xs
xsm
sm
md
lg

ระบบกู้ภัยภาคประชาชน (1)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

“ภารกิจเดินเท้า 4 กม.เพื่อเข้าไปบ้านวังส้านหมู่ที่ 10 ต.ฉลอง อ.สิชล 9 วันที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก และเราก็เดินขึ้นไปได้เป็นทีมแรก ผ่านทางที่โคลนถล่ม ถนนขาด ปีนเขา แต่เราก็ไปถึง พรุ่งนี้เราจะแบกอาหารแห้ง เครื่องปรุง ผ้าอนามัย ยารักษาโรค นมเด็ก”

“เราไปช่วยอพยพชาวบ้านเผียนบน น้ำตกวังด้ง หมู่ที่ 10 และหมูที่ 15 ต.เทพราช อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ชาวบ้านติดอยู่ 9 วัน จนเพื่อนๆ สามารถช่วยออกมาได้ โดยการนั่งแพที่ชักรอกด้วยเชือก ทุกคนปลอดภัย ตอนนี้รวมตัวกันทั้งหมดที่โรงเรียนบ้านเผียน อ.นบพิตำ จ.นครฯ” โดย : ทรงวุฒิ พัฒแก้ว

“จุดเป็นสะพานข้ามคลองกลายหมู่ที่ 2 ต.นบพิตำ จ.นครฯ พี่น้องประชาชนด้านในพื้นที่สะพานขาด ถูกตัดขาด การช่วยเหลือต้องใช้เครื่องบิน ทางถนนต้องใช้วิธีการ ส่งต่อด้วยคนและหากชุมชนไหนที่มีรถเหลืออีกฝั่งคลองก็จะออกมารับสิ่งของบริจาค หมู่บ้านที่ไกลสุดระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรจากจุดนี้ชื่อหมู่บ้านทับน้ำเต้า วันนี้มืดแล้วกลับบ้านก่อนดีกว่าพรุ่งนี้ว่ากันใหม่”

คลองกลายขาดสะบั้น กรุงชิงมีเส้นทางเข้าได้เพียงเส้นเดียว คือ สะพานข้ามคลองกลายที่โรงเหล็ก แต่ขาดสะบั้นแล้ว ภาพนี้คือ วันที่สองที่หน่วยช่วยเหลือสามารถเข้าไปได้ หลังจากโดนทิ้งมา 7 วัน” โดย : รังสิต ทองสมัคร์

น้ำท่วมยอดเหลือง 1.4-1.54 เมตร ยอดเหลือง เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ริมเชิงเขาหลวง ถูกน้ำป่าพัดถนน สะพานขาด กลายเป็นเกาะ 3 เกาะ ทางเดียวที่ใช้สัญจรข้ามเกาะได้คือ ห้อยโหนบนเชือก...” โดย : รังสิต ทองสมัคร์

“ทีมงาน “คนตรังใจโต” อยากได้เรือท้องแบนติดเครื่องยนต์ เพื่อนำอาหารไปส่งให้พี่น้องที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เรามีอาสาสมัคร เรามีวิทยุสื่อสาร แต่เราไม่มีเรือท้องแบน ติดเครื่องยนต์ ไม่สามารถนำอาหารไปส่งถึงมือได้ ขณะที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เพียงพอ ณ เวลานี้ และน้ำจะท่วมไปอีก 4 วันเป็นอย่างน้อย ในระดับที่หลายครัวเรือนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ใดช่วยชี้แนะได้บ้างคะ” โดยริ

“ผมไปตำบลนบพิตำ กรุงชิง มาวันนี้พี่น้องเดือดร้อนมาก เดินทางด้วยคอปเตอร์ทหารอย่างเดียว เอาอาหารแห้งไปให้พี่น้องเลยถ่ายรูปมาให้ดู ทางขาดหมดทุกเส้นทาง” โดย : Wanchai P Wanchai P

“วันนี้ ขออาสาสมัครเดินเท้าเพิ่มเป็น 30 คนนะค่ะโทร.แจ้งมาที่ศูนย์กระจายความช่วยเหลือท่าศาลา-สิชล-นบพิตำ ผู้ประสานงาน คุณจินดา จิตตะนัง (เจี๊ยบ) 08-6952-5258 ก่อนเวลา 10.00 น. เป็นชายยิ่งดี แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ ขอบคุณทุกคนนะคะ” โดย Sabe Dawood

“ทีมกู้ภัยน้ำเค็มและเครือข่ายสึนามิออกเดินทางไปสุราษฎร์ฯ แล้วพร้อมเรือกู้ภัย 2 ลำ” Mai Jong

“เมื่อคืนส่งหมออาสาจากแพทยสภาไปแล้ว 5 ท่านตอน 5 ทุ่ม เช้านี้พยายามโทร.หาโทร.ไม่ติดเลย ชักเริ่มเป็นห่วง” โดย Suranuch Thongsila

นี่คือส่วนหนึ่งของข้อความการสื่อสารกันในเหล่าภาคประชาชน ที่ระดมสรรพกำลังต่างๆ ลงไปช่วยพี่น้องที่กำลังประสบภัยพิบัติอยู่ในขณะนี้ และนำสิ่งที่ไปพบเห็นซึ่งประกอบด้วยภาพ คำบรรยาย ที่ทำให้สังคมภายนอกได้รับรู้ ผ่านระบบการสื่อสารที่เรียกว่า “Face Book” และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่พอจะทำได้

ในขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนบทความชิ้นนี้ เป็นเช้าวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2554 หลายวันมาแล้วที่พวกเราภาคประชาชนที่ทำงานพัฒนาสังคม ไม่ว่าในด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านต่างๆ ได้ผนึกกำลังกันเท่าที่พอจะสื่อสารและติดต่อกันได้ บอกกล่าวสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ที่ประสบภัยจากน้ำท่วมหนักในครั้งนี้ ใครทีมไหนที่รวมตัวกันได้ก่อนก็ลงพื้นที่ไปยังหมู่บ้านเป้าหมายที่ประสบภัย ใช้ระบบสื่อสารต่างๆ ทั้งโทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร กล้องถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ แล้วนำมากระจายชี้เป้าและสื่อสารให้สาธารณะได้รับรู้เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่

เราพบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพี่น้องในชุมชนหนักหน่วง รุนแรง และเลวร้ายที่สุดเท่าที่มีมา (อาจจะพอๆ กับเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในฝั่งอันดามันเมื่อปี 2547) และคาดการณ์กันว่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีถึงจะฟื้นสภาพของชีวิตและความเป็นอยู่ของพี่น้องให้กลับมาปกติดังเดิมได้

ปลายปีที่แล้วพายุดีเปรสชั่นพัดเข้าฝั่งในพื้นที่สงขลา พัทลุง และลงไปตอนล่างแถวๆ ปัตตานีและนราธิวาสบางส่วน ได้ส่งผลให้เรือกสวนไร่นา สวนยางพาราสวนผลไม้ บ้านเรือน สถานที่ราชการ วัด โรงเรียนตลอดถึงสัตว์เลี้ยงบนบกและในน้ำ กะชังเลี้ยงปลาของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายอย่างหนัก สาธารณูปโภคไม่ว่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ถูกตัดขาด การช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการเป็นไปอย่างล่าช้า ทุลักทุเลชุลมุนวุ่นวายไปทุกพื้นที่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กระบี่ สุราษฎร์ธานีและบางส่วนของพัทลุงในวันนี้ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

คงจะต้องถึงเวลาแล้วที่ภาคประชาชนทุกภาคส่วน จะได้หันมาสนใจและศึกษาแนวทางในการสร้างระบบเฝ้าระวัง การสร้างระบบเตือนภัย ระบบกู้ภัย ในส่วนของภาคประชาชนให้เกิดขึ้นให้กว้างขวาง ให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และการเรียนรู้ที่ทุกคนต้องรู้และตระหนัก เพราะหากเราไม่เตรียมความเข้าใจ ไม่เตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ไว้ โดยหวังและมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว อยากฟันธงว่ามันเกินกำลังและศักยภาพของรัฐที่มีอยู่ และก็ไม่ใช่วิธีคิดที่ถูกต้องในการเตรียมการรับมือกับมหันตภัยต่างๆ ที่จะตามมาอีกแน่นอน.
กำลังโหลดความคิดเห็น