xs
xsm
sm
md
lg

REAL ESTATE jssue:จดหรือไม่จดทะเบียนตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร”(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ต่อเนื่องฉบับวันศุกร์ที่ 6 พ.ค.)

1. ในส่วนของผู้จัดสรรที่ดิน

ผู้จัดสรรที่ดินหรือเจ้าของโครงการ “ไม่ประสงค์แบกรับค่าบำรุงบริการสาธารณะ” อาทิ ค่าบริการรักษาความปลอดภัย ความสะอาด ค่าไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น แทนผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอีกต่อไปเนื่องจากจำนวนที่ดินแปลงย่อยมีการขายกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจำนวนน้อย หรือเมื่อผู้จัดสรรที่ดินส่งใบแจ้งเรียกเก็บ “ค่าบำรุงบริการสาธารณะ” กับผู้ซื้อที่ดินจัดสรร “ในรอบถัดไป” แต่ได้รับการปฎิเสธการชำระ เนื่องจากการขาดประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณะและมีความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรร

2. ในส่วนของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร

ปัญหาและอุปสรรคที่พบเห็นบ่อยครั้ง ได้แก่ การขาดความใส่ใจและความรับผิดชอบในการรวมตัว เพื่อขอมติที่ประชุมจดทะเบียนจัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” หรือการไม่ยอมรับ “ตัวเลขค่าใช้จ่าย” การบริการสาธารณะซึ่ง “ขาดทุน” โดยผู้จัดสรรที่ดินผลักภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดชอบหรือการหักกลบลบหนี้ค่าค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภค (จำนวน 7 %)กับค่าใช้จ่ายบำรุงบริการสาธารณะของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในส่วนซึ่ง “ขาดทุน”

หรือผู้จัดสรรที่ดินไม่ใส่ใจหรือขาดความรับผิดชอบในการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาสาธารณูปโภคที่ชำรุด ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยปล่อยให้เป็นภาระของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรต้องควักกระเป๋าของตนมาซ่อมแซมบำรุงรักษาสาธารณูปโภคโครงการในอนาคต

ทัศนะส่วนบุคคล ผมมีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะให้ผู้จัดสรรที่ดิน ซึ่งมีความประสงค์จะโอนหน้าที่การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรจดทะเบียนจัดตั้ง “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร” ในขณะที่สภาวะการซื้อ-ขายที่ดินจัดสรร (สิ่งปลูกสร้าง) ไม่เอื้ออำนวยและไม่เป็นไปตามเป้าหมายต่อผู้จัดสรรที่ดิน ควรยึดหลักการดำเนินการในเบื้องต้น ได้แก่

1. แปลงที่ดินจัดสรร (สิ่งปลูกสร้าง) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมขายพร้อมโอนแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร ควรมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าบำรุงบริการสาธารณะเฉกเช่นเดียวกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรซึ่งจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์จากผู้จัดสรรที่ดินแล้ว

2. ค่าใช้จ่ายบำรุงบริการสาธารณะ “ส่วนซึ่งขาดทุน” จากการให้บริการแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร อาทิ ค่าบริการรักษาความปลอดภัย ความสะอาด ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น เห็นควรให้ผู้จัดสรรที่ดินรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนซึ่งขาดทุนแทนผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งหมด “ไม่ควรผลักภาระให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร”

3. ค่าค้ำประกันการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินจะต้องส่งมอบให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในคราวจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะตามแผนผังโครงการกับพนักงานเจ้าหน้าที่ “กรมที่ดิน” เห็นควรส่งมอบให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรร “เต็มจำนวน” ไม่ควร “หักกลบลบหนี้” กับค่าใช้จ่ายบำรุงบริการสาธารณะของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร “ส่วนซึ่งขาดทุน”

สำหรับความคิดเห็นของผมที่มีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร เมื่อผู้จัดสรรที่ดินดำเนินการตามข้อเสนอแนะข้างต้นแล้ว เห็นควรให้ท่านไปดำเนินการจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงอันเป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะตามแผนผังโครงการจากผู้จัดสรรที่ดินโดยเร็ว อย่าไปตั้งเงื่อนไขอื่นใดเพื่อปฎิเสธการจดทะเบียนรับโอนที่ดินแปลงอันเป็นสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะอีกต่อไป

นายพิสิฐ ชูประสิทธิ์
นายกสมาคมนักบริหารอาคารชุดและหมู่บ้านจัดสรร
E-mail Add. : pisit_c@bgathaigroup.com
กำลังโหลดความคิดเห็น