xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายจากคนไทยในสหรัฐฯ ถึง อาจารย์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

เผยแพร่:   โดย: บรรจบ เจริญชลวานิช

อาจารย์คงจำผมไม่ได้ แต่ขอให้อดทนอ่านหน่อยนะครับ ระยะหนึ่ง ผมได้มีโอกาสกลับไปอยู่ประเทศไทย ผมจำชื่อรายการที่อาจารย์จัดในเวลานั้นไม่ได้ แต่จำภาพอาจารย์ได้ สมัยนั้นอาจารย์แต่งตัวเหมือน scholar ในอเมริกา ผูกโบว์หูกระต่าย ใส่ suspender มือถือปากกาหมึกซึม Montblanc ด้ามอวบ ตามแบบฉบับ นักวิชาการ นักการเมือง มีระดับ ผมรู้สึกนิยมอาจารย์มากยิ่งขึ้น ในสาระและเหตุผล ที่อาจารย์ นำเสนอ

ประมาณ ปี 2550 อาจารย์ออกเดินสายมาอเมริกา พร้อมกับอาจารย์ พิภพ ธงชัย อาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหวัน คุณอัญชะลี ไพรีรัก และคุณกมลพร วรกุล ผมโชคดี ได้มีโอกาสเป็นพิธีกรให้อาจารย์ทั้งสี่ท่าน... การมาอเมริกาในครั้งนั้น อาจารย์คงจำได้ว่า มีปัญหาขัดแย้งในคณะของอาจารย์เล็กน้อย จนกระทั่งผู้หญิงคนหนึ่งแสดงอากัปกิริยาไม่เหมาะสม จนเป็นที่โจษขานไปทั่วกรุงวอชิงตัน ......

เมื่อมีโอกาสอยู่ลำพัง ผมเปรยกับอาจารย์ว่า “อาจารย์ครับ ทำไมเขาถึงเป็นแบบนี้ มารยาทและการแสดงออก ช่างขัดกับภาพบนเวทีของเขามาก แล้วอย่างนี้จะให้ผมเชื่อในสิ่งที่เขาพูดได้อย่างไร” อาจารย์ให้เกียรติเตือนสติผมว่า “เฮ้ย คุณคิดอย่างนั้นไม่ได้ เรื่องส่วนตัวกับเรื่องงาน มันต้องแยกกัน” ผมเป็นคนหัวแข็ง ผมไม่เชื่อ แต่ผมก็ไม่ขัดอาจารย์ แต่สิ่งที่อาจารย์ พูด ประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับความชั่วร้าย ของอดีตนายก นักโทษชาย ทักษิณ ทำให้ผมมั่นใจในความเที่ยงธรรม เป็นคนตรง ของอาจารย์มากขึ้น ......

อาจารย์ครับ ผมขอพูดแทนพวกเราส่วนใหญ่ในแถบกรุงวอชิงตันว่า ทุกวันนี้เรายังยืนอยู่ที่เดิม เรายังอยู่กับความถูกต้อง แต่เรารู้สึกว่าจุดยืน ของอาจารย์นั้นเคลื่อนคล้อยจากจุดเดิมไปแล้ว จะด้วยเหตุใดผมไม่ก้าวล่วง...

วันหนึ่งผมได้เห็นความพยายามชี้นำเพื่อปกป้อง นโยบายชั่งไข่ ของนายกอภิสิทธิ์ อาจารย์ถึงกลับฉีกเอาผ้าอนามัยขึ้นซับเหงื่อ ทั้งยังคะยั้นคะยอให้ อาจารย์ วันชัย สอนศิริ ทำตาม จน อ.วันชัย รับมุขไม่ทัน หน้าตากระอักกระอ่วน เมื่ออาจารย์พยายามลดการโจมตีนายกรัฐมนตรี ในเรื่องคุณราตรีและคุณวีระ อาจารย์ใช้ความชาญฉลาด เชิญ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ มาออกรายการ และถามนำให้คนสมถะเช่น ร.ต.แซมดิน เพื่อชี้นำให้เห็นว่าการติดคุกเปรย์ซอร์ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ......

อาจารย์ครับ ผมขอถามอาจารย์ คำถามเดียวครับ ว่าหากตัวอย่างที่ผมยกมาทั้งสองนั้น เป็นการกระทำของนายทักษิณ อาจารย์จะทำเช่นเดียวกันหรือไม่...

หวังว่าอาจารย์คงไม่ตอบผมว่า “เรื่องงานและเรื่องส่วนตัว ต้องแยกกัน” นะครับ เพราะผมอาจเข้าใจผิดว่า เรื่องของนายกอภิสิทธิ์ เป็นเรื่องส่วนตัวของอาจารย์

ก่อนจะจบ ผมเชื่อว่า อาจารย์คงเคยได้ยิน เรื่อง “sawdust pudding” มาแล้ว แต่อยากเล่าซ้ำสักหน่อย ในระยะปลายการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เบญจมิน แฟรงคลิน ลงหลักปักฐานอยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย ทำอาชีพเป็นสื่อ พิมพ์หนังสือ Almanac ขาย มียอดขายถึงหมื่นเล่มต่อปี เนื่องจากระยะนั้น เป็นช่วงตื่นตัว ในการต่อต้านอังกฤษ บทความที่แฟรงคลินเขียน มักกระทบกระแทกใจ พวกนิยมอังกฤษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล ทั้งทางการเงินและการเมือง และส่วนใหญ่เป็นสมาชิกหนังสือ Almanac ลงโฆษณาใน Almanac ถึงขนาด ข่มขู่ แฟรงคลินว่า จะเลิกสนับสนุน Almanac ......

เมื่อคำขู่นี้เข้าหูแฟรงคลิน แฟรงคลินก็เชิญพวกนิยมอังกฤษ มาทานอาหารที่บ้าน กระหยิ่มใจว่าแฟรงคลินจะพยายามสมานสัมพันธ์ พวกนิยมอังกฤษไปบ้านแฟรงคลินด้วยความลิงโลดใจ แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าบนโต๊ะ มีเพียง “sawdust pudding” ถาดหนึ่งกับน้ำหนึ่งเหยือก

Sawdust pudding ผมขอเรียกไทยๆ ว่า “พุดดิ้งขี้เลื่อย” เพราะมีรสชาติเหมือนขี้เลื่อย จืด ฝืดและหยาบ เป็นอาหารที่คนจนๆ ต้องกินเพื่ออยู่ เป็นอาหารที่พวกนิยมอังกฤษไม่เคยรู้จัก......

เมื่อเบญจมิน แฟรงคลิน เชื้อเชิญให้พวกนิยมอังกฤษนั่งแล้ว จึงตักพุดดิ้งใส่จานพร้อมน้ำให้แขกแต่ละคนที่มาในวันนั้น แล้วก็กวาดส่วนที่เหลือลงจานของตน ก้มหน้าก้มตากินไม่พูดจาจนเกลี้ยง เงยหน้าขึ้นจิบน้ำล้างคอ มองเห็นความพิพักพิพ่วนบนใบหน้าแขก (น่าจะไม่ผิดจากใบหน้า อ.วันชัย ในวันที่ อาจารย์ยื่นผ้าอนามัยให้ท่านเช็ดเหงื่อ) และพุดดิ้งที่ไม่พร่องจากจานของแขกเหล่านั้นเลยแม้แต่นิดเดียว แฟรงคลินจึงกล่าวขึ้นว่า "My friends, any one who can subsist upon sawdust pudding and water, as I can, needs no man’s patronage." เพื่อนเอ๋ย หากใครสามารถเลี้ยงชีพด้วย พุดดิ้งขี้เลื้อย อย่างที่ฉันทำได้แล้ว ไม่ต้องการ การอุปถัมภ์จากใคร

อาจารย์คงทราบว่า แฟรงคลิน เป็นนักสื่อสารมวลชน เป็นบิดาผู้สร้างประเทศอเมริกา และเป็นคนเดียวที่ลดบทบาทของตนลงด้วยความสมถะ ไม่รับตำแหน่งใดๆ หลังอเมริกาได้เอกราช ด้วยความซื่อตรงต่อหน้าที่สื่อของตน ต่อชาติบ้านเกิด เบญจมิน แฟรงคลิน เป็นคนที่ประสพความสำเร็จในชีวิต มากกว่าประธานาธิบดี หมายเลข ๑-๓ ของสหรัฐอเมริกา เขายังคงอยู่ในใจ อยู่บนธนบัตร อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ของอเมริกา และจะอยู่ไปอีกนานเท่านาน...

เราได้แต่หวังว่าประเทศของเรา จะโชคดีมีสื่อประเภทที่พร้อมจะกิน Sawdust pudding เพิ่มจาก ASTV อีกสักราย

ด้วยความเคารพ
บรรจบ เจริญชลวานิช
๑๙.๐๔.๕๔
กำลังโหลดความคิดเห็น