xs
xsm
sm
md
lg

วอนอย่าเสนอข่าวเกินจริงกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.บุรินทร์  อัศวพิภพ  อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์  คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ซ้าย) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา  การสุทธิ์   ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ในประเทศไทย และอดีตนายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย (ขวา) เสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “เคลียร์ นิวส์( Clear News) นิวเคลียร์  เผยทุกมิติสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเทศญี่ปุ่น” ณ อาคารมหามกุฏ  ห้อง 207  วันที่ 18 มี.ค.54
นักวิชาการนิวเคลียร์-ฟิสิกส์ย้ำ เตาปฏิกรณ์ไม่ได้ระเบิด เหตุสารกัมมตรังสีรั่วไหลเพราะหลุดออกจากแท่งเชื้อเพลิงแกนปฏิกรณ์ที่ขาดระบบการหมุนเวียน แนะประชาชนอย่าตื่นตระหนก วอนสื่ออย่าเสนอข่าวเกินจริง สถานการณ์ไทยยังปกติ

คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “เคลียร์ นิวส์ (Clear News) นิวเคลียร์ เผยทุกมิติสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ประเทศญี่ปุ่น” ณ อาคารมหามกุฏ ห้อง 207 เมื่อวันที่ 18 มี.ค.54 ที่ผ่านมา

วอนสื่ออย่าเสนอข่าวเกินจริง

ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในช่วงรอบสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สื่อมวลชนนั้นยังมีการนำเสนอข่าวที่ผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะคำว่า "สารกัมมันตรังสี" กับ "กัมมันตภาพรังสี" จึงควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย

"สารกัมมันตรังสี" คือสารที่แผ่รังสีได้เองตามธรรมชาติ สำหรับ "กัมมันตภาพรังสี" คือพลังงานที่จับต้องไม่ได้ เป็นปรากฏการณ์ที่สารกัมมันตรังสีปล่อยรังสีออกมา ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย

“หลายสำนักข่าวที่นำเสนอคลาดเคลื่อน โดยเฉพาะการแปลข่าวที่มาจากสื่อต่างประเทศ นั้นอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด และอาจทำให้ประชาชนตื่นตระหนกได้ และประชาชนที่ติดตามข่าวสารอาจเปิดอ่านแค่พาดหัวข่าว แต่ไม่ยอมอ่านเนื้อหาให้หมดว่าเรื่องราว หรือสถานการณ์เป็นอย่างไร จึงทำให้เกิดการสื่อสารอย่างผิดพลาด เกินจริง จนทำให้เกิดปัญหาตามมา” ดร.บุรินทร์ กล่าว

ทางด้านผศ.ปรีชา การสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ในประเทศไทย และอดีตนายกสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกหวั่นไหวกับข่าวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งข่าวที่ออกมาจึงต้องชัดเจนและเป็นจริง และบางครั้งข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษอาจให้ข้อมูลที่ผิดหลักวิชาการได้ ดังนั้นจึงหากจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ต้องติดตามรายงานจากข้อมูลของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) เพราะเป็นหน่วยงานกลางที่ติดตามสถานการณ์วิกฤตินิวเคลียร์นี้อย่างใกล้ชิด

เตาปฏิกรณ์ไม่ได้ระเบิด-ปชช.อย่าตื่นตระหนก

ผศ.ปรีชา กล่าวว่า สำหรับการรายงานจากไอเออีเอ ขณะนี้ ยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการระเบิดของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ หรือเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิด ซึ่งทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและตื่นตระหนกถึงการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสี เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ในประเทศไทย ยังเสริมอีกว่า การระเบิดหรือการลุกไหม้นั้น ไม่ได้เกิดที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เพราะระบบการทำงานถูกตัดโดยอัตโนมัติ แต่เนื่องจากระบบหล่อเย็น ซึ่งมีหน้าที่ระบายความร้อนไม่ทำงานเพราะอุปกรณ์บางส่วนชำรุด ทำให้ระดับน้ำในบ่อลดลง ไฟฟ้าดับ และเครื่องปั้มน้ำเสียหายจากการพัดถล่มของคลื่นสึนามิ ทำให้ความร้อนที่ยังเหลืออยู่ในระบบเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดไอน้ำและแรงดัน รวมถึงมีการทำปฏิกิริยาทางเคมีเกิดเป็นก๊าซไฮโดรเจนจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องปล่อยออกสู่ภายนอกจึงทำให้เกิดการระเบิดขึ้นจากก๊าซที่ปล่อยออกมา

สำหรับเหตุการณ์ระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมา ประเทศญี่ป่น แตกต่างกับเหตุการณ์วิกฤติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขณะนี้มาก เพราะว่าเหตุการณ์ที่ฮิโรชิมาเป็นลักษณะของสงคราม แต่การสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เป็นปัญหาอยู่ในณะนี้นั้น เป็นแบบเชิงพานิชย์ และขณะนี้ยังสามารถเข้าไปควบคุมการทำงานของโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้อยู่

ผศ.ปรีชา ยังกล่าวอีกว่า กรณีที่มีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีในบริเวณนั้น ก็เป็นเพราะระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน โลหะผสมต่างๆ ซึ่งนำมาทำเป็นแท่งเชื้อเพลิง มีโอกาสหลุดลอกออกมาในน้ำ หากระบบน้ำทำงานตามปกติ จะมีการหมุนวนและทำให้ตกตะกอน แต่เมื่อระบบเสีย สารที่ปนเปื้อนต่างๆ ในน้ำมีโอกาสจะปะปนออกมา ซึ่งมีหลายชนิด แต่ไม่น่ากลัวเพราะบางชนิดมีอายุสั้นแค่ไม่กี่วินาทีก็สลายตัว

ทั้งนี้ สิ่งที่กังวลกันก็คือไอโอดีน-131 เพราะอยู่ในสถานะก๊าซ สามารถรั่วออกมาได้ และแพร่ไปได้ไกล แต่มีค่าครึ่งชีวิตเพียงแค่ 8 วัน และสลายตัวได้หมดภายใน1เดือน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยการหายใจ ซึ่งจะเข้าไปที่ต่อมไทรอยด์โดยตรง ส่วนซีเซียม-137 มีครึ่งอายุประมาณ 30 ปี มีสถานะเป็นโลหะ จึงแพร่กระจายได้ในระดับต่ำ ซึ่งหากจะมีโอกาสเข้ามาในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ จะมาในลักษณะปนเปื้อนกับอาหาร แต่สามารถสามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจวัดปริมาณรังสีก่อนการนำเข้าประเทศ

ย้ำ ชำระล้างร่างกาย-สวมหน้ากาก ป้องกันได้

สำหรับมาตรการป้องกันตัวหากอยู่ในบริเวณที่มีโอกาสฟุ้งกระจายของรังสีน้อย หรืออยู่ห่างไกลพื้นที่เสี่ยง นายแพทย์ธวัชชัย ชัยวัฒนรัตน์ หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า ควรที่จะชำระล้างร่างกายให้สะอาด ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่คาดว่าจะมีสารปนเปื้อน และเวลาออกจากบ้านให้สวมหน้ากาก เพื่อป้องกันกันอันตรายจากสารรังสี เท่านี้ก็สามารถป้องกันตัวเองจากรังสีได้

รังสีในไทยยังปกติ

รศ.นพ.ธวัชชัย กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนกังวลเพราะโอกาสที่กัมมันตรังสีจะแพร่เข้ามาในประเทศไทยในระดับที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ของร่างกายหรือเกิดอาการเฉียบพลันหรือมากกว่า 0.5 ซีเวิร์ต ขึ้นไปนั้น มีน้อยมากหรือแทบไม่มีโอกาสเลย เพราะเท่าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) ตรวจสอบปริมาณรังสีในอากาศจากศูนย์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในวันที่ 18 มี.ค.54 เวลา 07.00 น. นั้น มีค่าเฉลี่ยต่ำมากเพียง 0.052 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับระดับอันตราย
นายแพทย์ธวัชชัย ชัยวัฒนรัตน์  หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย กล่าวว่าหากอยู่ในพื้นที่ที่มีการฟ้งกระจายของรังสีน้อยหรืออยู่ห่างไกลพื้นที่เสี่ยงให้ชำระล้างร่างกาย-สวมหน้ากาก สามารถป้องกันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น