ปัญญาพลวัตร
โดย ...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นช่วงเดือนกรกฎาคมนี้เป็นการแข่งขันระหว่างสองพรรคการเมืองหลักคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในบริบทการเมืองแบบเดิม ภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบเดิม ภายใต้วัฏจักรน้ำเน่าแบบเดิม ที่มีการเปลี่ยนแปลงคือสีสันทางการเมืองเพราะพรรคเพื่อไทยมีผู้หญิงที่เป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตรเป็นหัวหน้าพรรค
บริบทการเมืองไทยเป็นบริบทที่กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเข้าสู่อำนาจ ประชาชนมีฐานะเป็นเพียงบันไดที่ให้เหล่านักค้าอำนาจทางการเมืองปีนป่ายขึ้นไปหยิบเอาตำแหน่ง เกียรติยศ และอำนาจหน้าที่มาครอบครอง และเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมภายใต้วาทกรรมว่า “ผม/ดิฉันมาจากการเลือกตั้งของประชาชน”
กระบวนการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งในระดับเขตและบัญชีรายชื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างดีถึงสิ่งที่เรียกว่า การกีดกันทางการเมือง (Political Exclusion) ซึ่งเป็นการเมืองที่สร้างกำแพงมิให้คนนอกเครือข่ายอุปถัมภ์ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นผู้สมัคร หรือแม้กระทั่งคนที่เป็นนักการเมืองด้วยกันเองหากไม่แสดงความจงรักภักดีเป็นที่ประจักษ์ต่อผู้มีอำนาจในพรรค หรือหากไม่มีเงินสนับสนุนให้แก่พรรคมากเพียงพอ หรือมิใช่บุคคลที่เป็นเครือญาติของกลุ่มอำนาจในพรรค โอกาสที่ถูกผลักไสให้ออกนอกวงโคจรก็มีมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นการที่ใครจะได้รับเลือกเป็นผู้สมัครของพรรคการเมืองใดก็ต้องแสดงออกให้เห็นว่าตนเองมีความจงรักภักดีต่อหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคผู้มีอิทธิพลในการกำหนดตัวบุคคลเป็นผู้สมัคร การประจบสอพลอหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคจึงเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และแสดงออกมาให้สาธารณะรับรู้โดยปราศจากความละอาย และไร้ศักดิ์ศรีอย่างสิ้นเชิง ยิ่งสอพลอมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้เป็นที่พอใจจากผู้มีอำนาจในพรรคมากเท่านั้น และเมื่อผู้มีอำนาจในพรรคพึงพอใจก็หมายถึงประตูแห่งโอกาสในการถูกคัดเลือกให้เป็นผู้สมัครได้เปิดออกมา
ส่วนใครที่แสดงออกถึงความเป็นอิสระมีความเป็นตัวของตนเอง ย่อมถูกหมายหัวว่ากระด้างกระเดื่อง “มือที่มองไม่เห็นของอำนาจ” ภายในพรรคก็เข้าไปจัดการ และกวาดคนเหล่านั้นออกไปจากเวทีของพรรค ด้วยเหตุนี้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ จึงหาใช่ตัวแทนที่ผ่านการกลั่นกรองจากสมาชิกพรรค และยิ่งมิใช่ตัวแทนที่มีรากฐานจากประชาชน เมื่อเป็นเช่นนี้จุดเริ่มต้นแห่งการเป็นผู้สมัคร ส.ส.จึงปราศจากรากฐานที่อ้างอิงไปถึงประชาชนได้ ดังนั้นจึงไม่มีความเป็นประชาธิปไตยในกระบวนการคัดเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่ “คณาธิปไตย” ของกลุ่มชนชั้นนำหยิบมือเดียวในพรรคการเมืองเท่านั้นในการกำหนดว่าใครจะมีโอกาสเป็นผู้สมัครของพรรค
เมื่อจุดเริ่มต้นของกระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยเสียแล้ว ในขั้นตอนถัดไปก็ย่อมมิอาจกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มปากเต็มคำ
เมื่อพรรคการเมืองต่างๆ เดินหน้าเข้าสู่เวทีการแข่งขันในการเลือกตั้ง ย่อมต้องผลิตนโยบายออกมาเพื่อนำเสนอต่อประชาชน คำถามคือนโยบายต่างๆมีใครบ้างเป็นผู้กำหนด และมีวิธีการกระบวนการในการกำหนดอย่างไร
สิ่งที่เห็นและปรากฏออกมาให้สาธารณะรับรู้คือ บางพรรคมีหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นผู้กำหนด ขณะที่บางพรรคมีผู้ทรงอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลังพรรคเป็นผู้กำหนด ที่แน่ๆ คือไม่มีการกำหนดนโยบายโดยใช้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญของพรรคเช่น สมาชิกพรรค หรือสาขาพรรค เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของพรรคอย่างมีนัยสำคัญ
เนื้อหานโยบายส่วนใหญ่เกิดจากความเชื่อและค่านิยมของหัวหน้าพรรคหรือผู้ทรงอิทธิพลของพรรคที่คิดว่านโยบายที่ประกาศออกมาเป็น “นโยบายที่ขายได้” หรือ เป็นนโยบายที่ประชาชนชื่นชอบ นโยบายของพรรคการเมืองจำนวนมากที่เสนอออกมาจึงมิใช่ นโยบายที่สร้างขึ้นมาโดยอาศัยรากฐานจากหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Policy) แต่เป็นนโยบายที่นั่งคิดเอาเองบนเก้าอี้ อีกทั้งยังเป็นนโยบายที่ขาดรากฐานทางทฤษฎีและปรัชญาทางการเมืองที่คงเส้นคงวา สิ่งที่เห็นคือการผสมปนเปทางปรัชญาและทฤษฎีจนจับต้นชนปลายไม่ถูก บางนโยบายก็นำไปปฏิบัติไม่ได้ สักแต่ใช้ในการเอาใจประชาชนกลุ่มเป้าหมาย บางนโยบายก็ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบหรือผลสืบเนื่องทางลบที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ การคลังของประเทศ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน
ดังนั้นกระบวนการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองก็มิมีส่วนใดที่ใกล้เคียงกับแนวความคิดหรือหลักการของประชาธิปไตยแม้แต่น้อย เป็นเพียงนโยบายของชนชั้นนำ สร้างขึ้นโดยชนชั้นนำ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญสามประการ ประการแรก เป็นการรักษา ปกป้อง และส่งเสริมประโยชน์ของชนชั้นนำในพรรคและกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนพรรคเท่านั้น ประการที่สอง เพื่อใช้ในการหาคะแนนนิยมจากกลุ่มเป้าหมายอย่างไร้เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ และอย่างไร้เหตุผลจริยธรรมทางการเมืองและสังคม สักแต่จะหลอกล่อประชาชนให้เลือกเสพนโยบายของตนเองจนติดและตกเป็นเหยื่อ และประการที่สาม เอาไว้สร้างภาพลักษณ์ให้พรรคของตนเองดูดี ว่าเป็นพรรคที่ก้าวหน้า มุ่งแก้ปัญหาสังคมในเชิงโครงสร้าง แต่แท้จริงแล้วนักการเมืองและพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่กล้าที่จะนำนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติแม้แต่น้อย สักแต่พูดให้ตนเองดูดีไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากบางพรรคที่ผู้บริหารพูดเกี่ยวกับนโยบายปฏิรูปที่ดิน หรือนโยบายการเก็บภาษีมรดก มาตั้งแต่เป็นรัฐบาลใหม่ๆ จนกระทั่งปัจจุบันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นแม้แต่น้อย
ในการหาเสียงรณรงค์เลือกตั้ง สิ่งที่พรรคการเมืองเกือบทั้งหมดใช้คือ โครงข่ายหัวคะแนน ซึ่งมีการว่าจ้างทั้งการหาเสียงตามกฎหมายกำหนด กับการกระทำผิดปกติหรือผิดกฎหมาย เช่น การจัดตั้งเครือข่ายในการซื้อขายเสียง การข่มขู่ทำร้ายหัวคะแนนฝ่ายตรงข้าม การทำลายป้ายหาเสียงของตนเองหรือฝ่ายตรงข้าม การสร้างสถานการณ์ให้ตนเองเป็นฝ่ายถูกกระทำเพื่อเรียกคะแนนสงสาร การปล่อยข่าวลือเพื่อทำลายคู่แข่ง การโกงในหน่วยลงคะแนน การโกงการนับคะแนน และอีกสารพัดวิธีการทุจริต ฉ้อฉล รุนแรง และป่าเถื่อน เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะในการเลือกตั้งแต่ประการเดียว
เมื่อพรรคการเมืองและนักการเมืองเกือบทั้งหมดใช้วิธีการหาเสียงซึ่งห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตยอยู่ไกลโข แล้วจะมาคุยโม้โอ้อวดทำไมว่า การเลือกตั้งในประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยจะมาพูดทำไม่ว่าการเลือกตั้งเป็นการปฏิรูปการเมือง การพูดเช่นนี้เป็นเรื่องไร้เดียงสาจนเกินไป ผู้ใช้สามัญสำนึกธรรมดาก็ย่อมดูออกว่าการเลือกตั้งมิใช่เป็นการปฏิรูปการเมืองอต่อย่างใด
การเลือกตั้งในประเทศไทยจึงเป็นเพียงแค่การตอกย้ำและสร้างความชอบธรรมจอมปลอมให้กับสิ่งที่คนไทยจำนวนมากหลงคิดไปว่าเป็น “ประชาธิปไตย” อันที่จริงการเลือกตั้งของไทยเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับนักค้าอำนาจทางการเมืองและเครือญาติของพวกเขาเสวยอำนาจต่อไป สร้างความชอบธรรมให้กับการใช้อำนาจแบบคณาธิปไตยของกลุ่มทุนอิทธิพลทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ สร้างความชอบธรรมให้กับชนชั้นนำในการกำหนดนโยบายประชานิยม และยังสร้างความชอบธรรมให้กับการทุจริตเลือกตั้งอีกด้วย
ที่น่าสนใจคือ มีนักวิชาการและชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งที่ร่วมขบวนในการสร้างความชอบธรรมให้กับการเลือกตั้งที่วิปริตและวิตถารเช่นนี้ จะเป็นด้วยความไร้เดียงสาในการยึดรูปแบบประชาธิปไตยว่าต้องมีการเลือกตั้งโดยไม่สนใจว่าการเลือกตั้งนั้นมีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่แบบนักข่าว นักวิชาการ และรัฐบาลในประเทศตะวันตก ก็คงมีอยู่บ้าง จะเป็นด้วยสนับสนุนแบบมียุทธศาสตร์คือสนับสนุนการเลือกตั้งแบบนี้ไปก่อนเพื่อให้กลุ่มทุนเข้าไปมีอำนาจโดยไม่ใส่ใจคุณธรรมและจริยธรรมตลอดจนหลักการสำคัญของประชาธิปไตยเพื่อไปบ่อนทำลายกลุ่มอำมาตย์ที่พวกเขารังเกียจก็คงมีอยู่บ้าง
แต่การสร้างความชอบธรรมให้กับการเลือกตั้งที่วิปริตเช่นนี้ ไม่แตกต่างจากการขายวิญญาณให้ปีศาจร้าย ในที่สุดก็จะถูกมนตราของปีศาจหลอกให้ลุ่มหลง และจมอยู่ในกับดักของพวกมัน จะได้แต่เปลือกของประชาธิปไตย แต่ภายในกลับเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจำกัดเสรีภาพของประชาชน
ทางที่จะสร้างประชาธิปไตยทั้งรูปแบบและเนื้อหาขึ้นมาได้ คือต้องก้าวให้พ้นเงาแห่งความกลัวที่อยู่ในจินตนาการออกไป ทั้งไม่ยอมสยบให้กับพรรคการเมืองที่เป็นของกลุ่มทุนผูกขาดและทุนท้องถิ่นที่อาศัยระบบอุปถัมภ์ การซื้อเสียง และนโยบายประชานิยม ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ยอมจำนนต่อพรรคการเมืองของทุนเก่า ขุนนางเก่า ชนชั้นสูง และนักการเมืองอาชีพที่ขายภาพลักษณ์ แต่ทำงานไม่เป็นและเท้าไม่ติดดิน
การสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองใหม่ (New Political Architecture) ได้ ประชาชนจะต้องรื้อ (Deconstruction) ระบบ โครงสร้าง และวัฒนธรรมการเมืองเก่าออกไปก่อน และวิธีการที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ปัญญาเชิงปฏิบัติ (Practical Wisdom) อันจะนำไปสู่ทางออกสำหรับการเมืองไทยคือ การไปเลือกตั้งแล้วกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนนให้ใครหรือพรรคใด เพื่อให้เกิดพลังของการขับเคลื่อนกระบวน”รื้อ” แล้วสร้างสถาปัตยกรรมทางการเมืองใหม่ขึ้นมาอย่างมีประสิทธิผลต่อไป