xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขบวนการล้มเจ้า ขบวนการโหนเจ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - คงไม่มียุคไหนที่ “สถาบัน” จะเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนต่อการดำรงอยู่มากเท่ากับยุคนี้สมัยนี้ เพราะนอกจากจะต้องเผชิญหน้ากับ “ขบวนการล้มเจ้า” ที่เติบใหญ่โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้แล้ว สถาบันยังต้องมัวหมองจาก “ขบวนการโหนเจ้า” ที่มีพฤติกรรมอิงแอบด้วยการใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกด้วย

กล่าวสำหรับขบวนการล้มเจ้านั่น เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า หัวขบวนของพวกเขามิใช่ใครอื่น หากแต่เป็น “นายใหญ่” ที่ลงมาบัญชาการทัพด้วยตัวเองโดยสั่งการ ให้เดอะคางคกเปิดหน้าชกกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อชี้เป้า “ศัตรู” ให้คนเสื้อแดงที่สุกงอมทางความคิดในการล้มล้างสถาบันหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองจนทำให้พรรคเผาไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามที่ใจปรารถนา

หลังจากก่อนหน้านี้ นายใหญ่ของขบวนการล้มใหญ่ได้สำแดงพฤติกรรมอันแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่มีต่อสถาบันเบื้องสูงมาโดยตลอด เช่นพูดในรายการ “นายกฯ คุยกับประชาชน” เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2549ว่า “คนที่จะให้ผมออกจากตำแหน่งนายกฯ ได้ ไม่ต้องหลายคนเลย คนเดียวให้ออกได้เลย นั่นคือพระเจ้าอยู่หัว ถ้าพระเจ้าอยู่หัวกระซิบผม รับสั่งคำเดียว....รับรองกราบพระบาทออกแน่นอน” ซึ่งครั้งนั้นหลายฝ่ายได้ออกมาตำหนิว่า เป็นคำพูดที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการยกตนเสมอพระองค์ท่าน รวมถึงอีกหลายครั้งต่อมาก็ตอกย้ำด้วยวาทกรรมที่มีต่อสถาบันมาโดยตลอด

แต่ครั้งที่หนักหนาสาหัสเห็นจะเป็นกรณีที่นายใหญ่ของคนเสื้อแดงวิดีโอลิงก์ด้วยคำพูดที่ว่า “อำมาตย์อายุ 80 กว่าแล้ว อีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว” อำมาตย์ในความหมายของเขาไม่น่าจะหมายถึง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษเพราะขณะนี้ พล.อ.เปรมเกิดในปี พ.ศ.2463 ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็มีอายุ 91 ปีแล้ว

หรือการที่เจ้ามูลเมืองผู้นี้กล่าวว่า “อำมาตย์ร่ำรวยแล้ว มีมรดกให้ลูกหลานอย่างเพียงพอแล้ว ปล่อยประชาชนไปเถอะ” อำมาตย์ในความหมายของเขาก็ไม่น่าจะหมายถึง พล.อ.เปรมอีกเช่นกัน เพราะพล.อ.เปรมไม่เคยมีลูกหรือมีเมีย

ดังนั้น ในทั้ง 2 กรณี นายใหญ่ของคนเสื้อแดงจึงไม่ได้หมายความถึง พล.อ.เปรมอย่างแน่นอน

แน่นอน หลายคนมองว่า นี่คือภัยแห่งความมั่นคงต่อสถาบันอันเป็นที่เคารพสักการะยิ่งของปวงชนชาวไทยและจำเป็นที่จะต้องจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ขบวนการล้มเจ้ากำลังเติบใหญ่ ในอีกมิติหนึ่ง นอกจากสังคมจะพุ่งเป้าไปที่ความเคลื่อนไหวของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบกว่า ในฐานะที่เป็นทหารเสือพระราชินี ในฐานะที่ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าธงชัยเฉลิมพลว่าจะปกป้องราชบัลลังก์ “บิ๊กตู่” จะทำได้มากไปกว่าการไปแจ้งความหรือสั่งการให้ ผบ.พล ร.1 และผบ.พล ร.2 ออกมาตบเท้าแสดงพลังหรือไม่ ขณะนี้สังคมยังเพ่งตามองไปที่ความเคลื่อนไหวของ “รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แห่งพรรคประชาธิปัตย์ว่า จะ “ดีแต่พูด” เหมือนเช่นกับทุกปัญหาที่ผ่านมาหรือไม่

เพราะในเวลานี้ แต่ละเสียง แต่ละสำเนียง และแต่ละการเคลื่อนไหวภายใต้การบัญชาการของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประกาศออกมาผ่าน “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รวมทั้งอีกหลายๆ คนก็ไม่เห็นได้ทำอะไรมากไปกว่า “การตีกินทางการเมือง” โดยใช้ประเด็นดังกล่าวไปในท่วงทำนองของการหวังผลในการเลือกตั้งเสียมากกว่า

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลมิได้จัดการกับแก๊งล้มเจ้าให้เห็นเป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำยังปล่อยให้คนเหล่านั้นออกมาเพ่นพ่านกระทำความผิดย่ำยีหัวใจของคนไทยทั้งประเทศอีกต่างหาก

นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพกล้าพูดหรือไม่ว่า 2 ปีของการเป็นรัฐบาลได้จัดการกับปัญหาขบวนการล้มเจ้าอย่างเต็มความสามารถ

เพราะถ้านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพดำเนินการอย่างจริงๆ จังๆ ขบวนการล้มเจ้าจะไม่มีทางขยายเหล่ากอแห่งความชั่วร้ายให้แพร่หลายออกไปเช่นนี้ แถมเป็นเหล่ากอที่มิได้มุดอยู่ใต้ดินเหมือนเช่นที่ผ่านมา หากแต่พร้อมยืนประจันหน้าชกอย่างมิเกรงกลัวอีกต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอภิสิทธิ์เองคงลืมไปแล้วกระมังว่า ตนเองได้เคยประกาศนโยบายเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันเอาไว้อย่างไรบ้างในวันที่ก้าวเดินจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านขึ้นสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรี

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 เวลา 18.30 น. หลังจากรับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ประกาศเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “....พี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่าน ผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมสำนึกเสมอครับว่า ผมเกิดมาเป็นข้าของแผ่นดิน ต้องสนองคุณแผ่นดิน และผมสำนึกมาตลอดว่าแผ่นดินไทยของเรานั้นร่มเย็นเป็นสุขตลอดมาก็ด้วยพระบารมี  วันนี้ผมยืนตรงนี้ในฐานะนายกรัฐมนตรี ผมขอยืนยันว่ารัฐบาลที่ผมเป็นผู้นำนั้นจะปกป้องสถาบันกษัตริย์ และจะเทิดทูนสถาบันนี้ มิให้ผู้ใดทำให้สถาบันนี้ไม่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองด้วยประการทั้งปวง”

ถามว่า นายอภิสิทธิ์และรัฐบาลของเขาเคยกระทำสิ่งที่เป็นรูปธรรมตามที่ประกาศเอาไว้หรือไม่
“บวร ยะสินทร”ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้องสถาบัน กล่าววิพากษ์ถึงการทำงานของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เอาไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า “ผมว่าสอบตกนะ ตอนที่เข้ามาแรกๆ นี่เขาปฏิญาณตนเลยว่าสิ่งแรกที่เขาจะทำคือการปกป้องสถาบันกษัตริย์ แต่จนถึงเดี๋ยวนี้ จวนจะหมดวาระอยู่แล้วก็ยังไม่เห็นทำอะไร กลายเป็นว่าการจาบจ้วงสถาบันกลับมีมากขึ้นและดูท่าว่าจะจัดการไม่ได้ แล้วที่จัดการไม่ได้ก็เพราะไม่ได้จัดการ ผมเองซึ่งเป็นประชาชนคนธรรมดาต้องไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ไปเป็นพยาน ทั้งที่เรื่องนี้ถือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน แล้วตามกระบวนการเนี่ยผมไม่ต้องไปร้องหรอก เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะเจ้าหนักงานของรัฐสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีกับคนที่หมิ่นสถาบันได้เลย” (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์)

หรือจะเป็นดังที่ “นายประพันธ์ คูณมี” โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า “ขณะนี้รัฐบาลพยายามที่จะโหนกระแสคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เพราะผมได้รับทราบข้อเท็จจริงมาว่า หน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติและตำรวจสันติบาล ได้รายงานข้อมูลของกลุ่มบุคคลหรือขบวนการล้มเจ้าโดยตรงต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด พร้อมเสนอแนวทางและมาตรการที่ดำเนินการต่อกลุ่มเหล่านี้ เพื่อขอความเห็นชอบเป็นนโยบายจากรัฐบาลในการดำเนินการ แต่ปรากฏว่า นายกฯ ได้หมกเรื่องไว้ ไม่ดำเนินการ แต่มาวันนี้ใกล้เลือกตั้งจึงหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อหวังผลในการสกัดคู่แข่งทางการเมืองเท่านั้น”

และข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นก็มิได้ผิดเพี้ยนไปจากคำวิพากษ์วิจารณ์เลยแม้แต่น้อย เนื่องเพราะท่ามกลางกระแสโหวตโนที่รณรงค์ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกไปใช้สิทธิ์โดยเลือกกากบาทในช่องไม่ประสงค์ละคะแนนให้ใครได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างกว้างขวางและกระทบต่อคะแนนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างมีนัยสำคัญนั้น การหยิบยกเรื่องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของม็อบเสื้อแดงที่นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ได้กลายเป็นประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์เห็นหนทางอันสดใสในการพลิกฟื้นสถานการณ์ให้กลับมาเป็นต่ออีกครั้ง

ด้วยเหตุดังกล่าว กระแสข่าวและการปล่อยข่าวในท่วงทำนองที่ว่า “ไม่เลือกเรา แก๊งล้มเจ้ามาแน่” หรือ “ไม่เลือกเรา เจ้าพังแน่” จึงดังออกมาจากย่านคลองประปาหนาหูขึ้นทุกที ทั้งนี้ เพื่อเป็นแรงบีบให้กับประชาชนที่ตัดสินใจทางการเมืองไปเรียบร้อยแล้ว เปลี่ยนใจอีกครั้ง

เฉกเช่นเดียวกับ “พรรคภูมิใจไทย” ของนายเนวิน ชิดชอบ ที่ประกาศชูธงนโยบายปกป้องสถาบันและใช้ในการทำกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอด ก็กำลังเผชิญกับ “หมัดพิฆาต” ที่ทุบตรงเข้าที่ศีรษะจังเบ้อเร้อในกรณีแจกภาพพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ในเวลานี้ เพราะมีรายงานข่าวแจ้งว่า รัฐบาลได้มีคำสั่งไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้งดกิจกรรมในการนำพระบรมฉายาลักษณ์ไปแจกจ่าย โดยทางจังหวัดได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหารือเป็นการด่วน และได้ขอให้นักการเมือง ผู้นำท้องถิ่นงดกิจกรรมดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้ แม้พรรคภูมิใจไทยจะอ้างว่าทำไปเพื่อความจงรักภักดี และให้ปวงชนชาวไทยได้ชื่นชนพระบารมีโดยทั่วกัน แต่เอาเข้าจริงแล้ว เมื่อเรื่องดังกล่าวดำเนินการโดยพรรคการเมือง ไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม

รวมกระทั่งถึงไม้เด็ดที่ถูกเสิร์ฟถึงที่โดยฝีมือของนายอภิสิทธิ์ที่สั่งการให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และดูเหมือนว่า กกต.จะเห็นดีเห็นงามด้วยกับการออกระเบียบห้ามพรรคการเมืองนำสถาบันเป็นเครื่องมือในการหาเสียงเลือกตั้งในทุกกรณี ซึ่งส่งผลทำให้เพลานี้ทั้งเบื้องต่ำและเบื้องสูงของพรรคภูมิใจไทยดูจะกระวนกระวายใจและออกอาการฮึดฮัดผิดสังเกต เนื่องเพราะทำให้แผนการที่วางเอาไว้ต้องชะงักงันลงไปในทันที

ดังเช่นที่  นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและแกนนำพรรคภูมิใจไทย กล่าวอย่างดึงดันว่า พรรคภูมิใจไทยจะยังคงเดินหน้านโยบายในการปกป้องสถาบันต่อไป เพราะพรรคมั่นใจว่าเป็นไปตามหลักของกฎหมายและพรรคได้ยึดแนวทางนี้มาตั้งแต่การจดทะเบียนพรรคการเมืองในปี 2552 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด กกต.ไม่ทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2552 แต่พรรคก็พร้อมรับฟังและปรับเปลี่ยนนโยบายหาก กกต.เห็นว่าไม่เหมาะสม ส่วนป้ายประชาสัมพันธ์หาเสียงที่ได้ชูนโยบายปกป้องสถาบันไปแล้วนั้น ในขณะนี้พรรคยังคงไม่เอาออกและจะยังคงเดินหน้านโยบายนี้ต่อไป หากยังไม่ได้รับคำสั่งจาก กกต.ว่าผิดกฎหมาย

นอกจากนั้นนายชัยยังได้เหวี่ยงใส่ กกต.ในลักษณะเอาสีข้างเข้าถูด้วยว่า “เจตนาของ กกต.ที่ต้องการให้ปกป้องสถาบันนั้น ผมไม่ทราบ เพราะ กกต.ไม่เคยเป็นผู้แทนราษฎร”

แต่จะอย่างไรก็ตาม ถ้าจะว่าไปแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นทั้งสองเรื่องย่อมมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ไม่ธรรมดา แต่เมื่อพิจารณาจากคำพูดของนายอภิสิทธิ์เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า มีหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการมาถึงครม.หรือไม่ เกี่ยวกับการที่พรรคการเมืองนำเรื่องการปกป้องสถาบันไปหาเสียง นายอภิสิทธิ์ก็เลี่ยงตอบคำถามตรงๆ โดยตอบว่า “ไม่ใช่คำพูดอย่างนั้น”

เช่นเดียวกับเมื่อถามว่า พรรคการเมืองที่ไปขึ้นป้ายขึ้นคัตเอาต์ใช้สถาบันหาเสียงกันแล้ว แล้วนายอภิสิทธิ์ตอบว่า ได้บอกไปแล้วให้ระมัดระวังและคิดว่าที่ดีที่สุดเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นกติกาไปเลย ถ้า กกต.ทำจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุด” ซึ่งเมื่อตีความหมายจากคำตอบของนายอภิสิทธิ์ก็ย่อมเห็นเค้าลางของเรื่องราวทั้งหมดได้เป็นอย่างดี

ประเด็นสำคัญซึ่งกลายเป็นคำถามใหญ่ที่สังคมต้องช่วยกันขบคิดต่อไปก็คือ การโหนกระแสสถาบันเยี่ยงนี้มีความเหมาะสมหรือไม่และจะก่อให้เกิดผลตามมาในแง่มุมใดบ้าง

เพราะนับวันกลยุทธ์ในการโหนกระแสสถาบันจะมีพัฒนาการที่ซับซ้อนมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งการทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสถาบันให้การสนับสนุนพรรคการเมืองของตัวเองด้วยการส่งคนระดับ “เจ๊” เข้ามาปล่อยข่าวในภาคประชาชน ทั้งๆ ที่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น

บ้างก็ทำท่าทีขึงขังในการจัดการกับขบวนการล้มเจ้าเพื่อสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชน ทั้งๆ ที่ตลอดระยะเวลาที่ตัวเองเป็นใหญ่กลับมิได้จัดการกับเหล่ากอแห่งความชั่วร้ายนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมเลยแม้แต่น้อย ทั้งยังปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญกับภาวะข้าวยากหมากแพงจนเดือดร้อนกันไปทั่วทุกหัวระแหง

บ้างก็ประกาศนโยบายเสียสวยหรูเรื่องการปกป้องสถาบัน เป็นประธานในการจัดงานสำคัญๆ ให้กับสถาบัน แต่ในอีกทางหนึ่งตัวเองกลับแสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองสารพัด ทั้งทุจริตคอรัปชั่นในสารพัดโครงการ ทั้งแต่งตั้งโยกย้ายพรรคพวกของตนเองไปนั่งเก้าอี้ใหญ่โตในหน่วยงานต่างๆ

แน่นอน คงต้องย้อนกลับไปที่คำถามเดิมว่า การโหนกระแสสถาบัน แต่มีพฤติกรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่สถาบันทำให้กับประชาชน มีความเหมาะสมหรือไม่และจะก่อให้เกิดผลตามมาในแง่มุมใดบ้าง

ดีหรือร้าย วิญญูชนย่อมรู้คำตอบด้วยตัวเองอยู่แล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น