xs
xsm
sm
md
lg

เรยา... ผู้ชมจะเลวเพราะเธอหรือ? /วัฒนะชัย ยะนินทร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ล่าสุดจะได้ข้อสรุปว่า ให้ผู้จัดละครดอกส้มสีทอง ต้องตัดทอนบางส่วนที่ไม่เหมาะสมออก เพื่อให้ละครเรื่องนี้ออกอากาศจนจบ ทำให้แฟนละครต่างดีใจ ปรบมือให้ความใจกว้างของผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้ แต่ในมุมของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลาย ผู้เฝ้าระวังทางวัฒธรรมไทย ประโคมความรู้สึกว่า อยากให้แบนละครยอดฮิต “ดอกส้มสีทอง” มากกว่าที่จะตัดทอนบางส่วน

โดยเฉพาะบทบาทของ “เรยา” ตัวละครที่บรรดานักอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ต่างชิงชังว่า รับไม่ได้กับพฤติกรรมส่ำส่อนมั่วผู้ชาย ซึ่งจะเป็นแบบอย่างไม่ดีทำให้เยาวชนไทยเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
 

น่าคิดและวิเคราะห์ว่า คนดูละครเรื่องนี้จะเลว และเอาเยี่ยงอย่างเรยาขนาดนั้นเลยหรือ...
  
เท่ากับว่ามีการประเมินแล้วว่า ผู้ชมละครนั้นโง่ หรือด็กไทยไร้สมอง มีโอกาสจะเลว อยากมั่วผู้ชาย ด้วยเหตุผลว่า เพราะหนูติดละคร ดอกส้มสีทอง

ผมมองว่า พ.ศ.นี้อย่าใช้ความคิดแบบเก่าๆ มาตัดสินสังคมว่า คนดูจะเลวเพราะติดละครเลยครับ มันมีเหตุและผล น้อยเกินไปที่ตัวละครอย่างเรยาจะนำพาให้คนคิดเลว ทำเลว คนดูจะแยกแยะไม่ออกเลยหรือ ว่านี่คือการแสดง
 

ในมุมกลับกันละครดอกส้มสีทอง น่าจะสะท้อนความจริงในสังคมไทย และบทสรุปสุดท้าย ซึ่งให้มุมมองดั่งผู้นักประพันธ์เรื่องนี้ คุณถ่ายเถา สุจริตกุล กล่าวไว้ว่า ต้องการสะท้อนภาพความจริงของสังคม เช่น เรื่องการเลี้ยงดูลูกอย่างเอาใจเกินไปก็เป็นผลร้าย ผู้หญิงที่อยากทะเยอทะยานจนลืมมองถึงความถูกผิด ผลสุดท้ายก็จะได้รับผลกรรม ครอบครัวใดสามีไปมีภรรยาน้อย ครอบครัวนั้นจะไม่มีความสุข
  

ขณะเดียวกัน คุณศัลยา สุขะนิวัตติ์ หรือ ศัลยา ผู้เขียนบทละคร ให้ข้อคิดว่า เรยาเป็นตัวละครที่สอนคนได้ดียิ่ง เช่น การกระทำกับแม่ เป็นสิ่งที่น่าเกลียด ซึ่งจริงๆลูกอย่างเรยาในสังคมไทยมีไม่น้อย ส่วนเรื่องที่เรยามีผู้ชายคลายคน บทสุดท้ายจะได้คำตอบว่า สิ่งเลวๆจะนำพาสู่ความทุกข์ระทม เป็นจุดสะท้อนให้สังคมไทยตระหนักคิดมากกว่า
  

ผมไม่เห็นด้วยกับ โดยเฉพาะนักจิตวิทยาที่ออกมาบอกว่า ตัวละครอย่างเรยา มีอันตรายต่อการรับชมของเยาวชนไทย เพราะมีโอกาสที่เด็กจะเลียนแบบได้ เห็นได้ชัดจาก เด็กสาวหลายคนทุกวันนี้มักจะบอกว่า ฉันคือเรยา ฉันเป็นเรยา
  

การวิเคราะห์ของนักจิตวิทยา ผมคิดว่า ไม่ถูกต้อง คำพูดที่ว่า ฉันอยากเป็นเรยา หนูคือเรยา สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้หมายความว่า เด็กจะสื่อความหมายถึง อยากจะเลวหรือตั้งใจจะส่ำส่อนเหมือนเรยา แต่สิ่งที่เด็กๆพูดเล่นกันคือ การชื่นชมในบทบาทการแสดง และความรู้สึกชมชอบกับนักแสดง คุณชมพู่ ที่ดูสวย และเล่นได้แรงสมบทบาท มากกว่า
  

“ลองถามเด็กสาวอายุ 13 คนหนึ่ง บอกอย่างน่าสนใจว่า ผู้ใหญ่คงคิดว่าหนูโง่ แยกแยะไม่ออกความดี กับ ความเลว ผู้ชมส่วนใหญ่ดูเพื่อความบันเทิง ผิดถูกต่างรู้ดี หนูอยากเป็นเรยา เพราะ เขาสวย แสดงเก่ง แต่ไม่ใช่ อยากเลว เหมือนเรยา”
  

อย่ามาดัดจริตกันเลยครับ...ว่ารับไม่ได้ เลยเถิดไปถึงขั้นว่าละครลักษณะนี้จะทำลายภาพลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยบ้าง ผมว่าใครจะดีจะเลว ไม่ใช่เพราะอิทธิพลของละครเพียงอย่างเดียว ปัจจัยอื่นๆทางสังคมมากมาย ที่ทำให้คนเลว และดีได้ แต่ไม่ใช่เพราะ เรยา มามีอิทธิพลถึงขั้นจะสุ่มเสี่ยงทำให้คนเลวร้ายได้
  

ในมุมเชิงจิตวิทยา หากจะวิเคราะห์กันอย่างถ่องแท้ ละครที่สื่อถึงด้านมืด พฤติกรรมเลวๆของละคร ทำไมเราไม่คิดว่า ด้านมืดของเรยา ก็สามารถสอนเด็กได้เช่นกัน นักจิตวิทยาก็สามารถนำมาวิเคราะห์ให้เด็กคิดตาม ใช่ว่า ด้านสว่างจะสอนกันได้อย่างเดียว ผมมองว่า ด้านมืดบางครั้งมันก็ทำให้คนจดจำได้ง่าย และสร้างผลทางจิตวิทยาได้ดีกว่า น่าสนใจกว่า
 

ลองคิดง่ายๆ ถ้ามีละครเรื่องหนึ่ง เขียนบทแต่ด้านดีๆ มีแต่เรื่องธรรมะ แม้จะเป็นเรื่องดี แต่ขอโทษ! นะ ไม่มีใครอยากดู ดึงความสนใจได้น้อย ยุคนี้สังคมมันรวดเร็วฉับไว บางครั้งการสอนเด็กต้องใช้ด้านลบมาสอนสั่งกัน เด็กจะจดจำมากกว่า
 

สมมติว่า ดอกส้มสีทองถูกแบนจริงๆ คิดหรือคนยุคนี้จะหาดูกันไม่ได้ ในเมื่อสังคมออนไลน์มันง่ายก็คลิกเดียวหาดูได้ในเน็ตในซีดี ประมาณว่ายิ่งแรงเหมือนจะยิ่งดัง
 

ในความเป็นจริง ละครดอกส้มสีทอง เท่าที่เช็กเรตติ้ง ไม่ได้ครองแชมป์มีผู้ชมติดละครเรื่องนี้กันทั้งประเทศ ละครช่องอื่นๆ ในเวลาเดียวกันมีเรตติ้งที่แรงพอๆกัน ไม่แปลกที่จะมีหลายคนบอกว่าไม่เคยได้ดู แต่พอเป็นข่าวว่าจะแบนก็มีคนจำนวนไม่น้อยหันมาติดตามชม
 

ดังนั้น จะมาบอกว่าสังคมไทยส่วนใหญ่จะเสี่ยงอันตรายเพราะ อิทธิพลของละครเรื่องนี้ ไม่ถูกต้องครับ แม้จะมีบางฉาก บางตอนที่ดูจะไม่เหมาะสม แต่หากดูภาพรวม หรือดูให้จบเรื่องผมว่าละครเรื่องนี้ สามารถให้แง่คิดสะท้อนความจริงหลายอย่าง
 

เหมือนที่พูดกันว่า ดูละครย้อนดูตัวเอง บทละครสอนคนได้ หากรู้จักใจกว้างและรู้จักคิดมากกว่ามานั่งเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม...

 
 
 

wyanintorn@hotmail.com



กำลังโหลดความคิดเห็น