"ดร.สมปอง" ชี้จุดอันตราย MOU 2543 ใช้แผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นเอง ลากเส้นตามใจชอบ แนะรัฐบาลยกเลิก MOU ก่อนจะสายเกินไป เพราะไม่ได้ช่วยยับยั้งเขมรรุกล้ำดินแดน แต่กลายเป็นว่า MOU มีผลบังคับไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่เขมรสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบรวมทั้งละเมิด MOU ฉบับดังกล่าว
เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซตฺฟิฟทีนมูฟ เผยแพร่บทความโดย ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล เรื่อง “MOU อันตราย” ระบุว่า
1. จุดอันตรายของ MOU 2543 อยู่ที่ข้อ 1 วรรค 1 ค. :
แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 แสดงเส้นเขตแดนที่ ฝรั่งเศสฝ่ายเดียวเป็นผู้ลากเส้น ซึ่งผิดเพี้ยนจากอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญากับพิธีสาร ค.ศ. 1907 โดยเกินเลยรุกล้ำเข้ามาในผืนแผ่นดินไทยตลอดแนว คิดเป็นเนื้อที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,800,000 ไร่
2. จุดอันตรายของ MOU 2543 แอบแฝงอยู่ในแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในข้อ 1 วรรค 1 ค. ดังนี้
ก. แผนที่ผนวก 1 ไม่ใช่แผนที่อันเป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมฝรั่งเศส-ไทยอย่างแท้จริง เพราะฝรั่งเศสเป็นผู้จัดทำแผนที่ฉบับนี้แต่ฝ่ายเดียวโดยไทยไม่มีส่วนร่วม ทั้งนี้ เนื่องจากในขณะนั้นไทยยังไม่มีเจ้าหน้าที่ทางเทคนิคที่จะจัดทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์ ประมาณ 30 ปีหลังจากนั้นจึงได้มีการสถาปนากรมแผนที่ทหารบกที่เรียกว่า Royal Survey Department แห่งประเทศไทย
ข. แผนที่ผนวก 1 มิได้ลากเส้นเขตแดนตรงตามบทนิยามเขตแดนในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญากับพิธีสาร ค.ศ. 1907 แต่บิดเบือนและผิดเพี้ยนไปจากสันปันน้ำอันเป็นเส้นเขตแดนที่ตกลงร่วมกัน อนึ่ง ฝรั่งเศสได้จัดทำแผนที่ผนวก 1 ไว้ก่อนแล้วโดยผนวกดินแดนมณฑลบูรพาตามสนธิสัญญาและพิธีสาร ค.ศ. 1907 เป็นการกำหนดเขตแดนเพียงฝ่ายเดียวล่วงหน้าโดยรวมอาณาเขตเสียมราฐ พระตระบอง และศรีโสภณเป็นของฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่ยังมิได้มีการตกลงยินยอมจากประเทศไทยแต่ประการใด
ค. ไทยจึงไม่อาจยอมรับหรือแสดงท่าทีนิ่งเฉยต่อข้อสันนิษฐานเมื่อได้รับเอกสารรวมทั้งแผนที่ผนวก 1 จากกัมพูชาโดยมิได้โต้แย้งหรือชี้แจงข้อผิดพลาดหรือความคลาดเคลื่อนที่ปรากฏอย่างชัดเจนในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารโดยเฉพาะคำพิพากษาแย้งของ เซอร์ เพอร์ซี สเปนเดอร์ ผู้พิพากษาชาติออสเตรเลีย อนึ่ง ข้าพเจ้าขอชี้แจงซ้ำอีกครั้งว่า คำพิพากษาแย้งมิใช่เป็นเพียง ‘ความเห็น’ ซึ่งเป็นการตีความของกระทรวงการต่างประเทศไทยในปัจจุบัน แต่ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาแย้งคือส่วนหนึ่งของคำพิพากษา มีผลเทียบเท่าคำพิพากษาหลักหรือมากกว่าโดยเฉพาะในประเด็นที่ไม่มีการชี้ขาดในคำพิพากษาหลัก เช่น ความถูกต้องของเส้นเขตแดนในแผนที่ผนวก 1 ในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร
ง. เพราะฉะนั้น การรับแผนที่ฉบับนี้จากกัมพูชาภายหลัง พ.ศ. 2505 โดยมิได้ทำความเข้าใจให้ถูกต้องและชัดเจน ดังปรากฏใน MOU 2543 ข้อ 1 วรรค 1 ค. โดยมิได้ตั้งเงื่อนใขว่า “เท่าที่ไม่ขัดกับข้อบทแห่งอนุสัญญา ค.ศ. 1904 หรือสนธิสัญญาและพิธีสาร ค.ศ. 1907” จึงเสี่ยงต่อการสูญเสียโดยกัมพูชาจะอ้างได้ว่าไทยตกลงยอมรับเส้นเขตแดน (ที่ผิดพลาด) ตามที่ปรากฏบนแผนที่ 1:200,000 หรือแผนที่ผนวก 1 ต่อท้ายคำฟ้องของกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหาร
ทั้งนี้ ความเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศในระยะหลัง ซึ่งอ้างว่าแผนที่มีความสำคัญเหนือสนธิสัญญานั้น ตรงข้ามกับความเห็นของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยสิ้นเชิง
3. เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนเพิ่มเติมอันสืบเนื่องมาจากความเข้าใจผิดหรือสำคัญผิดทั้งในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนที่ตลอดจนข้อกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลไทยจะบอกเลิก MOU 2543 นี้ก่อนที่การสุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นความจริง และก่อนที่คนไทยจะเกิดความเข้าใจที่สับสนและผิดพลาดยิ่งขึ้นอันจะส่งผลให้ประเทศชาติต้องเสียประโยชน์โดยมิอาจแก้ใขได้ทันท่วงที
4. ในฐานะนักวิชาการผู้เห็นผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ข้าพเจ้าขอย้ำว่า MOU 2543 ไม่มีผลดีต่อประเทศไทยแต่ประการใด การที่ไทยยังเก็บรักษา MOU 2543 ไว้โดยอ้างว่าใช้ประโยชน์ในการปรามกัมพูชามิให้รุกล้ำผืนแผ่นดินไทยนั้น เหตุการณ์ที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่บังเกิดผลและไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะกัมพูชาก็ยังคงคุกคามและรุกรานบูรณภาพแห่งพื้นแผ่นดินราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่องโดยเพิกเฉยไม่นำพาต่อคำประท้วงหรือคำเตือนหลายครั้งหลายหนของรัฐบาลไทย ส่วนไทยกลับเป็นฝ่ายยอมล่าถอยเสมอมา แม้การกระทำของกัมพูชาจะผิดหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักปฏิบัติสากล แต่กัมพูชาก็ยังถือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องโดยที่ไทยไม่สามารถหยุดยั้งได้ จึงกลายเป็นว่า MOU ดังกล่าวมีผลบังคับไทยเพียงฝ่ายเดียว แต่ไม่กระทบกระเทือนกัมพูชาซึ่งสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจชอบรวมทั้งละเมิด MOU ฉบับดังกล่าว
5. สรุปได้ว่า MOU 2543 ซึ่งเริ่มจากเนื้อหาที่นำไปสู่การสูญเสียตามเหตุผลข้างต้นนั้น ไม่เอื้อประโยชน์อันใดแก่ประเทศไทย แต่กลับส่งผลอันเป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต ไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแจ้งยกเลิกเอกสารดังกล่าวอย่างเป็นทางการโดยด่วนที่สุด ทั้งนี้ การบอกเลิกย่อมเป็นสิทธิของประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเอกราช มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์เหนือแผ่นดินของตน
6. อนึ่ง แม้ว่าจะมี MOU 2543 หรือไม่ก็ตาม ไทยย่อมได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายระหว่างประเทศทั้งในด้านจารีตประเพณีและข้อบทแห่งอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาและพิธีสาร ค.ศ. 1907 รวมทั้งกฎบัตรสหประชาชาติอยู่แล้วโดยไม่ต้องอาศัย MOU 2543 ช่วยเพิ่มพูนความมั่นคงในบูรณภาพของพื้นแผ่นดินไทย
ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล
15 มกราคม 2554