xs
xsm
sm
md
lg

ช็อก!6ขวบดู“ดอกส้มฯ”บอกด่าทอ-จูบมันส์ดีมติหั่นบางฉาก-ขึ้นคำเตือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“องอาจ” ถกผู้จัด “ดอกส้มสีทอง” พร้อมผู้บริหารช่อง3 สรุปตัดบางฉากที่ไม่เหมาะสมออก ขึ้นคำเตือน ได้ข้อสรุปตัดบางฉากที่หวือหวาออก พร้อมให้เพิ่มตัววิ่งเตือน ด้านเอแบคโพลสำรวจเจอข้อมูลชวนอึ้ง เด็ก 6 ขวบดู “เรยา” บอกชอบฉากด่าทอ-เลิฟซีน ระบุดูแล้วมันส์ดี! ด้านผู้พิพากษาสมทบ 9 จังหวัดภาคเหนือ ยกเนื้อหา “เรยา-ดอกส้มสีทอง” ขึ้นถก ชี้สร้างพฤติกรรเลียนแบบกระตุ้นความรุนแรง

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกำกับสื่อของรัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหาหรือกับผู้บริหารช่อง 3 ผู้จัดละครและดารานักแสดงจากละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ว่าอนุญาตให้ฉายต่อได้ โดยเหลืออีก 6 ตอน แต่ให้ตัดบางฉากที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมออก และให้ขึ้นข้อความเตือนก่อนละครฉาย และระหว่างฉายให้มีตัววิ่งเตือนผู้ดูด้วย พร้อมวอน ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำเด็กหรือเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

อย่างไรก็ตาม นายองอาจกล่าวอีกว่า ในช่วงตอนท้ายๆ ของละครจะนำเสนอให้เห็นถึงความเลวร้ายของตัวละคร โดยฉพาะตัวเอกของเรื่องที่จะได้รับผลกรรมที่กระทำไว้อย่างไร ซึ่งเท่าที่สำรวจตรวจสอบพบว่าคนที่ชมละครเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น และติดตามชมทุกตอน ซึ่งคนเหล่าจะมีเปอร์เซ็นต์สูงที่สุด รองลงมาชมบ้าง เพราะฉะนั้นผู้ที่ชมละครเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะที่เป็นเด็กและเยาวชนจะสามารถมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นเมื่อชมไปถึงตอนสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับบทบาท กบว.ช่องหรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า เป็นเรื่องของ กสทช.ที่กำลังจะออกมาไม่นาน โดย กสทช.จะกำหนดแผนแม่บทเรื่องวิทยุโทรทัศน์ เรื่องของโทรคมนาคม จุดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในแผนแม่บทด้วย

“อาจมีช่องโหว่ทางกฎหมายนิดหน่อย เพราะเดิมการกำหนดเรตติ้งจะเป็นงานของกรมประชาสัมพันธ์ มีกองงานที่ทำหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรง แต่พอมี พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ส่วนนี้ก็จะยุติลง และจะไปเป็นภาระหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่า กทช.จะปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมี กสทช.”

ด้านดร.นพดล กรรณิกา ผอ.ศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สาธารณชนคิดอย่างไรต่อละครโทรทัศน์ “ดอกส้มสีทอง” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ยะลา ตรังและนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,160 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 28 เม.ย. - 3 พ.ค.ที่ผ่านมา

พบว่าในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 เคยติดตามชม “ดอกส้มสีทอง” บางช่วงบางตอน ในขณะที่ร้อยละ 26.5 ไม่ได้ติดตามเลย และที่น่าเป็นห่วงคือ เกินกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 21.4 ของผู้ที่ติดตามชม มีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีและอายุต่ำสุดที่สนใจติดตามร่วมดูด้วยคืออายุ 6 ขวบเท่านั้น และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเด็กอายุ 6 ขวบเหล่านั้นพบว่า เป็นช่วงปิดเทอมจึงนอนดึกและดูละครพร้อมไปกับผู้ปกครอง เด็กบางคนยังบอกว่า “กำลังมันเลย” เมื่อถามว่าตอนไหนที่บอกว่ากำลังมัน น่าตกใจกับคำตอบที่ได้รับคือ “ก็ตอนด่ากัน” ตอน “กอดจูบกัน” ตอน “นางเอกกำลังหาคนมานอนด้วย” เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการตรวจสอบเนื้อหา ในขณะที่ร้อยละ 35.7 ระบุปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลกันเอง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 เห็นว่าให้ตัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบางตอนออกไป และร้อยละ 6.2 ให้งดการออกอากาศทั้งเรื่อง ในขณะที่ร้อยละ 36.6 ให้ออกอากาสต่อไปตามปกติ

ผู้พิพากษาฯ9จว.ห่วงปัญหาครอบครัว

วานนี้ (4 พ.ค.) นายพิสิฏฐ์ สุดลาภา อธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 และ นายอรรถวัฒน์ หวังดำรงวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพิจิตร ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อเรื่อง “การยุติความรุนแรงต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว” เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในการที่จะร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรงในสตรีและครอบครัวรวมถึงเยาวชน ขึ้นที่ห้องประชุมโรงแรมพิจิตรพลาซ่า โดยมีผู้เข้าร่วมที่ล้วนเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว จาก 9 จังหวัดภาคเหนือ กว่า 120 คน รวมทั้งภาคส่วนราชการและภาคประชาชนที่เข้าร่วม

จากนั้น นายประพจน์ ศรีเทศ ผู้อำนวยการสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค 6 สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 6 ได้ให้สัมภาษณ์ถึงต้นเหตุส่วนหนึ่งของความรุนแรงในครอบครัว กรณีละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ว่า ละครทีวีเรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงความรุนแรงต่อสตรีและสถานการณ์ความรุนแรงและการใช้กำลังกับคนในครอบครัวและสังคมในมิติต่างๆ ซึ่งเป็นผลสะท้อนที่ไม่น่ายอมรับได้

ดังนั้น ในเวทีเสนาผู้พิพากษาฯ จังได้หยิบยกบทบาทของละครเรื่องนี้ มาอภิปราย เพื่อให้ผู้พิพากษาสมทบได้เข้าถึงบทบาทและใช้หน้าที่เพื่อช่วยยุติความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมครอบครัว เหตุเป็นเพราะมีละครและสื่อเป็นตัวชี้นำในทางที่ผิด
กำลังโหลดความคิดเห็น