เอแบคโพลล์ เผยเด็ก 6 ปี บอก “มัน” ดู “ดอกส้มสีทอง” ตอนด่ากัน-กอดจูบ-นางเอกหาคนมานอน น่าห่วง! เกิน 1 ใน 5 หรือร้อยละ 21.4 ของผู้ที่ติดตามชม มีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สาธารณชนคิดอย่างไรต่อละครโทรทัศน์ “ดอกส้มสีทอง” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ แพร่ พิษณุโลก เชียงใหม่ เลย กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ยะลา ตรังและนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,160 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 28 เมษายน -3 พฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา พบว่า ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 เคยติดตามชม “ดอกส้มสีทอง” บางช่วงบางตอน ในขณะที่ร้อยละ 26.5 ไม่ได้ติดตามเลย
ที่น่าเป็นห่วง คือ เกินกว่า 1 ใน 5 หรือร้อยละ 21.4 ของผู้ที่ติดตามชม มีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีและอายุต่ำสุดที่สนใจติดตามร่วมดูด้วยคืออายุ 6 ขวบเท่านั้น และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับเด็กอายุ 6 ขวบเหล่านั้นพบว่า เป็นช่วงปิดเทอมจึงนอนดึกและดูละครพร้อมไปกับผู้ปกครอง เด็กบางคนยังบอกว่า “กำลังมันเลย” เมื่อถามว่าตอนไหนที่บอกว่ากำลังมัน น่าตกใจกับคำตอบที่ได้รับ คือ “ก็ตอนด่ากัน” ตอน “กอดจูบกัน” ตอน “นางเอกกำลังหาคนมานอนด้วย” เป็นต้น
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 41.7 คิดว่า การจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์เพื่อเตือนผู้ปกครอง “ป้องกันได้บ้าง” และร้อยละ 30.5 ระบุป้องกันไม่ได้เลย เพราะ เด็กอยู่กับผู้ปกครองตลอดขณะดูละคร สภาพบ้านที่พักอาศัยไม่ได้แยกกันนอน ดูทีวีด้วยกัน และมีสื่ออื่นๆ นอกจากทีวีที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น มีเพียงร้อยละ 13.0 ที่บอกป้องกันได้ และร้อยละ 14.8 ไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อบุตรหลานของตนเองในการเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครในเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.9 กังวล ในขณะที่ร้อยละ 40.1 ไม่กังวล เพราะไม่มีบุตรหลาน เพราะคอยตักเตือนแนะนำ และเพราะ ห้ามดูไปเลย
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการตรวจสอบเนื้อหา ในขณะที่ร้อยละ 35.7 ระบุปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลกันเอง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 เห็นว่าให้ตัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบางตอนออกไป และร้อยละ 6.2 ให้งดการออกอากาศทั้งเรื่อง ในขณะที่ร้อยละ 36.6 ให้ออกอากาสต่อไปตามปกติ
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ร้อยละ 47.4 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 5.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.2 อายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุ 30 - 39 ปี ร้อยละ 18.4 อายุ 40 - 49 ปี และร้อยละ 37.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป โดย ร้อยละ 65.2 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.0 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 31.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.5 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.7 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 8.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.6 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ