เอเอฟพี - คณะผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ แสดงความไม่แน่ใจเกี่ยวกับความร้ายแรงของสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะของญี่ปุ่น โดยทำได้เพียงคาดการณ์ว่าหนึ่งในแกนเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดได้รับความเสียหาย
เดฟ ลอชบวม ผู้อำนวยการด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ จากสหภาพนักวิทยาศาสตร์ และยังเป็นผู้เฝ้าระวังวิกฤตด้านพลังงานนิวเคลียร์มา 40 ปี เผยว่า มีหลายรายงานเกี่ยวกับการรั่วไหลของหม้อปฏิกรณ์หมายเลข 3 ที่โรงไฟฟ้าดังกล่าว
เขาให้ข้อสังเกตว่า ข้อมูลบางส่วนจากสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ชี้ว่า หม้อปฏิกรณ์ดังกล่าวยังไม่บุบสลาย ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับรายงานอื่นๆ
เขากล่าวถึงสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้ ว่า อาจมีความเสียหายเล็กน้อยในไม่กี่พื้นที่ แต่ไม่มีเครื่องมือพร้อมจัดการ ขณะที่คนงานก็ไม่มีทางเข้าไปยังโรงไฟฟ้ามากพอ ตลอดจนยังไม่มีการประเมินสถานการณ์อย่างแม่นยำด้วย
ลอชบวม เสริมว่า อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งในการชี้ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ และสาเหตุอย่างสมบูรณ์
ด้าน เอ็ดวิน ไลแมน นักฟิสิกส์ ซึ่งทำงานให้กับกลุ่มดังกล่าวชี้ว่า ต่อให้วิกฤตนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นครั้งนี้เลวร้ายถึงที่สุดแล้ว ก็อาจไม่ได้แย่อย่างที่น่าจะเป็น
ไลแมน เสริมว่า หากหม้อปฏิกรณ์รั่วไหลจริง การปลดปล่อยสารรังสียูเรเนียมก็อาจจะเป็นไปได้เพียง 1-10% ส่วนพลูโตเนียม และไอโซโทปอื่นๆ ที่ระเหยได้น้อยกว่านั้นอาจปล่อยรังสีออกมาไม่ถึง 1%
ขณะที่ เอียน ฮัตชิสัน อาจารย์ด้านนิวเคลียร์ศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ระบุว่า เขาไม่ได้รู้สึกประหลาดใจกับระดับกัมมันตภาพรังสีในน้ำรอบๆ โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ เนื่องจากมีการใช้น้ำจำนวนมากในการฉีด และปั๊มเข้าสู่เตาปฏิกรณ์หลายเครื่อง เพื่อลดความร้อน
ส่วน สตีฟ เคียร์เรกส์ ผู้อำนวยการอาวุโสสถาบันการสื่อสารเพื่อพลังงานนิวเคลียร์ กล่าวว่า หน่วยงานของเขาไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะเพียงพอที่จะสรุปอะไรได้ โดยทำได้เพียงจับตาดูต่อไปเท่านั้น
นอกจากนี้ เอเดรียน เฮย์เมอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสด้านยุทธศาสตร์ของสถาบันพลังงานนิวเคลียร์ ชี้ว่า สำหรับกรณีที่ร้ายแรงที่สุดที่จะเกิดขึ้นกับวิกฤตนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นนั้น ก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อประชาชนแต่อย่างใด