xs
xsm
sm
md
lg

ต้องผลักดันเขมรออกไปก่อน จึงจะชนะในเกมการเมืองระหว่างประเทศได้

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 กัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ฝ่ายไทย โดยได้สรุปในยุทธวิธีการเจรจาความเมืองระหว่างประเทศ โดยยกเรื่องบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (MOU 2543) ว่าไทยและกัมพูชามีข้อผูกพันที่มีสภาพบังคับให้นำแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มาพิจารณาในการจัดทำหลักเขตแดนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และเมื่อกัมพูชานำการพรรณาและการบรรยายของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 ถึงเหตุผลที่ปราสาทพระวิหารต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชานั้น เพราะไทยโดนกฎหมายปิดปากอันมีสาเหตุมาจากการนิ่งเฉยกับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ดังนั้นไทยและกัมพูชาจึงมีสภาพที่ต้องยึดแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เป็นเส้นเขตแดนประเภทเดียวในการจัดทำหลักเขตแดน

ความหมายแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ก็คือ MOU 2543 + การบรรยายคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 = ไทยและกัมพูชาต้องใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 แต่เพียงอย่างเดียวตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

การออกแถลงการณ์ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เสมือนเป็นการประลองกำลังด้วยเหตุผลแบบเปิดเผยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก หลังจากเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 ฝ่ายไทยได้ออกแถลงการณ์ว่าแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ใน MOU 2543 นั้นไม่รวมระวางดงรัก อีกทั้งบริเวณวัดแก้วสิขะคีรีสะวารานั้นอยู่บนแผ่นดินไทย ดังนั้นกัมพูชาต้องรื้อถอนธงชาติกัมพูชาและวัดดังกล่าวออกจากแผ่นดินไทยด้วย

แต่ภายหลังการโต้แย้งด้วยแถลงการณ์อย่างเปิดเผยของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปรากฏว่าฝ่ายไทยนิ่งเฉยไม่ตอบโต้กลับ จึงทำให้คิดได้เพียงแค่ว่า 1. โต้เหตุผลของแถลงการณ์กัมพูชากลับไม่ได้ และ/หรือ 2. โต้แย้งกลับกัมพูชาได้แต่ตั้งใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และ/หรือ 3. สมรู้ร่วมคิดกับกัมพูชายอมพ่ายแพ้ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ไม่ว่าเบื้องหลังจะเป็นอย่างไร แต่การที่ฝ่ายไทยนิ่งเฉยต่อแถลงการณ์ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2554 มาจนถึงปัจจุบันนั้น ทำให้กัมพูชามั่นใจว่าภายใต้ MOU 2543 ฝ่ายไทยไม่สามารถสู้เหตุผลในการยืนยันเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในทางนานาชาติได้แล้ว

นั่นจึงเป็นสาเหตุและแรงจูงใจแรกที่กัมพูชาได้ยิงอาวุธสงครามถล่มใส่ทหารไทยและราษฎรไทยระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 สร้างสถานการณ์เพื่อให้ทำให้เกิดการปะทะ และทำทุกวิถีทางให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซง อันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้มี “คนกลาง” ที่เป็นมหาอำนาจหรือศาลโลกเข้ามาตัดสิน โดยกัมพูชามีเป้าหมายต้องการนำเหตุผลของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ฝ่ายไทยไม่สามารถโต้แย้งได้มาขยายผลหาแนวร่วมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ไทยจึงตกอยู่ในสภาพเหมือนถูก “รุกคืบ” และ “รุกฆาต” ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลังจากความพ่ายแพ้ต่อกัมพูชาในการประลองกำลังกันด้วย “แถลงการณ์” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เพราะหากฝ่ายไทยไม่ยิงตอบโต้ก็จะมีทหารและราษฎรไทยได้ต้องบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ต้องอพยพหลบหนีออกจากแผ่นดินไทย อีกทั้งทรัพย์สินต้องเสียหายอย่างมหาศาล แต่หากฝ่ายไทยยิงตอบโต้อย่างรุนแรงรัฐบาลไทยก็กลัวกัมพูชาขยายผลไปในเวทีนานาชาติประจานความพ่ายแพ้ของไทยในการใช้ MOU 2543 ที่ทำให้ไทยและกัมพูชาต้องใช้แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในการจัดทำหลักเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาแต่เพียงอย่างเดียว

ผลลัพธ์หลังสร้างสถานการณ์ของกัมพูชา ได้ทำให้กัมพูชายิ่งมั่นใจขึ้นไปอีก เพราะเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ฝ่ายกัมพูชาได้ออกถ้อยแถลงไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อยืนยันเส้นเขตแดนของกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตามที่เคยออกแถลงการณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 (ซึ่งฝ่ายไทยไม่สามารรถโต้แย้งกลับได้) และเมื่อยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองได้จึงสามารถกล่าวให้ร้ายประเทศไทยว่าเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชา ในขณะที่ฝ่ายไทยออกถ้อยแถลงยาวเหยียด “แต่ไม่ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง”แต่กลับไปสู้ในประเด็นที่ว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายยิงก่อน และหลักเขตแดนไทย-กัมพูชายังไม่แล้วเสร็จ ละทิ้งสาระสำคัญที่ว่ากัมพูชาละเมิด MOU 2543 และเป็นฝ่ายรุกรานยึดครองแผ่นดินไทย

จากถ้อยแถลงของไทยและกัมพูชา ทำให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่สหประชาชาติจึงได้ออกข้อเรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร โดยไม่สนใจว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ ยิ่งเมื่อคราวประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ฝ่ายไทยและกัมพูชากลับยินดีไปเชื้อเชิญอินโดนีเซียให้มาเป็นตัวแทนอาเซียนเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ “อย่างมีวัตถุประสงค์”เพื่อไม่ให้ทั้งสองฝ่ายมีการปะทะกันอีก โดยฝ่ายไทยไม่มีการสู้ในข้อเท็จจริงแม้แต่น้อยนิดว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายยึดครองแผ่นดินไทยอยู่

ที่พูดไม่ได้ว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายยึดครองแผ่นดินไทยอยู่ เพราะแม้แต่เส้นเขตแดนของไทยเองยังยืนยันไม่ได้ในเวทีสำคัญในระดับนานาชาติ เพราะไทยเข็ดขยายในการจะโต้แย้งเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ใน MOU 2543 ให้พ่ายแพ้ในเวทีนานาชาติซ้ำอีก เหมือนกับการไม่สามารถโต้แย้งถ้อยแถลงของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ใช่หรือไม่?

การมีผู้สังเกตการณ์ชาติที่ 3 เข้ามาสังเกตการณ์ในแผ่นดินไทยนั้น กัมพูชาเป็นฝ่ายตีปีกและยิ่งได้ใจมากขึ้น เพราะยิ่งมีชาติที่ 3 เข้ามาสังเกตการณ์ในขณะที่กัมพูชาเป็นฝ่ายยึดครองแผ่นดินไทยโดยห้ามทั้งสองฝ่ายยิงปะทะต่อกันจนกว่าการเจรจาจะได้ข้อยุติ ก็มีความหมายเท่ากับว่าไทยต้องเสียดินแดนส่วนนั้นให้กับกัมพูชาไปอย่างถาวรแล้ว เพราะหากผลการเจรจาไม่เป็นที่พอใจของกัมพูชา กัมพูชาก็จะอาศัยครอบครองแผ่นดินที่ยึดครองไปแล้วได้ไปตลอดกาลโดยมีประเทศอินโดนีเซียในนามอาเซียนมาเป็นสักขีพยานอีกด้วย

นับว่ายังดีที่ภาคประชาชนเคลื่อนไหวจนทำให้ทหารตื่นตัวแล้วหันมา “กลับลำ” ไม่ต้อนรับอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ และบีบทำให้รัฐบาลต้อง “กลับลำ”ตามทหารด้วย แต่ไทยก็ถูกมองว่า “เป็นฝ่ายเกร” เพราะไม่เคยยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง แล้วยังไม่ทำตามที่ได้ตกลงกันในเวทีอาเซียนเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 อีกด้วย

แต่สำหรับกัมพูชาเมื่อมาถึงเวลานี้จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ได้มีแนวทางยุทธศาสตร์ “ยึดครองแผ่นดินไทย” เพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเมืองภายในของกัมพูชาเป็นพื้นฐานสำคัญ โดยมีลำดับขั้นตอนหลังลงนามใน MOU 2543 ดังนี้

1. สร้างถนน กระเช้าลอยฟ้า เพื่อขนทหารพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ขึ้นมาจากตีนหน้าผาฝั่งกัมพูชา ซึ่งไม่ใช่ยุทธภูมิที่จะยิงปะทะกับทหารและราษฎรไทยได้ ให้ขึ้นมาอยู่บนจุดสูงข่มบริเวณยอดหน้าผาฝั่งไทย ทั้งวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา ภูมะเขือ ปราสาทตาควาย ปราสาทตาเมือนธม ทำให้เปลี่ยนกลายเป็นสถานภาพที่พร้อมปะทะสร้างสถานการณ์กับไทยได้

2. รุกคืบและยึดครองเข้ามาในแผ่นดินไทยเพิ่มเติม สร้างชุมชน สร้างวัด ตลอดจนสร้างหลักฐานในการแสดงอำนาจอธิปไตยบนแผ่นดินไทย เพื่อสร้างความชอบธรรมในการที่จะอ้างว่าเป็นแผ่นดินของกัมพูชา

ใน 2 ข้อนี้พบว่าฝ่ายไทยได้ปฏิบัติตาม MOU 2543 อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่กำลังทหารปกป้องแผ่นดินไทย แต่ใช้วิธีการประท้วงด้วยเอกสารไม่ต่ำกว่า 125 ครั้งแล้ว ซึ่งทำกัมพูชามั่นใจว่าจะสามารถยึดครองแผ่นดินไทยได้ในทางปฏิบัติอย่างแน่นอน

3. เดินหน้านำโบราณสถานให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก เพื่อนำองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาชี้ขาดยืนยันเส้นเขตแดนของกัมพูชา ตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 โดยอ้าง MOU 2543 + การพรรณาคำพิพากษาของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหาร โดยที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วคือปราสาทพระวิหาร และกำลังดำเนินการนำปราสาทตาเมือนธมขึ้นทะเบียนต่อด้วย

4. หากไทยเริ่มต่อต้านขัดขวางมรดกโลก กัมพูชาก็ใช้กำลังทหารตามที่ได้เคลื่อนกำลังมาอยู่บนยอดหน้าผาฝั่งไทยสำเร็จแล้วจากข้อ 1. ยิงปะทะใส่ทหารและราษฎรไทย เพื่อสร้างสถานการณ์ให้ประเทศที่ 3 เข้ามาแทรกแซง จะเป็นลักษณะการยิงที่ไม่หยุด ยิงทำร้ายทหารและพลเรือน เพราะต้องการการตอบโต้จากฝ่ายไทย โดยมีแรงจูงใจในวันนี้ใน 2 ลักษณะ คือ

แรงจูงใจลักษณะแรก คือต้องการให้ประเทศที่ 3 มาตัดสินเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ใน MOU 2543 ที่ฝ่ายไทยไม่สามารถโต้แย้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
ส่วนแรงจูงใจลักษณะที่สอง คือต้องการให้ประเทศที่ 3 เข้ามาสังเกตการณ์และห้ามทหารทั้งสองฝ่ายปะทะต่อกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้ทหารไทยผลักดันทหารกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย ซึ่งจะเป็นผลทำให้กัมพูชาสามารถยึดครองแผ่นดินไทยได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา

5. เมื่อผู้สังเกตการณ์จากชาติที่ 3 เข้ามาทำให้พื้นที่บริเวณที่กัมพูชายึดครองแผ่นดินไทย โดยมีวัตถุประสงค์ให้หยุดการยิงอย่างถาวรแล้ว ปราสาทพระวิหารก็จะพ้นความเป็นมรดกโลกอันตรายและมีชาติที่ 3 มาเป็นหลักประกันทำให้กลายเป็นพื้นที่สันติภาพถาวร และทำให้กัมพูชาสามารถเดินหน้าแผนบริหารจัดการมรดกโลกต่อไปได้ และหากยังขึ้นทะเบียนไม่ได้อย่างน้อยก็กัมพูชาก็ยังสามารถยึดครองแผ่นดินไทยได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา

6. หลังจากนายฮุน เซน ได้ชัยชนะตามข้อ 5 แล้ว ก็จะสามารถนำไปใช้หาเสียงได้รับความนิยมจากชาวกัมพูชาในฐานะวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ ปูฐานให้ฮุน มาเน็ท บุตรชายสืบทอดอำนาจในฐานะนักรบผู้ยึดครองโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์จากไทย และกัมพูชาก็จะเดินหน้าแบ่งปันผลประโยชน์ในอ่าวไทยกับมหาอำนาจเป็นการแลกเปลี่ยน

วิธีการเดียวที่จะทำให้แผนของกัมพูชาทั้งหมดนี้ยุติลงก็คือต้อง “ทำลายแรงจูงใจ” ในยุทธศาสตร์ของกัมพูชาในจังหวะที่กัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดเกมยิงไทยก่อน โดยการผลักดันกัมพูชาพ้นออกจากจุดสูงข่มบนผืนแผ่นดินไทยให้ไปอยู่ตีนหน้าผาฝั่งกัมพูชาเหมือนเดิม เพื่อทำให้ทหารกัมพูชาหยุดสร้างสถานการณ์ยิงปะทะทหารและทำร้ายราษฎรไทยโดยเร็วที่สุด

เมื่อทวงคืนแผ่นดินไทยกลับมาได้แล้ว ไทยก็ย่อมสามารถเป็นฝ่ายรุกกัมพูชาคืนบ้างในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ เรียกร้องให้หยุดยิงถาวร เรียกร้องสันติภาพ และพร้อมยินดีอย่างยิ่งหากจะมีผู้สังเกตการณ์จากชาติที่สามที่มีวัตถุประสงค์ในการให้หยุดยิงถาวรโดยเร็วที่สุด โดยเรียนเชิญผู้สังเกตการณ์มายืนอยู่บนยอดหน้าผาฝั่งไทย

และจะให้ดีก็ถือโอกาสอ้างเหตุที่กัมพูชาละเมิด MOU 2543 มาถึง 125 ครั้ง ยกเลิก MOU 2543 เพื่อทำให้ปัญหาแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ซึ่งไทยเพลี่ยงพล้ำในเวทีนานาชาติยุติลงเสียที

กำลังโหลดความคิดเห็น