xs
xsm
sm
md
lg

ระบอบสัมปทานธิปไตย VS ระบอบประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปัญญาพลวัตร”
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ระบอบสัมปทานธิปไตย คือ ระบอบการปกครองที่มีผู้บริหารประเทศมาจากการได้รับสัมปทานอำนาจจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจโดยการประมูล และเมื่อได้อำนาจมาผู้รับสัมปทานก็จะใช้อำนาจในการแสวงหาประโยชน์สร้างความมั่งคั่งให้กับตนเองอย่างต่อเนื่อง

ในระบอบสัมปทานธิปไตย ผู้ประสงค์ที่จะประมูลอำนาจ จะดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อจะได้มีโอกาสเข้ารับการเข้าประมูลอำนาจตามเงื่อนไขของระบอบนี้ พรรคการเมืองในระบอบสัมปทานธิปไตย จะแตกต่างจากพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

กล่าวคือ ขณะที่ลักษณะการจัดตั้งและการบริหารของพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการรวมตัวของพลเมืองที่มีผลประโยชน์และอุดมการณ์การร่วมกัน สมาชิกพรรคเป็นผู้เลือกว่าใครควรเป็นผู้บริหารพรรค และสมาชิกพรรคมีส่วนร่วมสูงในการตัดสินใจด้านนโยบาย การคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้งและการปฏิบัติการทางการเมืองอื่นๆ ของพรรค

ส่วนการจัดตั้งและการบริหารของพรรคการเมืองในระบอบสัมปทานธิปไตยนั้น มาจากการริเริ่มของกลุ่มทุน ผู้ประสงค์ที่จะได้รับสัมปทานอำนาจ ในบางพรรคอาจมีนายทุนเพียงคนเดียวที่เป็นผู้ลงทุนจัดตั้งพรรคทั้งหมด บางพรรคอาจมีการระดมทุนจากนายทุนหลายคนร่วมกันในการจัดตั้งพรรค นายทุนหรือคณะนายทุนเจ้าของพรรคจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้บริหารพรรค ใครจะได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนสมาชิกพรรคนั้นหาได้มีความหมายและมีความสำคัญใดๆ เป็นเพียงองค์ประกอบที่จำเป็นต้องมีตามข้อบัญญัติของกฎหมายเท่านั้น

นโยบายของพรรคการเมืองในระบอบสัมปทานธิปไตยมาจากการกำหนดของกลุ่มนายทุนเจ้าของพรรค สมาชิกพรรคมิได้มีโอกาสในการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายแต่อย่างใด ปัจจัยหลักที่กำหนดว่านโยบายของพรรคการเมืองในระบอบสัมปทานธิปไตยจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์และประเมินของกลุ่มนายทุนเจ้าของพรรคว่านโยบายนั้นจะสร้างคะแนนนิยมต่อพรรคได้มากน้อยเพียงใด หากประเมินว่านโยบายนั้นสร้างคะแนนนิยมได้มาก ก็จะได้รับการคัดเลือกและหยิบยกขึ้นมาเป็นนโยบายหลักในการหาเสียง โดยไม่คำนึงว่านโยบายดังกล่าวมีความสมเหตุสมผล มีความสามารถในการแก้ปัญหาของประเทศได้หรือไม่ มีความเป็นไปได้ในการปฏิบัติหรือไม่ และสร้างความเสียหายแก่ประชาชนและประเทศในระยะยาวหรือไม่

เมื่อจัดตั้งพรรคการเมืองเรียบร้อยแล้วและจะต้องเข้าสู่การเลือกตั้ง พรรคการเมืองในระบอบสัมปทานธิปไตยก็จะจัดหานายหน้าทางการเมืองที่มีความสามารถในการจัดซื้ออำนาจจากประชาชน นายหน้าทางการเมืองคนใดมีประสบการณ์ในการจัดซื้อเสียงจากประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับสัมปทานอำนาจจากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งบ่อยๆ ก็จะเป็นที่ต้องการสูง

การประมูลดึงตัวนายหน้าทางการเมืองมาสังกัดพรรคของตนจึงเป็นกิจกรรมหลักอีกประการหนึ่งที่พรรคการเมืองในระบอบสัมปทานธิปไตยจักกระทำจนเป็นแบบแผนปกติซึ่งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอยามที่มีการเลือกตั้ง ค่าตัวในการประมูลอาจจะเริ่มตั้งแต่ 5 ล้านบาทจนไปถึง 40 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงและประสบการณ์ของนายหน้าผู้นั้น

สำหรับการเลือกตั้งในระบอบสัมปทานธิปไตยก็แตกต่างจากระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง ขณะที่การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยประชาชนจะตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ตนผูกพันอยู่กับพรรคนั้น สถานภาพทางชนชั้นหรือชนชาติที่เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองนั้น และนโยบายของพรรคที่มีลักษณะตอบสนองความต้องการของกลุ่มในภาพรวม หรือสร้างประโยชน์และความมั่นคงแก่ประเทศชาติ

แต่ในระบอบสัมปทานธิปไตยนั้น ผู้เลือกตั้งจะตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองหรือนายหน้าทางการเมืองคนใดขึ้นอยู่ความความผูกพันธ์ส่วนตัวในเชิงอุปถัมภ์ การได้รับเงินซื้อเสียง นโยบายประชานิยมที่โดนใจหรือสามารถตอบสนองผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง และความลุ่มหลงในภาพลักษณ์เชิงมายาการที่นายทุนเจ้าของพรรคและนายหน้าทางการเมืองสร้างขึ้นมา และสอดคล้องกับจริตและลักษณะทางจิตของผู้เลือกตั้ง

การเลือกตั้งในระบอบสัมปทานธิปไตยจึงเป็นการเลือกตั้งที่ผู้เลือกมิได้เลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมืองอย่างเป็นอิสระ แต่เลือกภายใต้อามิสสินจ้างและอารมณ์ความรู้สึกแบบใดแบบหนึ่ง เช่น เลือกเพราะถูกครอบงำด้วยความหลงงมงาย เลือกเพราะถูกครอบงำด้วยอารมณ์กลัวพรรคที่ตนเองเกลียดจะได้เป็นรัฐบาล เลือกเพราะอารมณ์สนุกสนานด้วยความสะใจ และเลือกเพราะอารมณ์เบื่อหน่าย และเลือกเพราะอารมณ์โลภ

ด้านนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองและนักการเมืองในระบอบสัมปทานธิปไตย คือการแข่งขันกันเสนอราคาต่อผู้เลือกตั้ง พรรคการเมืองใดสามารถเสนอราคาประมูลได้สูงกว่าและมีกลไกในการเสนอเข้าถึงผู้เลือกตั้งได้มากกว่าก็จะมีโอกาสได้รับชัยชนะ ควบคู่กันไปคือการหาเสียงเชิงการละคร พรรคการเมืองใดเขียนบทละครได้ดีกว่า มีผู้แสดงที่สามารถดึงดูดใจมากกว่า แสดงบทบาทเด่นในความเป็นพระเอกนางเอก และสร้างอารมณ์สะเทือนใจหรือความชมชอบมากกว่า ก็จะมีโอกาสได้รับสัมปทานอำนาจจากผู้เลือกตั้งสูงกว่า

ในการสืบทอดอำนาจ กรณีระบอบประชาธิปไตย สมาชิกของพรรคการเมืองจะเป็นผู้กำหนดว่าใครจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นๆ ส่วนระบบสัมปทานธิปไตยการสืบทอดอำนาจจะทำโดยการสืบสายเลือดในกลุ่มเครือญาติ เช่น นายหน้าการเมืองในเขตเลือกตั้งหนึ่ง หากจำเป็นต้องวางมือการวงจรการประมูลอำนาจ ก็จะให้บุตรหรือฐาติพี่น้องของตนเองเป็นผู้เข้าไปประมูลสืบต่อกันไป

การทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในระบอบประชาธิปไตยกับระบอบสัมปทานธิปไตยก็มีความแตกต่างกัน กล่าวคือในระบอบประชาธิปไตย ส.ส.จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างเป็นอิสระ การตัดสินใจสนับสนุนหรือคัดค้านกฎหมายใดขึ้นอยู่กับจุดยืนทางการเมือง การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม และการใช้เหตุผลเชิงตรรกะที่มีข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจนั้นๆ โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้การบงการหรือชี้นำของกรรมการบริหารพรรคการเมือง

ด้านระบอบสัมปทานธิปไตย การตัดสินใจของนายหน้าทางการเมืองเมื่อเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ขึ้นอยู่กับคำสั่งของนายทุนของพรรคนั้นๆ ไม่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจแต่อย่างใด ไม่ว่านายทุนของพรรคต้องการอะไร นายหน้าทางการเมืองก็จะปฏิบัติตามนั้น โดยไม่สนใจว่าผลของการตัดสินใจนั้นจะสร้างประโยชน์หรือความเสียหายแก่ประเทศหรือไม่ หากนายหน้าทางการเมืองคนใดมีการตัดสินใจที่แหกคอกจากแนวทางของพรรค ก็จะถูกลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การถูกขับไล่ออกจากพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่

ดังนั้นหน้าที่หลักของนายหน้าทางการเมืองผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.คือ การยกมือสนับสนุนในสิ่งที่นายทุนของพรรคต้องการ และเมื่อพวกเขาปฏิบัติในแนวทางนี้ นายหน้าทางการเมืองก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินจากนายทุนพรรคซึ่งมีการจ่ายเป็นรายเดือน รวมทั้งได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อนำไปเป็นทุนในการประมูลอำนาจสำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไป

นายทุนพรรคและนายหน้าทางการเมืองส่วนหนึ่งจะได้รับการเลือกไปเป็นรัฐบาล การจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาลก็ทำโดยการประมูล นายทุนและนายหน้าการเมืองคนใดเสนอราคาประมูลสูงก็จะได้รับตำแหน่งสำคัญ ส่วนใครเสนอราคาประมูลต่ำก็อาจไม่ได้รับตำแหน่งหรืออาจได้แต่เป็นตำแหน่งที่ไม่สำคัญ

การบริหารประเทศภายใต้ระบอบสัมปทานธิปไตย มีการบ่อนทำลายศักยภาพของรัฐบาลในการดำเนินพันธกิจด้านคุณธรรมอย่างเป็นระบบจากภายในตัวรัฐบาลเอง เพราะนายทุนและนายหน้าทางการเมืองได้กำหนดนโยบายและแนวทางการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อสนับสนุนบริษัทเอกชนที่เป็นของตนเองพวกพ้อง และสนับสนุนเครือข่ายหัวคะแนนในเขตพื้นที่เลือกตั้ง

วิธีการหนึ่งที่นายทุนและนายหน้าทางการเมืองทำคือ การเสนอโครงการต่างๆในราคาแพงเกินจริงโดยบวกราคาเข้าไปมากกว่าหนึ่งหรือสองเท่าของราคาตลาด จากนั้นนายทุนและนายหน้าทางการเมืองจะรับเงินส่วนต่างเหล่านี้ไป เช่น โครงการหนึ่งมีมูลค่าแท้จริงสองพันล้านบาท แต่นายทุนและนายหน้าทางการเมืองจะบวกเพิ่มเข้าไปจนเป็นสี่พันหรือห้าพันล้านบาทเป็นต้น

ระบอบสัมปทานธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ไม่เพียงแต่ขัดขวางพันธกิจของรัฐบาลในการปกป้องคุมครอง เสริมสร้างอำนาจแก่พลเมือง และการสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ แต่เป็นระบอบที่บ่อนทำลายและคุกคามระบอบประชาธิปไตยและคุณธรรมของสังคมอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตามระบอบนี้เป็นระบอบที่มีประสิทธิภาพสูงในการสร้างมายาภาพให้ผู้คนจำนวนมากหลงผิด มีนักวิชาการทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์หลายคนที่อ้างตนเองว่าปราดเปรื่อง และพลเมืองธรรมดาสามัญทั่วไปจำนวนมาก หลงเข้าใจผิดคิดว่าระบอบสัมปทานธิปไตยคือระบอบประชาธิปไตย ทำให้พวกเขาสนับสนุน เป็นกระบอกเสียง และเป็นฐานในการสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบสัมปทานธิปไตย โดยที่พวกเขาอาจรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การกระทำเช่นนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญของกระบวนการกัดเซาะและทำลายระบอบประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องยาวนานในสังคมไทย

การหยุดยั้งและการขจัดระบอบสัมปทานธิปไตยอาจต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องปรับเปลี่ยนทั้งกระบวนทัศน์ความคิด ความเชื่อของผู้คน และปรับเปลี่ยนระบบโครงสร้างทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาของอำนาจ การบริหารอำนาจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจ

กระนั้นก็ตามในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่พลเมืองไทย จะต้องร่วมกันขัดขวางและหยุดยั้งระบอบสัมปทานธิปไตย ด้วยการไปเลือกตั้งและกาในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน เพื่อหยุดยั้งความชอบธรรมของนายทุนและนายหน้าทางการเมืองในการบริหารประเทศ และสร้างพลังอำนาจแก่ประชาชนในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองอย่างเข้มข้นและรอบด้านเพื่อขจัดระบอบสัมปทานธิปไตยให้หมดไปอย่างถาวร
กำลังโหลดความคิดเห็น