xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ไทยไม่พร้อมผุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ขาดคน องค์ความรู้ คาดรออีก 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- กก.นิวเคลียร์แห่งชาติ ชี้ไทยยังไม่พร้อมผุดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เหตุขาดผู้เชี่ยวชาญ และปชช.ไม่มีความเข้าใจ คาดเกิดได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่อาจเป็นปฏิกิริยาแบบ “ฟิวชัน” ที่ไม่เหมือนในญี่ปุ่น -เชอร์โนบิล ห่วงนักการเมืองไม่รู้จริงฉวยหาเสียงทำสับสน หากสร้างจริงต้องมั่นใจปลอดภัยสูงและให้คุณมากกว่าโทษ ด้านนักฟิสิกส์ ระบุไทยขาดแคลนบุคลากร-องค์ความรู้“นิวเคลียร์ฟิสิกส์” อันเป็นหัวใจหลัก ย้ำต้องตอบ 3 เงื่อนไขหลักให้เคลียร์

ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา ในฐานะกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ แสดงความเห็นกรณีมีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในไทย หลังเกิดวิกฤตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ญี่ปุ่นรั่วจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อยู่ในขณะนี้ ว่า คณะกรรมการบริหารสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติได้ร่วมกันคิดตลอดเวลาในเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งปฏิกิริยานิวเคลียร์มี 2 อย่าง อย่างแรกคือ ชนิดที่แตกตัวออก ที่นำไปทำระเบิดปรมาณู ระเบิดนิวเคลียร์ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งใช้กันอยู่ปัจจุบันที่มีปัญหาในเชอร์โนบิล และญี่ปุ่น

ส่วนปฏิกิริยาอย่างที่ 2 คือ ปฏิกิริยาที่เกี่ยวกับการรวมตัว หรือเรียกว่า ปฏิกิริยาฟิวชัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดบนดวงอาทิตย์ ฉะนั้นนักนิวเคลียร์ฟิสิกส์จึงพยายามค้นคว้าปฏิกิริยาฟิวชัน ที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงอำนวยความสะดวกของมนุษยชาติ นั่นหมายความว่าอีก 10 ปี ข้างหน้านี้อาจมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไม่ใช่ เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบฟิวชัน ซึ่งเป็นการรวมตัวของธาตุเล็กๆ ก็เป็นได้

ศ.ดร.ประสาท กล่าวอีกว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญ ประเทศไทยต้องสร้างคนเพื่อรองรับกับงานแบบนี้ ขอถามว่าพลังงานที่ใช้อยู่ในประเทศไทยหรือในโลก ซึ่งได้จากฟอสซิล ถ่านหินหรือแก๊สธรรมชาติ นับวันจะต้องหมดไป พลังงานเหล่านี้จะมีใช้ถึง 100 ปี หรือ 1,000 ปีหรือไม่ แล้วมนุษยชาติจะอยู่กันอย่างไร พลังงานจากลมเพียงพอหรือไม่ พลังงานจากน้ำในประเทศไทยใช้ถึง 7 % หรือเปล่า พลังงานจากโซลาร์มีเพียงพอหรือไม่ ฉะนั้นโจทย์สำคัญของมนุษยชาติ คือ จะเอาพลังงานมาจากไหน

ดังนั้น หน้าที่ของสถาบันการศึกษาและสถาบันเทคโนโลยีแห่งชาติ คือ การให้ความรู้แก่ประชาชน และพัฒนาวิศวกร พัฒนานักวิทยาศาสตร์ หากมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องบอกประชาชนได้ว่ามันมีความปลอดภัยแน่นอน หรือมีความปลอดภัยสูง ปลอดภัยกว่าการเอกซเรย์ หรือมากกว่าการนั่งรถยนต์
ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์  วิลัยทอง
ส่วนตัวคิดว่า เมื่อถึงวันนั้นไม่ว่าจะตัดสินใจใช้ปฏิกิริยาฟิวชันที่เกิดจากการรวมตัวกัน แต่ไม่รู้ว่าจะค้นพบภายใน 10 ปีนี้หรือไม่ หรือหากใช้การแตกตัวเหมือนกับที่ใช้ในเชอร์โนบิล หรือญี่ปุ่น ก็แปลว่าต้องสร้างเทคโนโลยี มาตรการป้องกันที่แน่นหนา เช่น กำแพงเคยหนา 1 เมตร อนาคตอาจสร้างเป็น 2 เมตร เคยทนแผ่นดินไหวได้ถึง 9 ริกเตอร์ ต้องเพิ่มเป็น 10 ริกเตอร์ อย่าลืมว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นสร้างขึ้นเมื่อปี 1971 ขณะนี้ ปี 2011 หากอนาคตในปี 2015 หรือ ปี 2020 เทคโนโลยีเหล่านี้ต้องพัฒนา แต่หากถามว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ คงบอกได้เลยว่าไม่มีอะไรปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับกระสวยอวกาศอเมริกาที่สร้างขึ้นอย่าง โคลัมเบีย หรือ ชาเลนเจอร์ ทำไมถึงระเบิด ขนาดประเทศเหล่านี้มีเงินทองมากมายที่จะทำระบบให้ดีที่สุด ยังเกิดความผิดพลาดได้

“ฉะนั้นความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ แต่วันไหนที่เราสามารถพูดได้ว่ามันมีคุณมากกว่ามีโทษ เพียงแต่ความเสี่ยงนั้นไม่สามารถทำให้เป็นศูนย์ได้ หน้าที่ของมหาวิทยาลัยคือการสร้างกำลังคนมารองรับสิ่งนี้และอธิบายให้ประชาชนได้สบายใจ อุ่นใจ ที่สำคัญตอนนี้กลัวมากที่สุดคือนักการเมืองซึ่งเป็นผู้ที่รู้ไม่จริง รู้ไม่ตลอดมักเอาไปพูดหาเสียงแล้วไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนสับสนได้” ศ.ดร.ประสาท กล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ วิลัยทอง ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า หากพูดถึงเรื่องพลังงานนิวเคลียร์มีเงื่อนไขอยู่ 3 เงื่อนไข ที่ต้องหาคำตอบให้ชัดเจนคือ เงื่อนไขแรกคือ ตัวพลังงานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แน่นอนพลังงานนิวเคลียร์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันแทบจะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเลย แต่ในขณะเดียวกันเกิดคำถามว่า กากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่มีอายุยาวจะทำอย่างไร ตรงนี้เรามีปัญหาอยู่

ส่วนเงื่อนไขที่ 2 เศรษฐกิจของประเทศ แข็งแกร่งพอจะมีโครงการใหญ่ระดับแสนล้านได้หรือไม่ ในเรื่องนี้ส่วนตัวเชื่อว่า กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คงได้ศึกษามาแล้ว ดูจากสถานภาพทางเศรษฐกิจในรอบ 5 - 10 ปีข้างหน้า เชื่อว่าหากยังไม่มีอะไรเป็นอุบัติเหตุใหญ่ เหมือนวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ประเทศไทยน่าจะมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจเพียงพอรองรับโครงการใหญ่แบบนี้

สำหรับเงื่อนไขที่ 3 องค์ความรู้ทางฟิสิกส์และวิศวกรรม เรามีมากพอจะรองรับงานระดับนี้ได้ไหม ถ้าจะให้มองดู เรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มันเกี่ยวข้องกับฟิสิกส์และวิศวกรรม และที่เป็นหัวใจของมันคือ นิวตรอนฟิสิกส์ ฟิสิกส์ของกัมมันตรังสี ฟิสิกส์ของสุขภาพ และเป็นฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานปรมาณู ในขณะเดียวกันก็เกี่ยวกับวิศวกรรมด้วย เช่น วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมโยธาต่างๆ

คำถามคือว่า เรามีความแข็งแกร่งในเรื่องนี้แล้วหรือยัง ถ้าในด้านความรู้ทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ด้าน เรามีความรู้ที่เพียงพอที่จะรองรับตรงนี้ได้ แต่ว่าในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเตาปฏิกรณ์ปรมาณูเราเรียกว่าฟิสิกส์ของเครื่องเร่งเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ฟิสิกส์ของนิวเคลียร์หรือนิวตรอนฟิสิกส์นั้น น่าเสียดายที่เราทอดทิ้งตรงนั้นไป

ขณะนี้บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับนิวเคลียร์ฟิสิกส์นี้ที่มีความรู้ต่างๆ ในเรื่องของนิวตรอนที่เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องนี้มีน้อย อย่างที่เชียงใหม่ที่ทำเกี่ยวกับฟิสิกส์นิวตรอนก็เลิกไปแล้ว ทั้งๆ ที่ได้สร้างความแข็งแกร่งมากพอสมควรเลยทีเดียว แต่ว่าเรายังโชคดีที่ขณะนี้มีสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติขึ้นมา

“หากจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นในประเทศไทยจริง เราต้องวางแผนอย่างเป็นระบบในการสร้างขีดความสามารถในเรื่องนี้ขึ้นมา เศรษฐกิจเราพอไปได้ แต่เราต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องนี้ขึ้นมาให้เป็นที่เชื่อถือของกลุ่มคนทุกๆ กลุ่ม และต้องตอบคำถามด้วยว่าแล้วกากกัมมันตรังสี เราจะทำอย่างไร เป็นคำถามที่เป็นประเด็นเปิดมากที่ยังไม่ได้คำตอบ” ศ.เกียรติคุณ ดร.ถิรพัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น