ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
แม้ว่า “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภ. 4 สน.)” ภายใต้การนำของ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาคที่ 4 จะใช้นโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วยการก้าวข้าม “ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น)”โดยให้ความสนใจในการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน และขบวนการกลุ่มอิทธิพล ผลประโยชน์ที่มีเปรียบเสมือนปุ๋ย น้ำและอากาศที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มบีอาร์เอ็น
การจัดการกับขบวนการทั้ง 3 ขบวนการ จึงเท่ากับเป็นการปิดสกัดเส้นเลือดใหญ่ หรือ “กระเป๋าเงิน” ของบีอาร์เอ็น ส่วนการจัดการกับบีอาร์เอ็น มีการกำหนด “ยุทธศาสตร์” และ “ยุทธวิธี” ที่ชัดเจนอยู่แล้ว การที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่หายใจเข้า-ออกเป็นบีอาร์เอ็น จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการเอาชนะบีอาร์เอ็นในที่สุด
แต่ปัญหาหนึ่งที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต้องไม่มองข้ามและใช้นโยบายเร่งด่วนในการแก้ปัญหาคือ ปัญหาภายในของกองทัพภาคที่ 4 หรือของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งเป็นเหมือน “สนิม” ที่เกิดจากเนื้อในตนเอง และบั่นทอนประสิทธิภาพของหน่วยงานมาโดยตลอด
อย่างการปล้นปืนของกองกำลังทหารหลายครั้ง มีข้อสังเกตให้เห็นว่า หน่วยที่ตกเป็นเป้าของขบวนการเป็นกำลังทหารของ “กองพล 15” เช่น การปล้นปืนและการละลายฐานกองร้อยพระองค์ดำ ที่ ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ และการปล้นปืนครั้งล่าสุดที่ฐานปฏิบัติการ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
มีข้อสรุปตรงกันว่าทั้ง 2 ครั้งที่ถูกปล้น กำลังทั้ง 2 หน่วยมีความไม่สมบูรณ์ในการป้องกันตนเอง โดยปล่อยให้ศัตรูโจมตีและเข้าประชิดตัวโดยไม่มีการป้องกัน เช่น การปล้นปืนที่ฐานปฏิบัติการ ต.บองอ แนวร่วมบุกเข้าถึงตัวทหารทั้งหมด บังคับเอาปืนและถอดเสื้อผ้าชุดพรางและเสื้อเกราะ ก่อนที่จะรุมซ้อมหัวหน้าชุดจนบาดเจ็บสาหัส โชคดีที่แนวร่วมคิดเอาแต่ ยุทโธปกรณ์ ชีวิตของทหารทั้ง 7 นายจึงรอดมาได้อย่างฉิวเฉียด
มีการวิเคราะห์สภาพของกองพล 15 ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และถูกย้ายมาสร้างกองพลใหม่ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี โดยมีภารกิจรับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างถาวร แทนกำลังของกองทัพภาค 1, 2 และ 3 ในอนาคตว่า
เจ้าหน้าที่จำนวนมากของกองพลที่ 15 ซึ่งเคยอยู่อย่างสบายๆ ในพื้นที่เดิม เมื่อถูกโยกย้ายมาอยู่ในที่ตั้งแห่งใหม่ที่ จ.ปัตตานีพร้อมทั้งครอบครัว ต่างไม่มีความสุขกับสถานที่ใหม่ ชีวิตใหม่ เพราะเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีความปลอดภัย ทั้งตัวเองและครอบครัว กำลังจำนวนมาก ทั้งสัญญาบัตรและประทวนต่างต้องการย้ายออกไปอยู่ยังหน่วยอื่นๆ มีการวิ่งเต้น มีการวิ่งเข้าหาเส้นสายและผู้หลักผู้ใหญ่ จนกำลังขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่หายไปกว่าครึ่ง
ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่กำลังของกองร้อย หรือหน่วยย่อยต่างๆ ของกองพล 15 อาจจะมีกำลังพลจริงๆ น้อยกว่ากำลังพลในบัญชี เช่น กำลังพลของ “กองร้อยพระองค์ดำ” ที่ถูกปล้นปืนและสลายค่ายในวันที่เกิดเหตุ มีกำลังเพียง 19 คน จากทั้งหมด 30 กว่าคน ทั้งที่หนึ่งกองร้อยต้องมีกำลังอย่างน้อยกว่า 80 คน กำลังเหล่านี้หายไปไหน คำตอบก็คือ ไม่มีอยู่ในพื้นที่จริง ซึ่งศัพท์ของทหารคือ “บัญชีผี”
นอกจากนั้น กองพลที่ 15 ณ วันนี้ คือ กองพลที่ไร้หัว เพราะ “ผบ.พล” อยู่ระหว่างการเรียน วปอ. ภารกิจทั้งหมดจึงอยู่ที่ “รอง ผบ.พล” ซึ่งไม่ใช่ ผู้บังคับบัญชาและผู้รับผิดชอบตัวจริง
รวมทั้งกำลังของกองพลที่ 15 ยังต้องมีการฝึกทบทวน ฝึกยุทธวิธีในการสู้รบกับแนวร่วมในพื้นที่ เพื่อให้มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ เพราะสงครามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสงครามกองโจร เป็นการสู้รบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนที่มีความคิดต่าง เห็นต่างกับรัฐ เป็นสงครามแย่งชิงมวลชน ไม่ใช่การสู้รบกับผู้รุกรานตามแนวชายแดน เช่น ไทย-พม่า
ขณะนี้ยังพบว่า กองพลที่ 15 ยังไม่พร้อมในการเข้ารับผิดชอบพื้นที่อย่างเต็มตัว จนกลายเป็น “จุดอ่อน” เป็น “ช่องว่าง” ตกเป็นเป้าหมายของแนวร่วมในการปล้นปืนเพื่อนำไปติดอาวุธสู้รบกับเจ้าหน้าที่รัฐ
ในขณะที่กองกำลังของ “ทหารพราน” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขีดความสามารถยังไม่เหนือกว่ากองกำลัง “อาร์เคเค” และ “คอมมานโด” ของขบวนการบีอาร์เอ็น** ทหารพรานส่วนหนึ่งเข้ามาสู่สนามรบใน 3 จังหวัด เพราะตกงาน และส่วนหนึ่งเพราะอยู่บ้านไม่ได้ มีเพียงส่วนเดียวเท่านั้นที่เข้ามาเพราะจิตอาสา เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบ้านเกิดตนเอง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการทหารพรานแบบของ “ค่ายปักธงชัย” ในอดีตที่มีขีดความสามารถรุก รบและรับ กับแนวร่วมของขบวนการได้อย่างแท้จริง
เช่นเดียวกับ “อส.” และ “ชรบ.” แม้ว่ารัฐจะมีการรับสมัคร อส.และ ชรบ. เป็นจำนวนมาก แต่ถ้าตรวจสอบกันอย่างจริงๆ และโปร่งใสจะพบว่า เป็นการมีมากที่ปริมาณ แต่ไม่ได้มากที่คุณภาพและประสิทธิภาพ ความมากดังกล่าวจึงไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นอย่างที่คิด ที่หวังและที่ต้องการ
วันนี้ กอ.รมน.อาจจะประเมินว่า ปฏิบัติการได้ผลจากการที่ควบคุมตัวแนวร่วมมาได้จำนวนหนึ่ง และสอบขยายผลเข้าปิดล้อมที่หลบซ่อนของแนวร่วมด้วยกัน รวมถึงจับตายเพิ่มมากขึ้น แต่โดยข้อเท็จจริงแนวร่วมที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นปลายแถว เช่น ทำหน้าที่โปรยตะปูเรือใบ โค่นต้นไม้ขวางถนน เผาตู้โทรศัพท์ เผาศาลาริมทาง ซึ่งเรียกว่าเป็น “แนวร่วมนอกขบวนการ”
แต่ในส่วน “แนวร่วมในขบวนการ” ที่ผ่านปอเนาะและสถานศึกษาบางแห่งที่เป็น “แนวร่วมฝังชิป” กอ.รมน.ยังโยกคลอนไม่สำเร็จ ดังนั้นการวิสามัญจึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะอาจจะเข้าตำราเกิดหนึ่ง ตายสิบ เป็นการเพิ่มจำนวนแนวร่วมเครือญาติให้มากขึ้นก็เป็นได้
ความสำเร็จของการดับไฟใต้ นอกจากการมุ่งจัดการกับปัญหาภายนอก คือกำจัดบีอาร์เอ็น ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน กลุ่มอิทธิพล ฯลฯ แล้ว เรื่องภายในของ กอ.รมน. ความโปร่งใสของการใช้งบประมาณ และเรื่องความไม่เป็นธรรมในหน่วยกำลังระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย รวมถึงเรื่องขวัญกำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ถ้าจัดการกับ “ปัญหาภายใน” ไม่ได้ อย่าได้หวังว่าจะพบความสำเร็จในการดับไฟใต้ เพราะ 7 ปีของไฟใต้ที่โชนเปลวระลอกใหม่ ปัญหาและอุปสรรคที่แท้จริงล้วนเกิดจากเรื่องภายในของกองทัพทั้งสิ้น