจะประชุมคณะกรรมการที่เป็นกลไกของมรดกโลกในวันที่ 26 พ.ค.โดยจุดยืนของเรายังเหมือนเดิมทางมรดกโลกควรจะเลื่อนหรือหลีกเลี่ยงการพิจารณาแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ทางกัมพูชาเสนอ เพราะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่ผ่านๆ มา ถ้าสามารถตกลงกับทางกัมพูชาได้ หรือในวันที่ 26 พ.ค.สามารถมีความชัดเจนทางฝ่ายไทยจะสนับสนุนให้มีการเอาเรื่องนี้ออกจากระเบียบวาระ อย่างไรก็ตามเราเห็นว่า ถ้ายังไม่สามารถเอาออกจากระเบียบวาระได้ หรือมีปัญหาในเชิงข้อบังคับเทคนิคก็ควรจะมีข้อเสนอแนะออกจากที่ประชุม ว่า ควรจะมีการเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ออกไปสำหรับวันที่ 26 พ.ค.นี้ถ้ามีผลชัดเจนอย่างไร หลังจากที่นายสุวิทย์เดินทางกลับก็จะมีการกำหนดแนวทางต่อไปในเรื่องการประชุมเดือนมิถุนายน

นายกฯ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องศาลโลกได้มีการเตรียมประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ รับทราบความก้าวหน้าในการทำงานของคณะที่ปรึกษากฎหมาย และทีมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ ได้มีการให้ข้อสังเกตุเพิ่มเติมไป ซึ่งจะต้องมีการไปยื่นความเห็นของฝ่ายไทยในวันที่ 30 -31 พ.ค.ต่อกรณีที่ทางกัมพูชาไปขอใช้มาตรการชั่วคราว ซึ่งวันนี้ได้ใช้เวลาในการกำหนดจุดยืนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ทั้งหมด มีความเป็นเอกภาพ และมีความเข้าใจตรงกันเดินไปในทิศทางยุทธศาสตร์เดียวกันครบถ้วน และมั่นใจว่า การดำเนินการใดๆ ก็ตามจะไม่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียสิทธิใดๆ ทั้งสิ้น ในเรื่องของดินแดนหรืออธิปไตย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้สำรวจเข้ามาเป็นหน่วยไหนอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ พูดง่ายๆ คือ ไม่มีเครื่องแบบเข้ามาสำรวจ เมื่อถามว่า การมีผู้สำรวจเข้ามาในขณะที่กัมพูชายังไม่มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ กัมพูชาจะอ้างได้หรือไม่ ว่า นั้นคือ ผู้สังเกตการณ์ นายอภิสิทธิ์ กล่าววว่า ไม่ใช่ เพราะชื่อเรียกต่างกันชัดเจน ขอบเขตการทำงานก็ต่างกันชัดเจน มาแค่ 1-2 วันดูที่พักอาศัยแล้วก็กลับ โดยผู้สำรวจจะมาจากอินโดนีเซีย แต่ไม่ทราบว่าเป็นหน่วยงานไหน เขาไม่มาในนามของหน่วยงาน แต่มาในนามของเจ้าหน้าที่ โดยกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียนยืนยันมา

เมื่อถามว่า หลัง รมว.กลาโหม ทั้งไทย-กัมพูชา หารือกัน มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่กัมพูชาจะถอนทหาร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องไปพูดคุยกันในจีบีซี แต่ถ้ายังไม่เกิดขึ้นเรื่องผู้สังเกตการณ์ก็ยังเข้ามาไม่ได้ เมื่อถามว่า ถ้าผู้สังเกตการณ์เข้ามาไม่ได้ทางอินโดนีเซียจะเข้ามาแทรกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ เพราะอันนี้เป็นการทำความเข้าใจกันครบถ้วน 3 ฝ่าย ซึ่งผู้สำรวจที่เข้ามาจะไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ 4.6 และผู้สำรวจที่เข้ามา ถามว่าเป็นทหารหรือตำรวจหรือไม่ ไม่ใช่ เขาจะไม่มาในนามอย่างนั้น เขามาในนามของผู้สำรวจ ซึ่งเราไม่มีปัญหา เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการที่จะส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา ถ้าเป็นทหารหรือตำรวจเขาก็จะไม่ใส่เครื่องแบบเข้ามา ซึ่งตนเองก็ตอบไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามขั้นตอน มีแผนรองรับหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า มันเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะการจะเข้ามาได้แต่ละครั้ง เราต้องยินยอม ฉะนั้นถ้าไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่เรากำหนดไว้ เราก็ไม่ยินยอม เมื่อถามว่า การให้ผู้สังเกตการณ์เข้ามาจะไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชาใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มี เพราะพื้นที่ 4.6 ไม่ได้เกี่ยวข้อง มาดูเพื่อให้จีบีซีเดินหน้าได้ พูดง่ายๆเป็นการแสดงออกให้เห็นว่า ทุกคนต้องการให้ทุกอย่างเดินหน้า

เมื่อถามว่า เรื่องการเจรจาปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ถ้ามีการเปลี่ยนขั้วอำนาจจะกระทบหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องมรดกโลกอย่างน้อยที่สุดในการประชุมปีนี้จะเสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้ง ส่วนปีหน้าเรายังยืนยันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมอยู่ ส่วนคดีที่ศาลโลกการตัดสินอาจจะชี้ในเรื่องของมาตรการชั่วคราว คงจะใกล้ๆ ช่วงเลือกตั้ง แต่น่าจะเป็นก่อนที่รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามา แต่หลังจากนั้นไป การต่อสู้คดี หรือแนวทางมรดกโลกต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า เดิมทีพรรคเพื่อไทยสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องไปถามเขาว่า ยังมีจุดยืนอย่างนั้นหรือไม่อย่างไร เมื่อถามว่า ที่นายกฯบอกว่า มีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมไปยังศาลโลก พอตั้งข้อสังเกตได้หรือไม่ว่าเรื่องอะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ เพราะเป็นเรื่องของเนื้อคดี เราขออนุญาตว่า แนวทางการต่อสู้ที่เป็นตัวเนื้อหาสาระในตัวสำนวน ตัวคดี ไม่ขอเปิดเผย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ากัมพูชายืนยันไม่ถอนทหารก็จะหยุดอยู่แค่นั้น ซึ่งเรื่องของผู้สังเกตการณ์เป็นผลสืบเนื่องมาจากความพยายามที่จะมาช่วยแก้ปัญหาของอาเซียนด้วยกันเอง แต่ข้อเท็จจริงเราทราบกันดีอยู่ว่า อย่างเหตุการณ์เดือนเมษายนที่เกิดขึ้นเป็นคนละพื้นที่กับเหตุการณ์กับเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นที่มาของการที่เรื่องนี้ไปอาเซียน โดยภาพรวมพื้นที่ปราสาทพระวิหารยกเว้นช่วงสั้นๆที่มีปัญหาเรื่องเครื่องบิน ก็ไม่ได้มีการปะทะอะไรกัน และผู้สังเกตการณ์ที่พูดถึงก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่มีการปะทะกันในจังหวัดอื่นของเดือนเม.ย. และการที่เราให้ผู้สำรวจเข้ามาเป็นการแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ขัดขวางกระบวนการที่มีความพยายามช่วยเหลือจากเพื่อนๆ เพียงแต่ว่า ถ้าจะเป็นเรื่องของการมาสังเกตการณ์แล้วต้องมาแก้ปัญหาในเรื่องการละเมิดเอ็มโอยูปี 43 และต้องถอนทหารก่อนทางกองทัพยืนอย่างนี้มาตลอด เมื่อถามว่า การให้ผู้สำรวจเข้ามาจะถือเป็นก้าวแรกที่ให้ประเทศที่ 3 เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่ ทางอินโดนีเซียเขาตระหนักถึงบทบาทขอบเขตต่างๆ ค่อนข้างดี เหมือนเรื่องจีบีซี เจบีซี เขาก็เพียงแต่อำนวยความสะดวกให้เกิดความมั่นใจว่า ความร่วมมือในการดูแลไม่ให้เกิดการปะทะกัน ตามที่อาเซียนได้คุยกันไว้ และหลักคือ ทุกอย่างต้องกลับไปสู่จุดที่ต้องไม่มีการละเมิดข้อตกลงระหว่างกัน คือเอ็มโอยูปี 43 เรายืนยันต้องเคารพข้อตกลงดังกล่าว

“ผมขอเปรียบเทียบให้ชัดๆ กันไปเลยว่า มันมีที่ของเราอยู่ และมันก็มีปัญหาว่า มาบุกรุกทีนี้เราไม่อยากมีเรื่องมีราวกับคนที่บุกรุก เพราะเป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน เราก็ข้อตกลง จึงพยายามไม่ใช้กำลัง และอยากให้เคารพข้อตกลงว่า นี้เป็นที่ของเรา แต่พอคนบอกว่า จะส่งคนที่สามเข้ามาดูว่าใครอยู่ตรงไหน เราบอกอันนี้ไม่ได้ ต้องกลับไปสู่สภาพตามข้อตกลงก่อน ถึงมาดูเดี๋ยวมาดูแล้วเห็นการละเมิดข้อตกลง แล้วนึกว่า นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นการที่จะมีคนที่สามเข้ามาดู หรือสังเกตการณ์จะต้องให้เป็นไปตามข้อตกลงก่อน เดี๋ยวจะเกิดความเข้าใจผิด” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า พรรคการเมืองควรจะพูดเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าเป็นหน้าที่ของสื่อมวลชน ประชาชน ที่จะสอบถามทุกพรรคการเมืองว่า มีจุดยืนอย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะที่เราได้ดำเนินการมา แล้วหลายคนบอกว่ามีปัญหา ซึ่งที่มีปัญหาหลายเรื่อง เพราะเราไม่ยอมกัมพูชา และไม่เห็นด้วยกับการที่ให้กัมพูชาไปขึ้นทะเบียนฝ่ายเดียวในเรื่องของมรดกโลก หากปลดเงื่อนไขเหล่านี้ไป และเดินหน้าตามกรอบของเอ็มโอยู เจบีซี ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหานี้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง และไม่ได้เป็นการเสียสิทธิใดๆ ของประเทศไทยทั้งสิ้น เพราะตัวเอ็มโอยูยึดถือเรื่องสนธิสัญญาเป็นหลัก ส่วนแผนที่ก็ไม่ใช่แผนที่ที่จะเป็นปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาก่อการร้าย ประกาศว่า หากเพื่อไทยเป็นรัฐบาลความสัมพันธ์จะฟื้นดีขึ้นทันที นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ ท่านและพรรคเพื่อไทยต้องแสดงจุดยืนว่า จะทำอย่างไร เพราะตอนที่เขาบริหารก็เคยมีปัญหา ไม่ใช่ไม่มี คงจำกันได้ เหตุการณ์เผาสถานทูตอะไรต่างๆ นอกจากนั้นแล้วต้องบอกด้วยว่า ถ้าบอกว่า จะไม่ให้มีปัญหาโดยการไปยินยอม เช่น ยินยอมให้กัมพูชาเดินหน้าขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็จะเป็นความแตกต่างที่ประชาชนต้องตัดสิน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลขณะนี้ ยืนในจุดยืนที่ว่า เราไม่ยินยอมในเรื่องนี้ถึงได้มีความพยายามมา เป็นเวลา 2 ปีแล้ว อย่าลืมว่า พรรคพลังประชาชนทำเรื่องนี้ไว้ปี 51 และในปี 52-53 เราสกัดกั้นไม่ให้มีการนำเสนอแผนบริหารได้สำเร็จ

เมื่อถามว่า ทางกัมพูชาเดินหลายช่องทาง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราก็พยายามชี้ให้เห็นประเด็นเหล่านี้อยู่ อย่างกรณีไปอินโดนีเซียทางกัมพูชามาต่อว่า ไทยว่า พูดเรื่องการถอนทหารทำไม ตนก็ชี้ให้เห็นว่า คุณเองก็ไปขอศาลโลกบอกให้เราถอนทหาร ฉะนั้นเราก็มีสิทธิที่จะบอกให้คุณถอนเหมือนกัน ฉะนั้น เขาจะเดินหลายทางตนก็มีหน้าที่ชี้ทุกเวทีให้เห็นว่า มันเชื่อมโยงกันอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น