รายงาน
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
“คาร์บอมบ์” และ “จยย.บอมบ์” กลางเมืองยะลาและนราธิวาส 3 ครั้งติดๆ กัน ได้ส่งผลสะเทือนไปยังหน่วยงานและบุคคลหลายๆ คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบ และแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเห็นได้ชัด
ไม่เพียงแต่ “พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่ถูกสังคมตั้งข้อสงสัยถึงขีดความสามารถที่แท้จริงว่า เหมาะสมต่อการทำหน้าที่แก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือเกิดความไร้เสถียรภาพใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และไร้ “เอกภาพ” แห่งการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในพื้นที่หรือไม่
และแม้แต่ “ภานุ อุทัยรัตน์” รักษาการเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่น้อยครั้งจะถูก “พาดพิง” ถึง ครั้งนี้ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยังอดไม่ได้ที่จะตวัด “ไม้เรียว” พร้อมสำทับว่า “ศอ.บต.” และ “ฝ่ายปกครอง” ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาให้มากกว่านี้ ไม่ใช่ปล่อยให้ทหาร ตำรวจ รับผิดชอบเพียงลำพัง
แต่...ที่สะเทือนที่สุดคือ การออกมาทิ้ง “บอมบ์” จาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นำโดย “ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ” ส.ส. จ.ยะลา ที่เรียกร้องให้ “กองทัพรับผิดชอบ” โดยให้มีการเปลี่ยนตัว “ผบ.ทบ.” เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างได้ผล
ผลที่ตามมาจากการออกมาเคลื่อนไหวของ “ส.ส.” กลุ่มนี้ คือ ความไม่พอใจของคนใน “กองทัพ” ที่สะท้อนออกมา จน “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงรู้สึกได้ จนมีการเรียก “ส.ส.” กลุ่มที่เรียกร้องให้ “เปลี่ยนตัว” “ผบ.ทบ.” มาพบเพื่อ “คาดโทษ” ในข้อหาที่สร้างความไม่พอใจให้แก่คนใน “กองทัพ”
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงการ “พัฒนา” ไปข้างหน้าของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวัน “กองทัพ” ยิ่งจะตกเป็น “จำเลย” ของสังคม เพราะระยะเวลา 7 ปีของสถานการณ์แห่งความไม่สงบ “ 4,000กว่าชีวิต” ที่สูญเสียมีทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือนและประชาชน กับเงินงบประมาณกว่า 100,000 ล้านบาท ที่สูญเสียไป จะต้องมีผู้รับผิดชอบ
เมื่อรัฐบาลแต่ละรัฐบาลที่ผ่านมาต่างไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อการดับ “ไฟใต้” และต่างมอบหมายให้ “กองทัพ” เป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น สุดท้าย “จำเลย” ในสายตาของประชาชนคือ “ทหาร” และ “ทหาร” ที่ว่าย่อมหมายถึง “กองทัพ” นั่นเอง
การที่ผู้แทนประชาชนอย่าง “ส.ส.” ในพื้นที่รวมทั้งองค์กรต่างๆ พุ่งเป้าไปยัง “กองทัพ” และเห็นว่ากองทัพ “ล้มเหลว” กับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการ “เข้าทาง” ของ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ตามที่ต้องการ เพื่อที่ขบวนการจะได้ใช้เป็น “เงื่อนไข” ให้เกิดการผลักดันกำลังของ “กองทัพ” ออกจากพื้นที่
รวมทั้งเป็น “เงื่อนไข” ในการโฆษณาชวนเชื่อต่อมวลชนถึงการ “สูญเปล่า” ของ “งบประมาณ” และ “ปลุกระดม” ให้เห็นว่าสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ความ “ไม่จริงใจ” ในการแก้ปัญหาของ “กองทัพ” แต่เป็นการ “เลี้ยงไข้” เพื่อหวัง “งบประมาณ” จำนวนมหาศาลที่มาจาก “ภาษี” ของประชาชน
และสิ่งที่ “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” เรียนรู้จากการก่อความไม่สงบคือ การฆ่าคน และการก่อวินาศกรรมในเขต “ชนบท” หรือพื้นที่รอบนอก แม้ความเสียหายจะมีมาก แต่ผลสะเทือนต่อ “กองทัพ” กลับมีน้อยยิ่ง ไม่เหมือนกับการก่อวินาศกรรมในตัวเมืองที่เป็นย่านธุรกิจการค้า เนื่องจากผู้ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มทุน นักธุรกิจ ที่มีความใกล้ชิดกับ “กลุ่มอำนาจ” ใกล้ชิดกับ “นักการเมือง”
ผลสะเทือนจาก “คาร์บอมบ์” ในตัวเมืองทั้ง 3 ครั้ง จึงสะท้อนผ่านไปยัง “ส.ส.” ในพื้นที่ และส่งผลสะเทือนไปสู่ “กองทัพ” โดยตรง
ดังนั้น สิ่งที่กองกำลังในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ไม่ว่าจะเป็น กองบัญชาการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศชต.” และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และอื่นๆ ต้องเตรียมตัวรับมือคือ การก่อความไม่สงบจะเกิดขึ้นในตัวเมืองมากยิ่งขึ้น เพราะ ฝ่ายผู้ก่อเหตุเห็นถึงผลสะเทือนที่ชัดเจน
โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่กำลังจะมีการประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งครั้งใหญ่ในไม่ช้านี้ นักการเมืองจะ “หยิบยก” เอาความ “ล้มเหลว” ของ “กองทัพ” และความ “ล้มเหลว” ของ “รัฐบาล” ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อใช้ในการ “หาเสียง” มากยิ่งขึ้น โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงแทนที่จะเป็น “รัฐบาล” กลับกลายเป็น “กองทัพ” เพราะ ภาพที่ชาวบ้านเห็นจน “ชินตา” คือกำลัง “ทหาร” ที่เดิน “ขวักไขว่” ในพื้นที่
หาก “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” คิดที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบให้ทุเลาเบาบางลง ต้องปรับยุทธวิธี ทั้งการป้องกันการตอบโต้การข่าว การต่อต้านข่าวกรอง และการเข้าถึงมวลชน ให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่และข้อเท็จจริง ต้องแยกแยะวิธีการที่จะใช้ในตัวเมืองกับพื้นที่รอบนอกให้ออกจากกัน ต้องมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคประชาชนอย่างจริงๆ จังๆ โดยเฉพาะ “งบประมาณ” ต้องไม่กระจุกตัวอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างที่มีการ “นินทา” กันในทุกวงการอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ถ้า “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ยังหายใจเข้า-ออกเป็น “บีอาร์เอ็นฯ” ทุ่มเททุกสรรพสิ่งเพื่อสู้รบกับ “บีอาร์เอ็นฯ” โดยละเลยปัญหา “ทับซ้อน” ที่มีอยู่มากมาย เช่น ขบวนการค้ายาเสพติด ขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ขบวนการธุรกิจผิดกฎหมาย ขบวนการ “อิทธิพล” ที่ขยายสาขาแทรกซึมไปทุกส่วนราชการ โดยการ “แบ่งปัน” ผลประโยชน์ให้แก่ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนที่ส่งเสริม “บีอาร์เอ็นฯ” ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย “ก้าวข้าม” ปัญหาทั้งหมดนี้ และไปมุ่งเป้าอยู่กับ “บีอาร์เอ็นฯ” ย่อมเป็นการกำหนด “ยุทธศาสตร์” ที่ผิดพลาดอย่างแน่นอน
ไม่เถียงว่า “บีอาร์เอ็นฯ” คือ “แกนนำ” ขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เป็นผู้ “สั่งการ” และสร้าง “แนวร่วม” เพื่อก่อความไม่สงบให้เกิดขึ้น แต่ถ้า “บีอาร์เอ็นฯ” ปราศจากการหนุนเสริมจาก “กลุ่มขบวนการนอกกฎหมาย” ทั้ง 4 กลุ่ม ปฏิบัติการของ “บีอาร์เอ็นฯ” จะด้อยประสิทธิภาพลง และ “กองทัพ” จะ “จัดการ” ต่อ “บีอาร์เอ็นฯ” ได้ง่ายขึ้น
ดังนั้น สิ่งที่ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ต้องทำคือ การ “ก้าวข้าม” “บีอาร์เอ็นฯ” ให้ได้เพื่อที่จะมี “ชัยชนะ” เหนือ “บีอาร์เอ็นฯ” ในที่สุด