xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญเตือน วิกฤตนิวเคลียร์ "ฟูกูชิมะ" ร้ายแรงกว่า "เชอร์โนบิล" มาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ จากกองกำลังป้องกันตนเองทางน้ำของญี่ปุ่น
เอเอฟพี - ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์รายหนึ่งของรัสเซียชี้ หายนะที่เกิดกับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะของญี่ปุ่นซึ่งยังไม่สามารถคลี่คลายได้นั้นร้ายแรงกว่าเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิล "มาก" และอาจต้องมีการกำหนดระดับที่ใช้ในการวัดความรุนแรงของอุบัติเหตุปรมาณูสากลใหม่ทีเดียว

นาตาเลีย มิโรโนวา วิศวกรด้านเทอร์โมไดนามิกส์ ซึ่งกลายเป็นแกนนำนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ในรัสเซีย หลังเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่โซเวียตสร้างในยูเครนระเบิดเมื่อปี 1986 กล่าวว่า "เชอร์โนบิลเป็นการระเบิดของระเบิดกัมมันตรังสี ระเบิดกัมมันตรังสีที่ต่อไปคือฟูกูชิมะ ซึ่งจะสร้างความเสียหายใหญ่กว่ามาก" ทั้งในวาระทางเศรษฐกิจ และต่อมนุษย์

เธอกล่าวว่า วิกฤตนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นนั้นอาจจะทำให้ความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิล ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในระดับ 7 อันเป็นระดับที่ร้ายแรงที่สุดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ หรือไอเอ็นอีเอส ดูเล็กน้อยไปเลย

หน่วยงานด้านนิวเคลียร์ต่างๆ ของยูเอ็น รวมถึงทบวงการพลังงานปรมาณู (ไอเออีเอ) ระบุในรายงานเมื่อปี 2005 ว่า โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์

มิโรโนวาระบุว่า วิกฤตด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ซึ่งเกิดขึ้นจากภัยแผ่นดินไหว และสึนามิรุนแรง ที่ทำให้ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ 4 เครื่องในโรงไฟฟ้าดังกล่าวเสียหายเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน อาจมีระดับไอเอ็นอีเอสสูงกว่า

"เชอร์โนบิลอยู่ในระดับ 7 โดยมีเตาปฏิกรณ์เพียง 1 เครื่อง และยืดเยื้อเพียง 2 สัปดาห์ แต่ขณะนี้ เราผ่านมาแล้ว 3 สัปดาห์ (ที่ฟูกูชิมะ) และเรามีเตาปฏิกรณ์ถึง 4 เครื่อง ซึ่งเรารู้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายมากๆ" เธอเตือน

สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นยังคงจัดระดับความร้ายแรงของเหตุการณ์ที่ฟูกูชิมะอยู่ในระดับ 4 ขณะที่หน่วยงานของฝรั่งเศสที่เฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิดยกระดับขึ้นเป็น 6 แล้ว

สำหรับยอดผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เชอร์โนบิลนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่อย่างเผ็ดร้อน โดยองค์กรต่างๆ ของยูเอ็นประเมินว่า เหยื่อที่คาดว่าจะเสียชีวิตจากผลสืบเนื่องโดยตรงจากอุบัติเหตุดังกล่าวมากถึง 9,000 คน และมีมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม อย่างกรีนพีซระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นน่าจะถึง 100,000 รายทีเดียว

มิโรโนวากำลังเดินทางเยือนสหรัฐฯ พร้อมกับนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ของรัสเซียอีกหลายคน รวมถึง ทาเทียนา มูชาเมดยาโรวา และนาตาเลีย มันซูโรวา ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ทำความสะอาด และฟื้นฟูฉุกเฉินที่เชอร์โนบิล

เดิมทีการเดินทางของพวกเขาถูกกำหนดไว้ให้ตรงกับวันครบรอบ 25 ปีการระเบิดของโรงไฟฟ้าที่เชอร์โนบิล เมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี 1986 แต่เนื่องจากวิกฤตการณ์ในญี่ปุ่น ทำให้มิโรโนวา และเพื่อนร่วมงานของเธอต้องเขียนรายงานนำเสนอให้ เพื่อเปรียบเทียบอุบัติเหตุเชอร์โนบิลกับฟูกูชิมะ

กำลังโหลดความคิดเห็น