xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายไทยเอาใจเขมร ขึ้นป้ายยอมรับ 4.6 ตร.กม.ยังคลุมเครือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางการไทยได้ขึ้นป้ายบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร มีข้อความว่า “พื้นที่นี้เป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ (4.6 ตร.กม.) จะรู้แน่ชัดต่อเมื่อ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (JBC) ดำเนินการปักปันเสร็จเรียบร้อยแล้ว”
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เผย ฝ่ายไทยขึ้นป้ายยอมรับพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตร.กม. เป็น “พื้นที่อ้างสิทธิ” จะรู้แน่ชัดต้องรอ JBC ปักปันเขตแดนให้เสร็จ “ดร.สมปอง” ย้ำหนักแน่น “ใครเรียกเป็นพื้นที่พิพาท คนนั้นขายชาติ” เพราะการยอมรับเป็นพื้นที่พิพาท คือ ยอมสละสิทธิ์ของตนเองไปครึ่งหนึ่ง ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน

เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ทางการไทยได้ขึ้นป้ายบริเวณพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร มีข้อความว่า “พื้นที่นี้เป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ (4.6 ตร.กม.) จะรู้แน่ชัดต่อเมื่อ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (JBC) ดำเนินการปักปันเสร็จเรียบร้อยแล้ว” โดยเผยแพร่บทความเรื่อง “การทูตแบบขายชาติ-มาร์คขึ้นป้ายยก 4.6 ให้เขมรครึ่งหนึ่ง” ดังนี้...

“ฟิฟทีนมูฟ-สัมพันธภาพแบบ “รัก-ชัง” ระหว่างไทยกับเขมร ดำเนินต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ หากไม่ทอดไกลไปถึงประวัติศาสตร์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ แต่พิจารณาเฉพาะช่วง 50 ปีที่ผ่านมา นับแต่คดีปราสาทพระวิหาร กัมพูชาอยู่ในสถานะ “ลูกไล่” ของไทย อันเนื่องจากชั้นเชิงทางการทูตประการหนึ่ง แสนยานุภาพทางทหารอีกประการ และสำนึกความเป็นชาติของรัฐบาลไทยในสมัยนั้นๆ กอปรกับปัญหาสงครามภายในของกัมพูชาเอง ที่เขียนเช่นนี้มิได้จงใจดูถูกดูแคลนชนชาติกัมพูชา

ทว่า เพียงห้วงเวลา 10 ปี ที่กัมพูชาพอจะมีความเป็นปึกแผ่น เข้ารูปเข้ารอย กัมพูชาแปรสภาพความเป็น “ลูกไล่” สู่ความเป็นผู้ “รุกไล่” ประเทศไทยนับแต่อำนาจรัฐอยู่ในมือนักเลือกตั้งเต็มตัว นับแต่นโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้า พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร ที่เป็นของไทยโดยสมบูรณ์นับจากขอบผาสันปันน้ำเข้ามา แล้วเว้นพื้นที่ไม่กี่ไร่อันเป็นที่ตั้งของตัวปราสาท ล้อมรั้วให้เขมรปีนผาเข้ามาใช้ ให้สมใจ ตามข้อคดโกงของศาลโลก และถือเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนที่ไทยก็ยังแสดงความเป็นเจ้าของ ทว่า ในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรของไทยเองนี้ ไทยถอยร่นตัวเองลงมาเรื่อยๆ กระทั่งกัมพูชาสร้างวัดในปี พ.ศ. 2541 สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ มี นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ

รัฐบาลประชาธิปัตย์ไม่ได้รื้อถอนผลักดันทหาร วัด ร้านค้า ของชาวกัมพูชาออกไป แต่กลับทำความตกลงกับกัมพูชา ว่า “ก็อยู่อย่างนั้นกันไปก่อนจนกว่าจะตกลงพื้นที่กันเสร็จ” ใน MOU ปี 2543

10 ปีต่อมา จากรัฐบาลประชาธิปัตย์ถึงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (และนอมินี) แล้ววนรอบมารัฐบาลประชาธิปัตย์ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร กลายเป็น “พื้นที่พิพาท” ระหว่างไทยกับกัมพูชาตามความคิดของภาครัฐไทย ขณะที่กัมพูชาประกาศอย่างหนักแน่น และต่อเนื่องว่าเป็น “พื้นที่ของกัมพูชา” แต่ผู้เดียว ตามแผนที่ 1 : 200,000 และไทยคือศัตรูผู้รุกราน

นักการทูตอาวุโสหลายต่อหลายท่านได้เคยบอกกับฟิฟทีนมูฟ ว่า หลักการเจรจาทางการทูต คือ “สิ่งไหนเป็นของเรา..ต้องเป็นของเรา สิ่งไหนเป็นของเขา..มาคุยกัน” ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นคนที่ ดร.ถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเชื่อมือมากที่สุด ก็เน้นย้ำในทำนองเดียวกัน และที่เวทีเสวนาของวุฒิสภาเมื่อไม่กี่วันมานี้ ศ.ดร.สมปอง ย้ำหนักแน่นว่า “ใครเรียกเป็นพื้นที่พิพาท คนนั้นขายชาติ” รัฐบาลไทยในอดีตไม่เคยยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 แต่ยึดถือว่าจากสันปันน้ำเข้ามา คือ พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรและตัวปราสาทพระวิหารเป็นของไทย การยอมรับเป็นพื้นที่พิพาทคือการสละสิทธิ์ของตนเองไปครึ่งหนึ่ง เป็นเรื่องที่ประเทศไหนๆ ก็ไม่ทำกัน

กัมพูชาไม่ทำ ซ้ำประกาศทุกที่ทุกโอกาสว่า พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชา แต่รัฐบาลไทยทำ และเที่ยวไปโพนทะนาทั่วโลกโดยเฉพาะ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่าเป็นพื้นที่พิพาท อ้างสิทธิ์ทับซ้อน

ซ้ำร้าย หนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพของกัมพูชา วันที่ 31 มกราคม 2554 รายงานว่า รัฐบาลไทยขึ้นป้ายสีคล้ายสีธงชาติกัมพูชา เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 บริเวณพื้นที่ ๔.๖ ตารางกิโลเมตร มีข้อความเขียนเป็นภาษาไทยว่า “พื้นที่นี้เป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ (4.6 ตร.กม.) จะรู้แน่ชัดต่อเมื่อ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย-กัมพูชา (JBC) ดำเนินการปักปันเสร็จเรียบร้อยแล้ว”

รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เคย “รู้แน่ชัด” เลยว่าขอบเขตบ้านตัวเองอยู่ที่ไหน และยังจะต้องใช้ JBC “ปักปัน” เขตแดนซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อกว่า 103 ปีที่แล้ว และป้ายนี้เป็นการ “รับสารภาพ” ว่า MOU43 และ JBC มิใช่เป็นแต่เพียงการ “จัดทำหลักเขต” แต่ยังกินความถึงการ “ปักปันเขตแดน” อีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม ป้ายดังกล่าวเป็นป้ายที่ปักไว้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 ช่วงที่กัมพูชาขึ้นป้ายหิน เมื่อป้ายหินของกัมพูชาถูกทุบทำลายไป ป้ายนี้ก็ถูกถอนออกเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น