ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กรณีปัญหาคืนเก้าอี้อธิบดีกรมการปกครองให้ “วงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พานิชย์” สะท้อนให้สังคมได้เห็นตัวตนทางการเมืองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชัดเจนอีกครั้งว่า แท้จริงแล้ว “มาร์ค” ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากนักการเมืองคนอื่นๆ
เมื่อถึงเวลาต้องเลือกระหว่าง ประโยชน์ทางการเมือง กับความถูกต้อง “มาร์ค” ก็แสดงความอำมหิตออกมา เอาประโยชน์การเมืองตัวเองเป็นที่ตั้ง มิได้ยึดในหลักการ และการรักษาไว้ซึ่งกติกาการบริหารราชการแผ่นดิน
อันพบได้จากการคืนความเป็นธรรมให้ วงศ์ศักดิ์ ตามมติ “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค.” ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ อ้างว่า คณะรัฐมนตรีไม่สามารถไปเห็นชอบให้ปรับ มงคล สุระสัจจะ อธิบดีกรมการปกครองคนปัจจุบัน ออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้ง วงศ์ศักดิ์ จากตำแหน่งผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย ให้กลับมาเป็นอธิบดีกรมการปกครอง ตามมติ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมหรือ ก.พ.ค.ได้ เนื่องเพราะตำแหน่งของ มงคล เป็นตำแหน่งที่ผ่านขั้นตอนทางกฎหมายมาแล้ว มีการโปรดเกล้าฯ ให้รับตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองมาแล้ว
การจะไปเปลี่ยนตำแหน่ง ทำไม่ได้ หากจะทำต้องให้ทางปลัดกระทรวงมหาดไทย เสนอเรื่องให้มงคลออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครอง แล้วในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ เสนอชื่อ วงศ์ศักดิ์กลับมาเป็นอธิบดีกรมการปกครองในเวลาเดียวกัน กลับมาให้คณะรัฐมนตรีเสียก่อน คณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการใดๆได้
เรื่องนี้หากจะดูแบบผิวเผิน ก็เป็นเรื่องที่ดูจะเข้าที มีเหตุผลรับฟังได้ แต่สิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นก็คือ อภิสิทธิ์ ในฐานะประธาน ก.พ. ไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ในการจะทำให้การมีอยู่ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ที่เป็นกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นคณะกรรมการซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการช่วยถ่วงดุลการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองในการแต่งตั้ง โยกย้าย-เลื่อนขั้น ตำแหน่งข้าราชการให้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม และเป็นธรรม อันจะเป็นที่พึ่งเบื้องต้นของข้าราชการทั่วประเทศ ที่เห็นว่า ตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม และต้องการจะสู้ขอความเป็นธรรม ก็ให้ร้องไปที่ ก.พ.ค. ก่อนที่จะไปถึงศาลปกครอง
เพราะแม้ว่า อภิสิทธิ์ และคณะรัฐมนตรี จะไม่สามารถไปทำบัญชีแต่งตั้งของกระทรวงมหาดไทย ขึ้นเอง โดยการเห็นชอบให้ มงคล พ้นจากตำแหน่งอธิบดีปกครอง แล้วโยก วงศ์ศักดิ์ มาเป็นแทน โดยที่ วิเชียร ชวลิต ปลัดมหาดไทย หรือ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ไม่ได้เสนอเรื่องมาให้
แต่การประชุม ครม.เมื่อ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งครม.รับทราบมติ ก.พ.ค. ก็ควรที่อภิสิทธิ์ที่เป็นทั้งประธานก.พ. และผู้นำสูงสุดของข้าราชการทั่วประเทศ ที่ยึดระบบ ก.พ.ค. ควรจะแสดงภาวะผู้นำด้วยการให้ชวรัตน์ สั่งการไปยังปลัดมหาดไทย ว่าเมื่อกติกาของระบบราชการ ให้ยึด ก.พ.ค.เป็นสำคัญ ก็ควรที่มหาดไทย จะต้องทำบัญชีย้ายให้มงคลไปอยู่ในตำแหน่งอื่น ที่ไม่ใช่อธิบดีกรมการปกครอง แล้วก็เอา วงศ์ศักดิ์ กลับมาเป็นอธิบดีกรมการปกครอง
แค่นี้ก็เรียบร้อยแล้ว เพราะนายกรัฐมตรี คือผู้นำรัฐบาล คือ ประธานการประชุม ครม. สั่งการไปแบบนี้ มีหรือ ชวรัตน์ มท.1 และวิเชียร ปลัดมหาดไทย จะไม่กล้าปฏิบัติตาม เพราะย่อมเป็นการสั่งการภายใต้การดำเนินการตามมติ ก.พ.ค. ที่มีบทบัญญัติการจัดตั้ง ก.พ.ค.ตามกฎหมายรองรับ ไม่ใช่สั่งแบบพลการ หรือสั่งเพราะหวังผลการเมือง
แต่อภิสิทธิ์ ก็ไร้คุณธรรม ไม่ยอมทำ เพราะรู้ดีว่า มงคล คือ คนของเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ขืนไปปลด มงคล มีหวัง เกิดรอยบาดหมางกับ เนวิน-ภูมิใจไทย ไปจนถึงการเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง ที่อาจทำให้อภิสิทธิ์ ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัย
อภิสิทธิ์ จึงเลือกที่จะลอยแพ ก.พ.ค. ก็ด้วยเหตุผลการเมืองล้วน ๆ
อีกทั้ง อภิสิทธิ์ ก็คงไม่ไว้ใจ วงศ์ศักดิ์ เพราะคงได้ข้อมูลมาว่า คนนี้มีความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรคเพื่อไทย ยิ่งหากจะให้วงศ์ศักดิ์ กลับมาเป็นอธิบดีปกครอง ในช่วงเลือกตั้งมีหวังเสี่ยงสูง เพราะตำแหน่งอธิบดีปกครองจะคุมนายอำเภอทั่วประเทศ ที่จะเป็นกลไกสำคัญ ในการอำนวยการเลือกตั้ง ที่ย่อมใช้ให้ได้ทั้งเป็นคุณกับตัวอง และโทษกับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม อาทิ การคอยจับทุจริตเลือกตั้ง
ดังนั้นที่อภิสิทธิ์ไม่เอาด้วยกับ ก.พ.ค. คนมหาดไทย จึงไม่ได้แปลกใจแม้แต่น้อย เพราะหากมงคล ไม่ใช่คนของ เนวิน วงศ์ศักดิ์ ไม่ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้าม ป่านนี้ไม่ถึง 15 วัน หลังมีมติ ก.พ.ค.ให้คืนตำแหน่งให้ วงศ์ศักดิ์ ปัญหาเก้าอี้ อธิบดีกรมการปกครอง ของ วงศ์ศักดิ์ จบไปตั้งนานแล้ว หรือ อภิสิทธิ์-ชวรัตน์-วิเชียร และเนวิน จะเถียง
ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัญหานี้ที่แย่มากอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ การที่มีรัฐมนตรีหลายคน ใช้ห้องประชุม ครม.มารุมสหบาทา สกรัมหนัก ก.พ.ค. ซึ่งนอกจากไม่เอาด้วยกับ ก.พ.ค.แล้ว ยังเล่นแสดงความเห็นกังขาต่ออำนาจของ ก.พ.ค.ที่จะมาใหญ่เหนือกว่านักการเมือง-รัฐมนตรี ได้อย่างไร
แสดงให้เห็นว่า พวกนักการเมืองไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหน ก็มักจะคิดว่าตัวเองคือผู้มีอำนาจสูงสุด สามารถกดขี่ บังคับ ให้ข้าราชการทุกคนต้องก้มหัวให้เสมอไป
ดังนั้น เมื่อมีการตั้ง ก.พ.ค. เพื่อเป็นช่องทางให้ข้าราชการที่คิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย-เลื่อนตำแหน่ง สามารถใช้ช่องทางนี้ร้องเรียน และขอความเป็นธรรมได้ อันจะทำให้ฝ่ายการเมืองไม่สามารถควบคุมกลไกข้าราชการได้เต็มที่ นักการเมืองจึงไม่พอใจระบบ
“ตรวจสอบ-ถ่วงดุล” แบบ ก.พ.ค.
คิดว่า นักการเมืองคงมีความรู้สึกไม่พอใจ ก.พ.ค.มานานแล้วแต่ยังไม่สบช่อง ดังนั้นพอเกิดกรณีของวงศ์ศักดิ์ เมื่อมีการนำเรื่องนี้ไปคุยในห้องประชุม ครม. พวกนักการเมืองไม่เว้นแม้แต่ อภิสิทธิ์ ก็ใช้จังหวะนี้ แสดงความกังขาต่ออำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค.
ตามที่มีการเสนอข่าวว่า วงประชุมครม.เมื่อ 4 เมษายน รัฐมนตรีหลายคน ได้พากันรุมสับการทำงานของ ก.พ.ค.โดยเน้นแสดงความเห็นว่าเรื่องนี้ ก.พ.ค.ใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต ของกฎหมาย ที่มาวินิจฉัยว่า ครม.มีมติแต่งตั้งมงคล จากอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน มาเป็นอธิบดีปกครอง และย้ายวงศ์ศักดิ์ จากอธิบดีปกครอง ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นมติที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก.พ.ค.ไม่น่ามีอำนาจมาสั่งให้ ครม.และมหาดไทย ยกเลิกคำสั่งโยกย้ายดังกล่าวได้
ซึ่งรัฐมนตรีที่ทำทีมอุ้ม มงคล-ตีกันวงศ์ศักดิ์ ในที่ประชุมครม. ก็คือพวกรัฐมนตรีภูมิใจไทยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย-บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทย
แม้แต่โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วย แต่เป็นเพราะว่า เป็นส.ส.บุรีรัมย์ รู้จักกับมงคล ตั้งแต่เป็น รองผวจ.บุรีรัมย์ จนมาเป็น ผวจ.บุรีรัมย์ และเกือบจะได้เป็นปลัดมหาดไทย จึงทำให้โสภณ ดูจะแค้น ก.พ.ค.อย่างออกหน้าออกตา ที่คิดจะมาทำให้ คนในสังกัด เนวิน ด้วยกันอย่าง มงคล หลุดจากตำแหน่ง
ด้วยเหตุนี้ โสภณ เลยเป็นคนแรกที่เปิดฉากเรื่องนี้ในที่ประชุมครม. อย่างเผ็ดร้อน ด้วยการอ้างว่ามติก.พ.ค. จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีปัญหาได้ในอนาคต ต่อไปมันจะทำอะไรก็ไม่ได้ จะโยกย้ายข้าราชการ หากใครไม่พอใจ ก็ไปร้องก.พ.ค.
แค่นั้นเอง ทั้ง ชวรัตน์-บุญจง ก็เอาด้วย ลุยสำทับกันมาเป็นลูกระนาด แม้แต่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ก็ยังไม่เอาด้วยกับ ก.พ.ค. โดยบอกว่า
“คณะกรรมการชุดนี้ มีชื่อว่าคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม แต่ต้องไปดูว่าได้ใช้อำนาจหน้าที่อย่างมีคุณธรรมหรือเปล่า กรรมการชุดนี้ไม่ใช่ศาล ที่จะไปตัดสินว่า ครม.ใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่ คนที่จะบอกได้ว่า มหาดไทย หรือ ครม.ใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่คือ ศาล”
จนสุดท้าย อภิสิทธิ์ เลยปิดฉากพูดสรุปว่า ครม.ต้องออกมติยืนยันว่า เรื่องนี้ได้ดำเนินการมาตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายุทกอย่าง ถ้า ก.พ.ค.มากล่าวหาว่า ครม.ทำผิดกฎหมาย ครม.ก็ยืนยันว่าเราทำถูกต้อง และมีสิทธิจะฟ้อง ก.พ.ค. !
จนในที่สุดก็มีการแถลงอย่างเป็นทางการ หลังประชุมครม.ว่า คณะรัฐมนตรี ยืนยันคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายมหาดไทย ที่ ก.พ.ค.บอกว่าทำโดยมิชอบ ทุกอย่างครม.ทำตามกฎหมาย ไม่ได้กระทำอะไรที่มิชอบ พร้อมกับมีมติให้คณะกรรม การกฤษฎีกา ไปศึกษาหลักกฎหมาย และทฤษฎีกฎหมายในทางวิชาการว่า ก.พ.ค.มีอำนาจหน้าที่ มากน้อยแค่ไหน ในการพิจารณาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายโดยมิชอบ โดยเฉพาะหากมีมติออกมาแล้ว หน่วยราชการจะต้องปฏิบัติทุกกรณีตามหรือไม่
สรุปได้ว่า นอกจากอภิสิทธิ์ และรัฐบาลชุดนี้ไม่เอาด้วยกับ ก.พ.ค.แล้วยังคิดจะทบทวนรื้ออำนาจของก.พ.ค. เพื่อหวังจะทำให้อำนาจของนักการเมือง ในการควบคุมสั่งการข้าราชการ มีได้เต็มที่ ไม่มี ก.พ.ค.มาคอยขวางหูขวางตา
แบบนี้ ก็ยุบ ก.พ.ค.ไปเลย เอากันแบบนี้ ดีไหม !