นักเศรษฐศาสตร์ชี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีรัฐบาลอุ้ม ระบุโอกาสลดต้นทุนพลังงานนิวเคลียร์น้อยมาก และจากการศึกษาอย่างหลวมๆ ไม่เกิน 20 ปี พบพลังงานหมุนเวียนจะถูกกว่าพลังงานนิวเคลียร์ สิ่งที่ต้องทำระหว่างนี้ คือลดการใช้พลังงานและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรี ต้องมีคนแบ่งรับความเสี่ยงข้อแรกคือการวิจัยและพัฒนาที่รัฐต้องลงทุนเอง อย่างไทยต้องใช้งบประมาณ 1.3 พันล้านบาทในการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น
“ความเสี่ยงที่สองคือ ทุนในการสร้างบานปลาย อย่างที่สามรัฐบาลต้องประกันความเสี่ยงให้โรงไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้าไม่สามารถไปซื้อประกันเอง หรือไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อ รัฐบาลจึงต้องรับผิดชอบส่วนนี้ และสุดท้ายคือการกำจัดกากนิวเคลียร์ ซึ่งกลุ่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีการสมทบทุนส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่พอต้องมีรัฐบาลรองรับ”
เมื่อเทียบพลังงานนิวเคลียร์กับพลังงานหมุนเวียน ดร.เดชรัตน์กล่าวว่า พลังงานนิวเคลียร์มีโอกาสลดต้นทุนน้อยมาก ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนนั้นมีต้นทุนที่ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งจากการศึกษาอย่างหลวมๆ นั้น ในอีกไม่เกิน 20 ปี พลังงานหมุนเวียนจะถูกกว่าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด ดังนั้น ในระหว่างของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานหมุนเวียนนั้น เราควรลดการใช้พลังงานลงและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
ด้าน สฤนี อาชวานันทกุล นักเขียนอิสระ ซึ่งร่วมเสวนากับ ดร.เดชรัตน์หัวข้อ “ข้อเสนออนาคตพลังงานไทย” ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.54 กล่าวว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่นั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย อย่างจีนและเวียดนาม แต่น่าสนใจว่า แม้จีนจะวางแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกหลายโรง แต่ก็ลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนมากถึง 50-60% ของเงินลงทุนด้านพลังงาน
ส่วน อิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ร่วมเสวนาในเวทีนี้ด้วยกล่าวถึงโครงสร้างพลังงานของประเทศว่า เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ โครงสร้างพลังงานปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคตกอยู่ในฐานะที่ถูกข่มขู่ กรรโชก หากไม่จ่ายค่าไฟจะถูกตัดไฟทันที ซึ่งคนไทยไม่มีสิทธิเลือก เพราะอยู่ในระบบผูกขาดอย่างสมบูรณ์แบบ
สอดคล้องกับความเห็นของสฤนีที่กล่าวว่า ความยั่งยืนทางพลังงานนั้น คือการที่เรามีพลังงานใช้โดยไม่เบียดเบียนลูกหลาน และให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพลังงาน แต่ปัจจุบันการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศ เป็นแบบบนลงล่างและแบบรวมศูนย์ซึ่งทำให้เกิดการผูกขาด ซึ่งอนาคตอาจจะต้องคุยกันต่อไปว่าควรจะต้องเปลี่ยนรูปแบบนโยบายพลังงานหรือไม่
ส่วน อ.ประสาท มีแต้ม จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ให้ความเห็นในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการผลิตไฟฟ้าว่า จะทำได้เมื่อเรารับรู้ปัญหาและความจริง ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนไทยไปไม่ถึงไหนคือ กลไกทางกฎหมายที่ปิดกั้นการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน หากเราทลายกำแพงดังกล่าวลงได้ จะทำให้เราผลิตพลังงานได้มหาศาล
ทั้งนี้การเสวนาดังกล่าว จัดเป็นเวทีสาธารณะในหัวข้อ “วิกฤตฟูกูชิมะและอนาคตพลังงานที่ยั่งยืนในสังคมไทย ในวาระครบรอบ 25 ปี หายนะภัยเชอร์โนบิล” เมื่อวันที่ 26 เม.ย.54 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีประชาชนและกลุ่มเครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าร่วม.