xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.เร่งพัฒนาแบตเตอรี่แวนาเดียมฯ ตั้งเป้าผุดโครงการนำร่องไม่เกิน 1ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปตท.เผยความคืบหน้าการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟลรุดหน้ามาก เชื่อไม่เกิน 1ปีผุดโครงการนำร่องทำลองใช้ในศูนย์วิจัยฯปตท.ก่อน

นายไชยเจริญ อติแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยีปตท. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่ปตท.ได้ทำสัญญาบันทึกเอ็มโอยูกับบริษัท เซลเลนเนียม (ประเทศไทย) เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟล ซึ่งเป็นเป็นแบตเตอรี่ที่กักเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง รวมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บและจ่ายไฟฟ้าโครงการพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)ที่ได้จากลม และแสงอาทิตย์ ขณะนี้ได้มีความคืบหน้าในการพัฒนาไปมาก มั่นใจว่าไม่เกิน 1ปีจะทำโครงการนำร่องได้ โดยจะทดลองใช้ภายในศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีของปตท. หากประสบความสำเร็จด้วยดีก็จะเป็นการลงทุนในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ซึ่งข้อดีของแบตเตอรี่ดังกล่าวสามารถอัดประจุไฟฟ้าเข้าไปในแบตเตอรี่ได้ใหม่หลายครั้งอย่างรวดเร็ว ในปริมาณความจุที่ไม่จำกัดของแหล่งกักเก็บ เหมาะกับการนำไปประยุกต์ใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บและจ่ายไฟฟ้าได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมทั้งธุรกิจที่ต้องมีการใช้ไฟฟ้าเสถียร นับเป็นการก่อประโยชน์ในการพัฒนาพลังงานของประเทศด้วย

โดย แบตเตอร์รี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟลนั้นจะช่วยกักเก็บพลังงานได้นานกว่าแบตเตอรี่อื่นๆ ซึ่งขณะนี้หลายประเทศในโลกต่างเร่งวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดนี้ รวมทั้งเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่างจากแบตเตอรี่ที่ทำจากแคดเมี่ยมและตะกั่วซึ่งเป็นโลหะหนักที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์

บริษัท เซลเลนเนียม (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทฯที่ได้จดสิทธิบัติแบตเตอรี่แวนาเดียม รีด็อกซ์ โฟล(Vanadium Redox Flow Battery) ตั้งแต่ปี 2521

นายไชยเจริญ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้สถาบันวิจัยและเทคโนโลยีปตท.ได้รับงบประมาณจากปตท.เพื่อทำวิจัยประมาณ 3%ของกำไรสุทธิปตท. โดยเน้นการวิจัยเกี่ยวกับน้ำมัน น้ำมันหล่อลื่น และพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการนำสาหร่าย เศษอาหารและน้ำทิ้งมาหมักเปลี่ยนเป็นพลังงาน เป็นต้น

สิ่งที่น่ากังวลต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน หากสังคมไทยยังไม่ปลูกฝังการจัดเก็บและกำจัดแบตเตอรี่และถ่านไฟฉายที่ใช้แล้วให้ถูกวิธี ซึ่งหากมีการทิ้งถ่านไฟฉายและแบตเตอรี่ที่มีส่วนผสมของโลหะหนักอย่างตะกั่ว แคดเมี่ยมลงในดินและแหล่งน้ำสาธารณะจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพตามมา

ดังนั้นควรรณรงค์ให้บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่และถ่านไฟฉายต้องมีการวางตู้รับแบตเตอรี่และถ่านไฟฉายใช้แล้วไปทำลายให้ถูกวิธี ซึ่งปัจจุบันยุโรปห้ามมีการนำเข้าแบตเตอรี่นิกเกิล แคดเมี่ยมจากต่างประเทศมาตั้งแต่ปี 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น