xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณจาก “กองทัพ” กับบทเรียนที่ไม่เคยมีบทสรุป (จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุจยย.บอมบ์ล่าสุด ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เหยื่อ คือ ผู้ว่าฯปัตตานี  ซึ่งโชคดีที่คราวนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ แต่สะท้อนว่า มาตรการคุมเข้มเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ล้มเหลวสิ้นเชิง
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่

จากวันที่ 28 เม.ย. 2547 จนถึง ณ วันนี้ เหตุการณ์ล้อมปราบที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ได้ผ่านห้วงเวลามาถึง 7 ปี แต่กับความรู้สึกของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เหตุการณ์ครั้งนี้ที่เป็นการ ต่อสู้ระหว่าง “ทหาร” กับ “แนวร่วม” ผู้หลงผิด ซึ่งทำให้มีคนตายถึง 32 คน ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำ

นอกจากหลังการล้อมปราบครั้งนั้นแล้ว สถานการณ์การสู้รบระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มี “บีอาร์เอ็น” เป็นแกนนำก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการก่อความไม่สงบวันละ 3-4 เหตุการณ์ มีคนตายเฉลี่ยวันละ 3-4 ราย เกิดขึ้นทุกวันมิได้ขาด ดังนั้น ความทรงจำจากเหตุความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นที่ “กรือเซะ” ที่ “ตากใบ” ที่ “อัลฟูรกอน” และที่อื่นๆ จึงถูกตอกย้ำ ให้ฟื้นคืนเป็นระยะๆ

ไม่ว่าจะเหตุการณ์ตายหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ เหตุการณ์ตายหมู่ที่ตากใบ และอื่นๆ ถูกแนวร่วมหยิบยกมาเป็น “บทเรียน” ที่ใช้ในการนำมา “ปลุกระดมมวลชน” เพื่อให้เห็นถึงความผิดพลาดของรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น เพื่อให้มวลชนในพื้นที่เกลียดชัง ต่อต้านและเป็นปรปักษ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งการปลุกระดมและโฆษณาชวนเชื่อของแนวร่วมได้ผลทั้งในพื้นที่และในเวทีต่างประเทศ

ในส่วนของ “กองทัพ” ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาการก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ในเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้ใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาเพื่อดับ “ไฟใต้” ไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท ในเวลานี้ได้กลายเป็น “จำเลย” ของสังคมอย่างอยากที่จะดิ้นหลุด ?!

เพราะ 7 ปีที่ผ่านมาคดีที่เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะยังกลายเป็นความ “มืดดำ” ที่ไม่มีคำตอบถึงความผิด-ถูก มีแต่การเยียวยาให้ผู้อยู่หลัง เช่นเดียวกับการตายหมู่กว่า 70 ศพที่ตากใบที่ไม่เพียงไม่มีคนผิดและคนรับผิด แม้แต่คนที่ควรรับผิดต่างได้รับการ “อวยยศ” ในตำแหน่งที่ใหญ่กว่าเดิม หรือแม้แต่คดีฆ่าในมัสยิดอัลฟูรกอนที่สุดท้ายแล้วผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมมาดำเนินคดีต่างได้รับการปล่อยตัว เพราะหลักฐานไม่เพียงพอในการเอาผิด

อีกทั้งคดีคนหายจากพื้นที่นับแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันจำนวน 31 คดี 31 ราย ต่างเงียบหายไปกับสายลมและแสงแดด

ทว่า ปรากฏเพียงหลักฐานในแฟ้มคดีการสืบสวนสอบสวนของตำรวจในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีการแจ้งความไว้ว่า “ให้งดการสืบสวน” นี่ยังไม่รวมเรื่องราวต่างๆ อีกมากมายที่เกิดขึ้นกับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่างจบลงอย่างเงียบๆ แบบแสนจะมืดมน !!

แต่ในความเงียบและความมืดมนของคนในพื้นที่ ของผู้ที่ถูกกระทำและผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรม ในความรู้สึกต่างคุโชนด้วยความไม่พอใจ ด้วยความคับแค้นทางจิตใจ ต้นกล้าพิษเหล่านี้ต่างเติบโตกลางใจของพวกเขา และพร้อมที่จะแพร่พันธุ์ แตกดอก ออกหน่อ ที่เป็นต้นไม้พิษ ซึ่งล้วนแต่เป็นการซ้ำเติม “ไฟใต้” ที่ยังยาก “มอดดับ” ให้ลุกโชนมากยิ่งขึ้น

7 ปีที่ผ่านมาถึงวันนี้ในฟากของกองทัพที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้เป็นผู้กำหนดนโยบายในการดับไฟใต้ โดยมีผู้ปฏิบัติอย่าง “กองกำลังรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า)” “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต)” และ “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.)” ยังไม่สามารถที่จะยุติปัญหาการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นได้

โดยยังไม่เห็นความได้เปรียบขบวนการบีอาร์เอ็น ทั้งในด้าน “การเมือง” และ “การทหาร” เห็นได้จากความล้มเหลวในการป้องกันคาร์บอมบ์ และ จยย.บอมบ์ในเขตเมือง การป้องกันการฆ่ารายวันในเขตนอกเมือง การก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดเกิดขึ้นวันละ 3-4 คดีทุกวัน จนกลายเป็นสิ่งปกติในความรู้สึกที่ชาด้านของคนในพื้นที่ไปแล้ว

วันนี้บีอาร์เอ็น มีการพัฒนาวิธีการหาเงินเพื่อใช้สนับสนุนในการก่อการร้ายไปมากมาย เช่น นำมาซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ค่าจ้าง เงินเดือนให้กลุ่มแนวร่วม และใช้ในงานการเมืองด้วยการร่วมมือกับกลุ่มอิทธิพล ค้ายาเสพติด ค้าน้ำมันเถื่อน ค้าของเถื่อน มากกว่าการรับเงินจากประเทศที่ 3 และมากกว่าการเก็บเงินจากมวลชนผู้ร่วมอุดมการณ์ หรือจากเจ้าของธุรกิจและเจ้าของโรงงาน

แต่กองทัพโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพิ่งจะก้าวตามทัน เพิ่งจะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เอาจริงกับขบวนการยาเสพติด น้ำมันเถื่อน และกลุ่มอิทธิพลผลประโยชน์ โดยให้ใช้ “กฎอัยการศึก” กับคนกลุ่มนี้ แต่ปรากฏว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้รับการตอบสนองจาก “ตำรวจ” ผู้ถือกฎหมาย ป วิอาญา “ศุลกากร” และ “สรรพสามิต” ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงกับน้ำมันเถื่อน โดยปล่อยให้แม่ทัพและกำลังพลเต้นแร้งเต้นกาเพียงลำพัง

วันนี้บีอาร์เอ็น มีมวลชนเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม 2 เท่า แต่กองทัพยืนยันแล้วยืนยันอีกว่ากำลังของแนวร่วมมีไม่เกิน 10,000 คน ทั้งที่โดยวิธีการกว่าเราจะรู้ว่าใครเป็น “อาร์เคเค” ใครเป็น “คอมมานโด” หรือใครเป็น “แนวร่วม” ของฝ่ายตรงข้ามต้องใช้เวลาในการรวบรวมหลักฐาน หรือไม่ก็ต้องรอให้คนเหล่านั้นลงมือก่อเหตุจึงจะมีหลักฐานแน่ชัด

ในขณะที่งานโฆษณาชวนเชื่อของแนวร่วมขบวนการมีมวลชนเพิ่มขึ้นทุกเวลา ซึ่งโดยข้อเท็จจริงวันนี้หน่วยงานของรัฐจึงไม่ควร “ฟันธง” ในเรื่องจำนวนของแนวร่วม !!

เนื่องเพราะจะมีคำถามจากสังคมว่า ถ้าแนวร่วมแค่ 10,000 คน กองทัพยังเอาไม่อยู่ ยังสูญเสียทั้งกำลังพล รวมถึงอาวุธยุทโธปกรณ์ ทั้งยังถูกละลายฐาน ถูกปล้นอาวุธอย่างง่ายดาย และ 7 ปีหมดเงินงบประมาณไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท

ถ้าจำนวนแนวร่วมของบีอาร์เอ็น มีเป็นแสนคน เรามิต้องขนเงินคงคลังออกมาถลุงเพื่อใช้ในการทำสงครามกองโจรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ดอกหรือ ?!

 ยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เป็นยุทธศาสตร์ในการดับไฟใต้ที่ถูกต้อง แต่ความผิดพลาดเกิดขึ้นจากการปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติของ กอ.รมน.ก็ดี ของ ศอ.บต.ก็ดี ของ ศชต.ก็ดี ล้วนมากด้วย “ยุทธวิธี” แต่ไม่มี “ยุทธศาสตร์”

วันนี้ทุกหน่วยงานต่างยกเอาพระราชดำรัสของในหลวงในเรื่อง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีหน่วยงานใดที่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อแก้ปัญหา “ไฟใต้” อย่างถูกต้องแท้จริง ?!

ดังนั้น 7 ปีของเหตุการณ์กรือเซะ จึงเป็น 7 ปีที่รัฐบาลและกองทัพยังไม่ได้ “สรุปบทเรียน” เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการแก้ปมปัญหาความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ?!

สิ่งที่กองทัพทำได้และทำอยู่คือ ก่อนถึงวันที่ 28 เม.ย.ของทุกปี หน่วยข่าวในพื้นที่ก็จะออกมาเตือนให้หน่วยกำลังทุกหน่วยระวังและป้องกันการก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ ?!

จึงไม่ต่างอะไรกับเพื่อเป็นการ “รำลึก” ถึงเหตุการณ์ตายหมู่ที่มัสยิดกรือเซะ เพื่อร่วมกัน “ตอกย้ำ” บาดแผลแห่ง “ความเจ็บปวด” ให้เกิดขึ้นทุกปี และต่อเนื่องไปอีกนานหลายๆ ปี ?!?!
กำลังโหลดความคิดเห็น