xs
xsm
sm
md
lg

อัด “กษิต-กต.” ปล่อยไก่ซ้ำซาก ตั้งผู้พิพากษาสมทบฝรั่งเศสสู้คดีพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บทความ “ไก่ตัวเท่าควายของนายกษิตและกระทรวงต่างประเทศ” จากเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ
ฟิฟทีนมูฟ วิพากษ์คดีพระวิหารรีเทิร์นศาลโลก หลังเขมรชงให้ตีความคำตัดสินปี 2505 พร้อมขอมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ชี้ รัฐบาลประชาธิปัตย์ถลำไปลึก เตรียมต่อสู้ในชั้นเนื้อหา ทั้งที่ไทยมีสิทธิ์คัดค้านอำนาจศาลและถอนตัวได้ ฉะ “กษิต-กต.” ปล่อยไก่ ตั้งทนายชาวฝรั่งเศสทั้งที่เป็นคู่กรณีกับไทยไม่พอ ยังแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบชาวฝรั่งเศส ทั้งที่เป็นข้อห้ามตามข้อบังคับและธรรมนูญศาลโลก ชี้ ความไม่รู้แล้วอวดดีเสียหายแถมเสียรู้ยิ่งกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ่ายวันนี้ (8 พ.ค.) เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ซึ่งจัดทำโดยนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่จับตาดูสถานการณ์ กรณีปราสาทพระวิหารและสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ “ไก่ตัวเท่าควายของนายกษิตและกระทรวงต่างประเทศ” ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์กรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งนำโดย นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้แต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบที่เป็นชาวฝรั่งเศส หลังทางการกัมพูชานำข้อพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง

ในบทความนี้ได้กล่าวถึงการนำข้อพิพาทปราสาทพระวิหาร ระหว่างไทยกับกัมพูชาไปสู่ศาลโลกอีกครั้ง ตามจดหมายข่าวอย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ศาลโลก เลขที่ 2011/14 วันที่ 2 พฤษภาคม 2011 ที่ระบุว่า ราชอาณาจักรกัมพูชายื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554 ขอให้ตีความคำตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 ของศาลโลก กรณีปราสาทพระวิหาร พร้อมขอให้มีมาตรการคุ้มครองชั่วคราว

ทั้งนี้ กรณียื่นคำร้องของกัมพูชาคราวนี้ เป็นการเปิดคดีใหม่ และขอให้ศาลดำเนินการภายในคดีใหม่ ไม่ใช่การฟ้องให้ปรับปรุงแก้ไขคำพิพากษาเดิมที่ต้องกระทำภายใน 10 ปี และการเปิดคดีใหม่นี้ เขมรอ้างถึงข้อ 60 และ 98 ของธรรมนูญศาลฯ ที่พูดถึงการตีความคำตัดสินเดิม (construe) เป็นการเล่นในสองทาง คือ ฟ้องเป็นคดีใหม่และให้ตีความคำตัดสินคดีเดิม

อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวอยู่นอกเหนือเงื่อนไขที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นใหม่ที่กำหนดให้กระทำได้ภายใน 10 ปี การเปิดคดีใหม่ดังกล่าวเป็นการขยายขอบเขตจากคำฟ้องและคำตัดสินเดิม และอีกประการหนึ่ง ประเทศไทยไม่อยู่ในฐานะที่ต้องขึ้นศาลฯ และไม่อยู่ใต้บังคับศาลฯ เนื่องจากไม่ได้มีปฏิญญาประกาศรับอำนาจพิจารณามาร่วม 50 ปี นับแต่การสิ้นอายุคำรับอำนาจฯ ของนายวรการบัญชา รัฐมนตรีต่างประเทศในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ในบทความดังกล่าวระบุถึงความเห็นของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล เห็นว่า ประเทศไทยต้องไม่ละเลย และชอบที่จะดำเนินการคัดค้านอำนาจศาลในชั้นต้นของกระบวนการ คือ ในภาคคำคู่ความเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องยืนยันสถานะตนอย่างเข็มแข็งและปฏิเสธอำนาจการพิจารณาของศาลฯ พร้อมทั้งไม่ควรไปต่อสู้ในชั้นเนื้อหา หากว่าศาลฯ ดึงดันจะดำเนินการต่อ ไทยก็ชอบที่จะถอนตัว ไม่ร่วมกระบวนการและไม่รับผลการพิจารณา

แต่ในทางกลับกัน รัฐบาลไทยกำลังถลำไปลึก เตรียมการสู้คดีในชั้นเนื้อหา ซึ่งการที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ ตั้งทนายชาวฝรั่งเศสว่าความในคดีนี้ เป็นเรื่องที่ถูกตำหนิอย่างกว้างขวาง ว่า กระทำในสิ่งที่ไม่ควร เพราะฝรั่งเศสถือเป็นคู่กรณีโดยตรงของไทยในเรื่องปราสาทพระวิหาร และท่าทีของราชการฝรั่งเศสหลายต่อหลายครั้งระหว่างเหตุพิพาทไทย-กัมพูชา ล่าสุดนั้น ฝรั่งเศสได้แสดงท่าทียื่นมือให้ความช่วยเหลือ อาทิเช่น การจะให้ใช้แผนที่ที่ฝรั่งเศส ระบุว่า มีอย่างชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาพิพาท และมีท่วงท่าที่เอนเอียงอยู่ข้างกัมพูชา

นอกจากนี้ การที่กระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งผู้พิพากษาสมทบ (Judge ad hoc) ที่เป็นชาวฝรั่งเศส ทั้งที่ศาลโลกมีผู้พิพากษาประจำสัญชาติฝรั่งเศสอยู่แล้ว โดยระเบียบข้อบังคับของศาล (Rule of Court) และธรรมนูญศาล ห้ามไม่ให้มีผู้พิพากษาสัญชาติเดียวกันเกินกว่า 1 คน ในคดีหนึ่งๆ จะกลายเป็นความไม่รู้เรื่องที่วงการกฎหมายระหว่างประเทศจะมองด้วยสายตาขบขัน ซึ่งจะเป็นบทเรียนสอนคนไทยซ้ำอีกครั้งว่า ความไม่รู้นำไปสู่ความเสียหายได้ทางหนึ่ง ความไม่รู้แล้วอวดดีอวดรู้ นำไปสู่ความเสียหายที่ยิ่งกว่า และจะกลายเป็นเรื่องเสียรู้ให้เขาหยันซ้ำได้อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น