"ปัญญาพลวัตร"
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อถูกผลิตขึ้นมาและบรรจุในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยมีเป้าประสงค์เพื่อชดเชยข้อบกพร่องของการเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่ ลักษณะสำคัญของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อคือการใช้เขตเลือกตั้งขนาดใหญ่โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งส่งผลให้การซื้อสิทธิขายเสียงกระทำได้ยาก และทำให้ ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงค์ทางการเมืองได้โดยปลอดจากอิทธิพลของระบบอุปถัมภ์ของนักการเมืองระดับหนึ่ง
บางประเทศการนำระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมาใช้สามารถแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมและการซื้อสิทธิขายเสียงได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ แต่ในสังคมไทยดูเหมือนระบบนี้กลับมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาการเมืองไทยไม่มากนัก
ภายใต้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้พรรคการเมืองจะบรรจุรายชื่อผู้สมัครของตนเองเรียงลำดับจนครบตามจำนวนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กำหนดไว้ 100 คน ขณะที่ยังคง ส.ส.แบบเขตพื้นที่ไว้ 400 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงเท่ากับหนึ่งในห้าของจำนวนส.ส.ทั้งหมด ต่อมารัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ลดจำนวนลงเหลือ 80 คน ขณะที่ ส.ส.แบบเขตพื้นที่มีจำนวน 400 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงมีเท่ากับหนึ่งในหก ของ ส.ส.ทั้งหมด และเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในพ.ศ. 2554 ก็ได้เพิ่มเป็นจำนวน 125 คน และลด ส.ส.บัญชีรายชื่อเหลือ 375 คน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจึงมีหนึ่งในสี่ของ ส.ส.ทั้งหมด
ปมปัญหาที่ทำให้ระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองไทยประการหนึ่งคือ สัดส่วนของส.ส.บัญชีรายชื่อเมื่อเทียบกับจำนวน ส.ส.ทั้งหมดมีน้อยเกินไป จึงทำให้สถานการณ์การเลือกตั้งถูกครอบงำด้วย ส.ส.แบบเขตพื้นที่ การซื้อสิทธิขายเสียงและการควบคุมเขตเลือกตั้งโดยใช้ระบบอุปถัมภ์อำนาจนิยมจึงยังดำรงต่อไป
แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือ พรรคการเมืองไทย ได้พัฒนากลยุทธในการซื้อขายเสียงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง จากเดิมซึ่งซื้อในเขตเลือกตั้ง ได้กลายมาเป็นซื้อทั้งประเทศ โดยใช้นโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือหลักในการซื้อสิทธิประชาชน นับตั้งแต่การเลือกตั้งในปี 2544 พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้แข่งขันผลิตนโยบายประชานิยมเพื่อใช้ในการซื้อสิทธิประชาชนอย่างเข้มข้น และก็มีประชาชนจำนวนมากที่ตกอยู่ในมนตราของนโยบายประชานิยมอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
คนจำนวนมากหารู้ไม่ว่านโยบายประชานิยมคือยาพิษที่กัดกร่อนจิตวิญญาณของผู้คน ทำให้ผู้คนอ่อนแอลดการพึ่งตนเอง เกิดการพึ่งพาและตกอยู่ในสภาพอาณานิคมทางจิตแก่พรรคการเมือง
ผู้เลือกตั้งจำนวนมากเมื่อถูกครอบงำด้วยผลประโยชน์ของนโยบายประชานิยมจึงทำให้การแสดงเจตจำนงทางการเมืองอย่างเป็นอิสระและมีเหตุมีผลถูกบิดเบือนเบี่ยงเบนไป ระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของไทยจึงกลายสภาพเป็นกลไกที่ง่อยเปลี้ย ไม่สามารถสำแดงจุดเด่นของมันออกมาได้
นโยบายประชานิยมไม่ใช่นโยบายที่มีรากฐานจากอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เป็นนโยบายที่นักการเมืองผลิตขึ้นมาเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าระยะสั้นของประชน โดยการหยิบยื่นผลประโยชน์ในรูปของเงินทอง สิ่งของ และการบริการสาธารณะ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่ประชาชนเลือกพรรคที่ตนเองเป็นเจ้าของ
นโยบายประชาชนนิยมจึงเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการซื้อขายเสียง โดยอาศัยงบประมาณแผ่นดินของคนทั้งประเทศ นับว่าเป็นการพัฒนาการของการซื้อขายเสียงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เพราะการซื้อเสียงแบบเดิมจะใช้เงินส่วนตัวของนักเลือกตั้งและกลุ่มทุนที่สนับสนุนพวกเขา
พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองแรกที่นำนโยบายประชานิยมมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างคะแนนนิยม ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ต่อมาในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นพรรคการเมืองแทบทุกพรรคของประเทศไทยก็แข่งกันเสนอนโยบายประชานิยมอย่างกว้างขวาง
ปรากฏการณ์เช่นนี้จึงเป็นการแข่งขันการ “ประมูลซื้อสิทธิ” หรือ “ซื้ออำนาจอธิปไตย” ของประชาชนนั่นเอง เช่น พรรคการเมืองหนึ่งเสนอว่าจะให้เบี้ยยังชีพคนชรา 500 บาท ส่วนอีกพรรคหนึ่งก็เสนอว่าจะให้ 1,000 บาท พรรคการเมืองหนึ่งเสนอว่ามีเงิน 30 บาทสามารถรักษาได้ทุกโรค อีกพรรคหนึ่งก็เสนอให้การรักษาพยาบาลฟรีขึ้นมาแข่ง เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้นในการคัดเลือกบุคคลบรรจุลงในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับกลุ่มคนเพียงกลุ่มหนึ่งที่คุมอำนาจในพรรค มิใช่มาจากการคัดเลือกของสมาชิกแต่อย่างใด เกณฑ์ที่ใช้สำหรับการบรรจุบุคคลในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆคือการเป็นนายทุนของพรรคหรือการเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคม ส่วนจะมีจิตใจสาธารณะ เสียสละต่อส่วนรวม หรือมีความสามารถในการบริหารหรือไม่มิใช่ประเด็นหลักที่พรรคการเมืองใช้ในการคัดเลือกบุคคลลงสมัครในนามพรรค รวมทั้งจะเป็นตัวแทนของอาชีพใดกลุ่มทางสังคมใดหรือ ก็มิใช่เรื่องสำคัญสำหรับพรรคการเมืองเช่นเดียวกัน
ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคจึงมีลักษณะไม่แตกต่างจาก ส.ส.ที่มาจากเขตเลือกตั้ง กล่าวคือต่างมุ่งรับใช้นายทุนพรรคหรือผู้บริหารพรรคเป็นหลัก การบอกว่าส.ส.เป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยจึงกลายเป็นเรื่องที่เขียนเอาไว้ให้ดูสวยหรู แต่หาได้มีนัยเชิงปฏิบัติดังที่เขียนไว้ไม่
ระบบและกระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของสังคมไทยจึงถูกคุมสภาพไว้ด้วยบุคคลเพียงไม่กี่คนที่เป็นเจ้าของพรรคการเมืองหรือเป็นผู้มีอิทธิพลภายในพรรค พรรคการเมืองจึงกลายเป็นองค์การที่ไร้ความเป็นประชาธิปไตยทั้งในเชิงเป้าหมายและกระบวนการดำเนินงาน สิ่งที่น่าหัวเราะแต่หัวเราะไม่ออกคือ พรรคการเมืองเหล่านั้นประกาศว่าเป็นองค์การสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทำหน้าที่ในการรักษาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย
มันจะเป็นได้อย่างไรในเมื่อการบริหารและการตัดสินใจเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบาย เรื่องการคัดเลือกผู้ลงสมัครในนามพรรค เรื่องการคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งบริหารประเทศในกรณีที่ได้เป็นรัฐบาล ถูกกำหนดจากกลุ่มคนแค่หยิบมือหนึ่งที่เป็นผู้นำของพรรคหรือเจ้าของพรรค รูปแบบนี้แท้จริงแล้วคือเผด็จการดีๆ นี่เอง
จะให้พรรคการเมืองที่มีการบริหารจัดการแบบเผด็จการ ทำหน้าที่ในการรักษาและสร้างสรรค์ประชาธิปไตย น่าหัวเราะหรือไม่ละ
เขียนอย่างนี้คนที่บูชาพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเถียงได้ ว่าพรรคของเขาเป็นประชาธิปไตยไม่มีใครเป็นเจ้าของ ก็จริง ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ปรากฏเจ้าของพรรคที่เด่นชัดเหมือนพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็มีกลุ่มบุคคลที่เป็นชนชั้นนำของพรรคผู้ซึ่งมีอิทธิพลและคุมสภาพภายในพรรคไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเช่นกัน
การเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบเขตพื้นที่และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์มิได้มาจากกระบวนการ “จากล่างขึ้นบน” หรือ จากการที่สมาชิกพรรคเสนอและรับรองขึ้นมา แต่มาจากการตกลงกันของกลุ่มผู้นำพรรคทั้งนั้น หรือ “แบบสั่งการจากบนลงล่าง” ดังเช่นการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2550 ว่าที่ผู้สมัครพรรคคนหนึ่งในกรุงเทพมหานครดำเนินการสร้างฐานเสียงไว้ในเขตเลือกตั้งหนึ่งจนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้น แต่ปรากฎว่ากลับถูกกำหนดให้ไปลงสมัครรับเลือกตั้งในอีกเขตหนึ่งซึ่งไม่เขาไม่เคยไปลงพื้นที่เลย ท้ายที่สุดว่าที่ผู้สมัครคนนี้ต้องลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในสภาพที่น้ำตานองหน้า การกระทำเช่นนี้ของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ คงจะเรียกไม่ได้ว่าเป็นวิถีประชาธิปไตยหรอกนะ
เมื่อมาถึงจุดนี้ ณ เวลา นี้ เราก็ได้กระจ่างแล้วแล้วระบบการเลือกตั้งทั้งแบบเขตพื้นที่ และแบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งลักษณะที่เป็นเผด็จการของพรรคการเมือง ต่างก็ผลิตนักการเมืองที่ฉ้อฉล ไร้ประสิทธิภาพในการบริหาร ไร้สัจจะและคุณธรรม ซึ่งเป็นการกัดกร่อนบ่อนทำลายแก่นสารจิตวิญญาณของประชาธิปไตยจนแทบมิหลงเหลืออยู่เลย
คำถามคือแล้วประชาชนจะทำอย่างไร ผมคิดว่าพวกเราประชาชนทั้งมวล ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือปฏิบัติการทางการเมืองอย่างนิ่มๆในเวทีเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เพื่อสั่งสอนนักการเมืองให้สำเนียกว่า บ้านเมืองนี้มิใช่สิ่งที่พวกเขาจะมาปู้ยี่ปูยำได้อีกต่อไป
ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และกากบาทในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เถอะครับ เพื่อสร้างและจุดประกายให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ สร้างประชาธิปไตยที่มีแก่นสารและจิตวิญญาณที่แท้จริง และสร้างตัวตนใหม่ของการเมืองไทยให้พ้นจากภาวะการล้มละลายนี้ให้ได้