xs
xsm
sm
md
lg

ล็อบบี้ยิสต์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระดับโลก

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


วันนี้ผมขอนำเสนอสองภาพที่เป็นเหตุเป็นผลกัน เพื่อให้เห็นสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก รวมถึงโครงการที่จะมีการก่อสร้างในประเทศไทยถึง 5 โรง

ภาพแรกเป็นการ์ตูนโดยชาวฟินแลนด์ (จาก seppo.net) ข้อความภาษาอังกฤษในภาพแปลว่า “การวิ่งเต้นเรื่องนิวเคลียร์ในระดับสากล” สำหรับหัวจรวดนิวเคลียร์เป็นรูปของนาย Paavo Lipponen อดีตนายกรัฐมนตรี(1995-2003) และประธานรัฐสภา(2003-2007) ของฟินแลนด์ หัวจรวดกำลังจะพุ่งเข้าประตูกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เหนือประตูมีธงชาติของฟินแลนด์และอีกสองประเทศซึ่งผมไม่รู้จัก

ก่อนพ้นจากตำแหน่งประธานรัฐสภา นาย Lipponen ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง “อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ในยุโรป” แต่ปรากฏว่า คำปราศรัยของเขาไปเหมือนกันเกือบทุกตัวอักษรกับเอกสารของหน่วยงานธุรกิจนิวเคลียร์ของยุโรป เขาจึงถูกวิจารณ์ว่า

“ทั้งๆ ที่เป็นประธานรัฐสภา แต่ทำตัวเป็นประธานธุรกิจนิวเคลียร์หรือล็อบบี้ยิสต์”

ภาพที่สองแสดงจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก ทั้งที่กำลังใช้งานได้อยู่และที่มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยโรงแรกสร้างปี 2497 ในสหภาพโซเวียต

กิจการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เฟื่องฟูมากในช่วง 1970 ถึง 1980 (สร้างใหม่ปีละ 32 โรง) ด้วยสาเหตุที่ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่เมืองเชอร์โนบิล การก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่แทบจะหยุดชะงัก ลงมาเหลือเพียง 4-5 โรงเท่านั้น

แต่หลังจากฟินแลนด์ที่เชื่อกันว่าเป็นประเทศอารยะได้สร้างนำร่อง การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำท่าจะฟื้นขึ้นมาใหม่อีกทั้งยุโรป เอเชีย โดยมีการสร้างใหม่ในปี 2552 ถึง 11 โรง

ปัจจุบันโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังใช้งานทั้งหมดใน 31 ประเทศ มีทั้งสิ้น 443 โรง (สหรัฐฯ 104, ฝรั่งเศส 58, ญี่ปุ่น 55) อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 62 โรง อยู่ในแผนที่จะสร้าง 158 โรง (จีน 50, อินเดีย 18, รัสเซีย 14) และกำลังมีการเสนอโครงการอีก 324 โรง (จีน 110, อินเดีย 40, รัสเซีย 30 รวมทั้งไทย 5 โรง)

ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดในประเทศญี่ปุ่น อนาคตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่งเป็นแน่ ด้วยอิทธิพลของนักล็อบบี้ระดับเซียน

เรามาพิจารณารายละเอียดของบางประเทศ ดังต่อไปนี้

กรณีประเทศฟินแลนด์ รัฐสภาฟินแลนด์ได้ลงมติให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงที่ 5 ด้วยคะแนนเสียง 107 ต่อ 92 เมื่อปี 2545 และได้เริ่มการก่อสร้างกลางปี 2548 โดยคาดหวังว่าจะได้ใช้ไฟฟ้าในปี 2552 แต่ด้วยปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้าง คาดว่าจะได้ใช้ไฟฟ้าจริงๆ ในปี 2556

ตอนแรกประมาณการว่าโรงไฟฟ้าขนาด 1,600 เมกะวัตต์จะใช้งบประมาณ 3.7 พันล้านยูโร แต่ต้องบานปลายไปเป็น 6.4 พันล้านยูโร (http://en.wikipedia.org/wiki/European_Pressurized_Reactor) หรือเพิ่มขึ้น 73% คิดค่าก่อสร้างเป็นเงินไทยก็ประมาณ 2.73 แสนล้านบาท

สาเหตุของความล่าช้าเกิดจากปัญหาคุณภาพของงานที่ผู้รับช่วงต่อในการก่อสร้างขาดประสบการณ์ มีการศึกษาเรื่องความล่าช้าและค่าก่อสร้างที่บานปลายทั่วโลก พบว่าเกือบทั้งหมดเป็นเช่นนี้ แต่ผมจำตัวเลขที่แน่นอนไม่ได้ครับ

กรณีประเทศฟิลิปปินส์ รัฐบาลเผด็จการมาร์กอสได้ตัดสินใจก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 621 เมกะวัตต์ในปี 2516 แต่ได้มีการก่อสร้างจริงในปี 2519 ต่อมาในปี 2527 มีการตรวจพบข้อบกพร่องในการก่อสร้างถึง 4 พันกว่าจุด ทั้งๆ ที่ได้ลงทุนไปแล้วถึง 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความบกพร่องที่สำคัญคือไปก่อสร้างใกล้กับรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เลยแม้แต่นิดเดียว

ในปี 2553 ทีมผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเกาหลีใต้ได้ประเมินว่า จะต้องลงทุนเพิ่มเติมอีกหนึ่งพันล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์คนหนึ่งกล่าวว่า “ปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์ต้องเสียภาษีมาจ่ายค่าดอกเบี้ยให้กับโครงการที่ใช้งานไม่ได้ถึงวันละ 1.55 แสนดอลลาร์”

ผมคิดถึงโครงการรถไฟฟ้าโฮปเวลล์ในบ้านเราจัง!

กรณีประเทศเยอรมนี ประเทศนี้ใช้ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ประมาณ 25% ของทั้งหมด แต่มีแผนการจะเลิกใช้ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2036 โดยหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนแทน (จะนำมาเล่าภายหลัง)

อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า เธอเคยไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารซึ่งสร้างในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สร้างเสร็จแล้วแต่ไม่ได้ผลิต เพราะประชาชนต่อต้านไม่ให้เปิดใช้งาน ผมจำชื่อเมืองไม่ได้ แต่เธอยืนยันว่าเธอไปปาเป้าเล่นที่นั่นมาเอง เขาเก็บโรงไฟฟ้านี้ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้หรือบทเรียนมั้ง (ผมคิดเอง) ท่านที่ทราบเรื่องนี้ดี กรุณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมครับ

มาถึงกรณีประเทศไทย จากข้อมูลที่ปรากฏในhttp://www.world-nuclear.org/info/inf102.html พบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2553 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัท Japan Atomic Power Company เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านการพิจารณาเลือกสเปกโรงไฟฟ้า การประมูลและการฝึกอบรมวิศวกร โดยคาดว่าจะเริ่มต้นก่อสร้างในปี 2557

Japan Atomic Power Company เป็นบริษัทที่มีบริษัท เท็ปโก (The Tokyo Electric Power Company) ถือหุ้นอยู่ถึง 28.23% แล้วบริษัทเท็ปโกนี้แหละที่เป็นผู้บริหารจัดการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังมีปัญหาอยู่ รวมถึงการออกมายอมรับว่าได้ส่ง “รายงานเท็จ” เกี่ยวกับอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย

เรื่องที่ได้เล่ามานี้ เริ่มต้นจากนักล็อบบี้แท้ๆ จนเกิดการยอมรับโดยภาครัฐไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา แต่ในที่สุดความจริงก็ปรากฏออกมา เทคโนโลยีไม่ได้ก้าวหน้าจริง การคอร์รัปชันก็ตามมา ภาคประชาชนไม่ยอมรับ แถมฟ้าดินได้ลงโทษอีกต่างหาก.
กำลังโหลดความคิดเห็น