ASTVผู้จัดการรายวัน - ถกทวิภาคีแก้ปัญหาพื้นที่ 4.6 ตร.กม.“ไทย-เขมร”บนเวทีอาเซียนล่มไม่เป็นท่า! “ฮุน เซน”ยังหยาม! ไม่ถอนทหาร ไม่ถกทวิภาคอีกต่อไป “มาร์ค” ลั่น ยอมไม่ได้ ยืนยัน หากเขมรไม่ยอมถอนทหาร ก็จะไม่มีการเจรจาเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่พิพาท ฉะ “กษิต-กต.” ปล่อยไก่ ตั้งทนายชาวฝรั่งเศสทั้งที่เป็นคู่กรณีกับไทยไม่พอ ยังแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบชาวฝรั่งเศส ทั้งที่เป็นข้อห้ามตามข้อบังคับและธรรมนูญศาลโลก
วานนี้(8พ.ค.) เมื่อเวลา 08.00 น. ที่ประเทศอินโดนีเซีย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้พบกับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาแล้ว โดยมีพล.อ.สุสิโล บัมบัง ยูโดโยโน ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นผู้ประสานงานให้ ในฐานะเป็นครอบครัวเดียวกัน ทั้งนี้มี นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงการต่างประเทศ และนายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เข้าหารือด้วย
ทั้งนี้ ก่อนการหารือกันหนึ่งวัน นายฮุนเซน กล่าวว่า ตนจะตอบสนองในด้านบวกต่อแนวคิดริเริ่มใดๆ ของอินโดนีเซีย ซึ่งช่วยวิ่งเต้นอย่างแข็งขันอยู่แล้ว แต่ที่ไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จ เพราะอีกฝ่าย (ไทย) ไม่ต้องการเช่นนั้น
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีเจตนาร้ายต่อกัมพูชา พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า กรณีพิพาทจะได้รับการแก้ไขแบบทวิภาคี และไม่เป็นความจริงที่ว่ากระบวนการเจรจาแบบทวิภาคีไม่ได้ผล
2 ผู้นำพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ
นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมอาเซียนได้เริ่ม เมื่อเวลา 09.00 น. ในการเจอกันนั้นเป็นการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ ที่ทางประธานาธิบดีอินโดเป็นผู้ประสานงาน แนวทาง เดินหน้าต่ออยากให้ กัมพูชา แก้ไขปัญหา GBC การยุติการใช้กำลังในพื้นที่ เด็ดขาด บรรยากาศ เพื่อนสมาชิกอาเซียน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ควรพูดกันนอกครอบครัว ที่เรียกว่า อาเซียน ประเทศต่างๆในอาเซียนเห็นตรงกันไม่อยากให้ความขัดแย้ง2ประเทศขยายออกไปนอกอาเซียนทำให้กัมพูชาเริ่มเสียงอ่อนลง
ฮุนเซนหยามไทย “ไม่ถอนทหาร”
ต่อมาเวลา 12.30 น.นายฮุน เซน แถลงข่าวภายหลังหารือว่า ทุกคนรู้ดีว่าปัญหาการปะทะ บริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทย ทำลายบรรยากาศการประชุมอาเซียนครั้งนี้ และเรื่องนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียน ในปี 2558
นายฮุน เซน กล่าวว่า การที่นายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา รับร่างข้อตกลง ให้อินโดนีเซียส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปในชายแดน บริเวณที่มีการสู้รบที่ผ่านมา เป็นการแสดงความเคารพต่ออินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ย แม้ทางการไทยยอมรับร่างข้อตกลงเรื่องนี้ แต่กลับมีเงื่อนไขให้กัมพูชา ต้องถอนทหารออกไปก่อนซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะทหารกัมพูชาอยู่ในเขตแดนกัมพูชา จึงเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลที่จะให้กัมพูชาถอนทหารออกไปจากดินแดนของตัวเอง
เรื่องที่จะให้กัมพูชาจัดการประชุม คณะกรรมการชายแดนทั่วไป หรือ GBC ซึ่งเป็นเวทีประชุมของทหารในเดือนหน้านั้น ฝ่ายไทยจะต้องส่งหนังสือตอบรับเรื่องการส่งผู้สังเกตการณ์ เข้าไปในบริเวณชายแดนอย่างเป็นทางการก่อน แต่ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยยืนยันจะส่งหนังสือตอบรับ เรื่องผู้สังเกตการณ์ ก็ต่อเมื่อกัมพูชาถอนทหารออกไปก่อน
อย่างไรก็ตาม นายฮุนเซน บอกว่า รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาและไทย จะอยู่หารือร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย อีกหนึ่งวัน
มาร์คให้“กษิต-ฮอ นัมฮง” ถกต่อ
เวลา 15.15 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แถลงถึงภาพรวมการหารือร่วมกับผู้นำไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย เกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า ที่ประชุมมีความเห็นที่แตกต่าง แต่เห็นควรว่าให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และ นายฮอ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชา หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขเรื่องนี้ในวันนี้ (9 พ.ค.) เพราะจุดยืนของไทยยืนยันว่า เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของข้อตกลงตามที่ผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซียลงพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร แต่ทางกัมพูชาควรจะถอนทหารออกจากพื้นที่ก่อน
ส่วนกรณีที่สมเด็จฯฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยืนยันได้ถอนทหารออกจากพื้นที่นั้น คงต้องพยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
เขมรไม่ถอนทหารไม่มีเจรจาส่งผู้สังเกตการณ์
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะทางอินโดนีเซีย นำเรื่องของพิพาทไปพูดในที่ประชุมอาเซียน ซึ่งอาเซียนเองก็กังวลใจในเรื่องดังกล่าว ทางอินโดนีเซีย จึงประสานให้มีการพูดคุยกัน แต่อย่างไรก็ตามข้อสรุปโดยเฉพาะเรื่องประเด็นการส่งผู้สังเกตการณ์ ลงพื้นที่นั้น ทางกัมพูชาขอให้ไทยลงนามในข้อตกลงแต่ไม่ยอมถอนทหาร ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องมีการเจรจาอีกครั้งหนึ่ง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ของสองประเทศ ซึ่งทางการไทยคงยอมไม่ได้ ส่วนกัมพูชา ยืนยัน จะไม่ถอนทหารนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดการเจรจา ถึงแม้ว่าไทยจะพร้อมในเรื่องของการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาด้วยสันติก็ตาม
ซึ่งในเรื่องนี้ ทางประธานอาเซียน ก็เป็นห่วงในบทบาทดังกล่าวของทั้งไทยและกัมพูชา ทั้งๆที่ ไทย นั้น พร้อมที่จะเปิดการเจรจาแต่ทางกัมพูชา กลับพยายามที่จะนำเรื่องดังกล่าว ขึ้นสู่เวทีสากล
โฆษก ปชป. ชี้ เขมรหมดหวังดันเรื่องเข้ายูเอ็น
น.พ.บุรณัชย์ สมุทรรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศอินโดนีเซีย ว่าเป็นการสื่อสารให้สังคมโลกรับทราบปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา หลังสมเด็จ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวโจมตีไทยก่อน โดยไม่ได้มีการบรรจุวาระไว้ล่วงหน้า ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดความน่าเชื่อถือของกัมพูชาลงได้ อีกทั้งมีผลให้ประชาคมอาเซียนสามารถกดดันกัมพูชา ให้เข้าสู่ทวิภาคี ตามเอ็มโอยู 2543 ที่ก่อนหน้านี้ กัมพูชาปฏิเสธแนวทางดังกล่าวมาโดยตลอด
ทั้งนี้ เชื่อว่าจะทำให้กัมพูชาดึงเรื่องสู่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอน)ไม่สำเร็จ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สามารถแสดงบทบาทให้ประชาคมโลกยอมรับ ทำให้ไทยได้รับรับความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว จะแถลงผลการประชุม และแถลงภาพรวมสถานการณ์ต่างๆ และขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้ประเทศเดินหน้า กำหนดทิศทางด้วยการเลือกตั้ง เพื่อกำหนดทิศทางประเทศไทย ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง และนโยบายเสร็จสมบูรณ์แล้ว
อัด“กษิต-”ตั้งผู้พิพากษาสมทบฝรั่งเศสสู้คดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ซึ่งจัดทำโดยนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่จับตาดูสถานการณ์ กรณีปราสาทพระวิหารและสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ “ไก่ตัวเท่าควายของนายกษิตและกระทรวงต่างประเทศ” ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนำโดย นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้แต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบที่เป็นชาวฝรั่งเศส หลังทางการกัมพูชานำข้อพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง
ในบทความนี้ได้กล่าวถึงการนำข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชาไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง ตามจดหมายข่าวอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ศาลโลก เลขที่ 2011/14 วันที่ 2 พฤษภาคม 2011 ที่ระบุว่า ราชอาณาจักรกัมพูชายื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 ขอให้ตีความคำตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 ของศาลโลก กรณีปราสาทพระวิหาร พร้อมขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว
ทั้งนี้ กรณียื่นคำร้องของกัมพูชาคราวนี้ เป็นการเปิดคดีใหม่ และขอให้ศาลดำเนินการภายในคดีใหม่ ไม่ใช่การฟ้องให้ปรับปรุงแก้ไขคำพิพากษาเดิมที่ต้องกระทำภายใน 10 ปี และการเปิดคดีใหม่นี้ เขมรอ้างถึงข้อ 60 และ 98 ของธรรมนูญศาลฯ ที่พูดถึงการตีความคำตัดสินเดิม (construe) เป็นการเล่นในสองทาง คือ ฟ้องเป็นคดีใหม่และให้ตีความคำตัดสินคดีเดิม
อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวอยู่นอกเหนือเงื่อนไขที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ที่กำหนดให้กระทำได้ภายใน 10 ปี การเปิดคดีใหม่ดังกล่าวเป็นการขยายขอบเขตจากคำฟ้องและคำตัดสินเดิม และอีกประการหนึ่ง ประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะที่ต้องขึ้นศาลฯ และไม่อยู่ใต้บังคับศาลฯ เนื่องจากไม่ได้มีปฏิญญาประกาศรับอำนาจพิจารณามาร่วม 50 ปี นับแต่การสิ้นอายุคำรับอำนาจฯ ของนายวรการบัญชา รัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ในบทความดังกล่าวระบุถึงความเห็นของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล เห็นว่า ประเทศไทยต้องไม่ละเลย และชอบที่จะดำเนินการคัดค้านอำนาจศาลในชั้นต้นของกระบวนการ คือ ในภาคคำคู่ความเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องยืนยันสถานะตนอย่างเข็มแข็งและปฏิเสธอำนาจการพิจารณาของศาลฯ พร้อมทั้งไม่ควรไปต่อสู้ในชั้นเนื้อหา หากว่าศาลฯ ดึงดันจะดำเนินการต่อ ไทยก็ชอบที่จะถอนตัว ไม่ร่วมกระบวนการและไม่รับผลการพิจารณา
แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลไทยกำลังถลำไปลึก เตรียมการสู้คดีในชั้นเนื้อหา ซึ่งการที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งทนายชาวฝรั่งเศสว่าความในคดีนี้ เป็นเรื่องที่ถูกตำหนิอย่างกว้างขวาง ว่า กระทำในสิ่งที่ไม่ควร เพราะฝรั่งเศสถือเป็นคู่กรณีโดยตรงของไทยในเรื่องปราสาทพระวิหาร และท่าทีของราชการฝรั่งเศสหลายต่อหลายครั้งระหว่างเหตุพิพาทไทย-กัมพูชา ล่าสุดนั้น ฝรั่งเศสได้แสดงท่าทียื่นมือให้ความช่วยเหลือ อาทิเช่น การจะให้ใช้แผนที่ที่ฝรั่งเศส ระบุว่า มีอย่างชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาพิพาท และมีท่วงท่าที่เอนเอียงอยู่ข้างกัมพูชา
นอกจากนี้ การที่กระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบ (Judge ad hoc) ที่เป็นชาวฝรั่งเศส ทั้งที่ศาลโลกมีผู้พิพากษาประจำสัญชาติฝรั่งเศสอยู่แล้ว โดยระเบียบข้อบังคับของศาล (Rule of Court) และธรรมนูญศาล ห้ามไม่ให้มีผู้พิพากษาสัญชาติเดียวกันเกินกว่า 1 คน ในคดีหนึ่งๆ จะกลายเป็นความไม่รู้เรื่องที่วงการกฎหมายระหว่างประเทศจะมองด้วยสายตาขบขัน ซึ่งจะเป็นบทเรียนสอนคนไทยซ้ำอีกครั้งว่า ความไม่รู้นำไปสู่ความเสียหายได้ทางหนึ่ง ความไม่รู้แล้วอวดดีอวดรู้ นำไปสู่ความเสียหายที่ยิ่งกว่า และจะกลายเป็นเรื่องเสียรู้ให้เขาหยันซ้ำได้อีก