xs
xsm
sm
md
lg

ส่อสูญดินแดน แฉร่างทีโออาร์อัปยศ จี้กต.เปิดถ้อยแถลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ปานเทพ” แฉร่างฯ TOR ส่งอินโดฯ เปลี่ยนอาณาเขตผิด ม.190 ชัด ส่อสูญดินแดน จี้ กต.เปิดถ้อยคำแถลงยันปัญหาชวนอิเหนาเข้าพื้นที่ไม่ได้เกิดจากอาเซียน พร้อมแฉวางคนสังเกตการณ์ในพื้นที่ 2 ชาติ ปล่อยผู้สังเกตุการณ์ฝั่งเขมรเข้าวัดแก้วฯ เตรียมแปล ตีแผ่ความจริงให้คนไทยรู้ ด้าน “กองทัพ-บัวแก้ว” ร่วมยันทหารไม่ใช้ระเบิดพวง

สำนักข่าวซินหัวของจีน (8 เม.ย.54) รายงานอ้างจาการ์ตาโพสต์ของอินโดนีเซีย ระบุว่าแผนของอินโดนีเซียที่จะจัดส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังพื้นที่พิพาทเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาชะงักงัน ทั้งสองประเทศไม่ได้ให้การรับรองอย่างเป็นทางการ

นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย กล่าวหลังการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ที่เมืองบอกอร์เมื่อวันพฤหัสบดี ว่า อินโดนีเซียจะไม่ส่งผู้สังเกตการณ์หากไม่เป็นที่ต้อนรับ แต่ประเทศที่เป็นประธานอาเซียนของปีนี้ยังไม่ได้รับหนังสือปฏิเสธอย่างเป็นทางการทั้งจากไทยและกัมพูชา

หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่จาการ์ตาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ประเทศไทยและกัมพูชาเห็นพ้องให้ส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังพื้นที่พรมแดนซึ่งมีการปะทะ หลังจากนั้นอินโดนีเซียเสนอให้จัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมฯ (JBC) และคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (GBC) ที่เมืองบอกอร์ อินโดนีเซีย ในวันที่ 7-8 เมษายน

อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของสำนักข่าวอันตารา (Antara News Agency) ของทางการอินโดนีเซีย รัฐมนตรี มาร์ตี นาตาเลกาวา ยังได้กล่าวอีกด้วยว่า การประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีมีการเริ่มต้นที่ดี และหวังว่าการสื่อสารของตนกับเพื่อนร่วมงานชาวไทยจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการ และยังได้กล่าวเพิ่มอีกว่า อินโดนีเซียเคยเป็นผู้อำนวยความสะดวกของกระบวนการสันติภาพ และได้ใช้ความพยายามในการเชื่อมความแตกต่างระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม นายมาร์ตียังได้เรียกร้องให้มีการประชุมครั้งต่อไปในอนาคตอันใกล้

ตามการให้สัมภาษณ์ของนายมาร์ตี การประชุมที่เมืองบอกอร์เมื่อวันพฤหัสบดี ได้หารือถึงความสำคัญที่จะต้องสร้างเสถียรภาพ หรือความถาวรของการหยุดยิงในพื้นทีพิพาทเขตแดน และได้แสดงให้เห็นว่ากระบวนการทางการทูตกำลังคืบหน้าและการกระทำรุนแรงถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

ทั้งนี้สำนักข่าวนี้ อ้างว่า ผู้บัญชาการทหารบกของไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวเมื่อวันพุธว่าไม่ต้องการผู้สังเกตการณ์ เพราะเป็นอันตรายอย่างยิ่งและทำให้เรื่องซับซ้อนยิ่งขึ้น และได้เรียกร้องให้มีการประชุมแบบทวิภาคีเฉพาะกับกัมพูชาก่อนการประชุมที่บอกอร์

**กต.อ้างได้ผลคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ

กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ รายงานความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย-กัมพูชา ซึ่งเริ่มประชุมเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2554 ณ เมืองโบกอร์ อินโดนีเซียว่า คณะผู้แทนไทย นำโดยนายอัษฎา ชัยนาม ประธานร่วม JBC (ฝ่ายไทย) และฝ่ายกัมพูชา นำโดยนายวาร์ คิมฮอง ประธานร่วม JBC ฝ่ายกัมพูชา ได้รับผลคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือ ได้มีการประชุมเกิดขึ้นด้วยการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกของอินโดนีเซีย ในรูปแบบการประชุมทวิภาคีภายใต้กรอบ JBC ซึ่งเป็นกลไกทวิภาคีตามปกติที่มีอยู่ระหว่างไทยกับกัมพูชา อันเป็นการแสดงว่ากระบวนการทำงานทวิภาคี เพื่อแก้ปัญหา 2 ฝ่ายระหว่างไทยและกัมพูชายังสามารถเดินหน้าต่อไปได้
สำหรับการประชุม JBC ในวันแรก มีการหารือคืบหน้าไปหลายเรื่องที่เกี่ยวกับงานของ JBC โดยฝ่ายไทยได้แจ้งให้ฝ่ายกัมพูชารับทราบถึงความคืบหน้าในการดำเนินกระบวนการตามกฎหมายภายในของไทย เพื่อรับรองบันทึกผลการประชุม JBC ที่ผ่านมา 3 ฉบับ ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาดำเนินการของรัฐสภา ซึ่งฝ่ายกัมพูชาก็รับทราบ และมีความเข้าใจในกระบวนการขั้นตอนของไทย อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่รอการดำเนินการทางรัฐสภาอยู่นั้น คณะผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายก็ได้หารือกันเพื่อเตรียมความพร้อมไว้ก่อนสำหรับการเดินหน้าทำงานต่อไปได้ทันทีที่บันทึกผลการประชุมทั้ง 3 ฉบับผ่านการรับรอง โดยได้หารือกันเรื่องการเตรียมการส่งชุดสำรวจร่วมลงพื้นที่ส่วนที่ 5 ระหว่างหลักเขตที่ 1-23 และหารือเกี่ยวกับเรื่องคุณสมบัติของบริษัทที่จะจัดทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการได้ต่อไปโดยไม่ชักช้า หลังจากที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว

ทั้ง 2 ฝ่ายมีกำหนดจะร่วมประชุมกันต่อไปในวันที่ 8 เมษายน เวลา 10.00 น. เพื่อหารือประเด็นอื่น ๆ อาทิ เรื่องการเปิดจุดผ่านแดนระหว่างประเทศแห่งใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ JBC โดยการประชุม JBC ดำเนินไปในบรรยากาศที่มีความเข้าใจอันดีระหว่างกัน แสดงว่าไทยและกัมพูชาต่างมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันต่อไป โดยอาศัยกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ เพื่อเจรจาแก้ไขปัญหาระหว่างกันให้ได้โดยสันติวิธี

** “พันธมิตร”อัดรัฐบาลไม่ชัดเจนแต่ต้น

เมื่อเวลา 10.00 น. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลไทยได้ออกคำปราศรัยต่อการประชุมเจบีซีครั้งนี้อย่างไร มีการโต้แย้งคำปราศรัยของนายวาร์ คิม ฮง ผู้แทนเจบีซีฝ่ายกัมพูชาที่กล่าวหาว่าไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชาที่ปรากฎอยู่ในบันทึกผลการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ หากยืนยันเช่นนี้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ และประธานเจบีซีฝ่ายไทยออกมาเปิดเผย

นายปานเทพ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น ชัดเจนว่าประเทศไทยและกัมพูชามีความยินยอมกันตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเชิญชวนอินโดนีเซียให้ส่งผู้แทนเข้ามาเป็นสักขีพยานและผู้สังเกตการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อไม่ให้มีการปะทะกันทั้ง 2 ฝ่าย ข้อตกลงนี้เป็นการเชื้อเชิญของทั้ง 2 ประเทศ จึงไม่ใช่ปัญหาที่เริ่มมาจากอาเซียน แต่เป็นความผิดพลาดของฝ่ายไทยในวางบทบาทระหว่างประเทศที่ไม่ชัดเจนเอง ขอย้ำว่าการปล่อยให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามานั้นจะเป็นอันตรายต่อประเทศ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต

**ปานเทพเชื่อ“ทีโออาร์อัปยศ”

นายปานเทพยังได้นำจดหมายจากประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนที่ส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศของทั้งไทยและกัมพูชา ที่ระบุถึงร่างแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ (ทีโออาร์) ในการวางกำลังผู้แทนอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชามาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน พร้อมกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ถึงวันนี้ (8 เม.ย.) รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยร่างทีโออาร์นี้ให้คนไทยได้รับทราบ ทั้งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดินแดน ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลไทยไม่เปิดเผยก็เพราะว่ามีถ้อยคำระบุถึงพื้นที่ที่ให้ผู้แทนอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบของทั้ง 2 ประเทศฝั่งละ 15 คน โดยคำว่าพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณชายแดนนั้นในฝั่งกัมพูชาก็ต้องหมายถึงพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และภูมะเขือ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินไทยชัดเจน
 ขณะที่ 15 คนที่จะวางกำลังในฝั่งไทยก็คงจะหมายถึงพื้นที่บ้านภูมิซรอล ที่ห่างไกลชายแดนออกมา นั่นหมายความว่าแผ่นดินถูกกัมพูชายึดครองโดยมีประเทศที่ 3 เป็นสักขีพยาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ 2 ประการสำคัญ คือ 1.มีทหารชาติที่ 3 มีหน้าที่สังเกตการณ์ และเป็นสักขีพยานเพื่อไม่ให้ทหารไทยใช้กำลังทางทหารเป็นกำลังผลักดัน หรือเป็นอำนาจต่อรองบนโต๊ะเจรจาเพื่อให้ทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย และข้อที่ 2 เท่ากับเป็นการยืนยันว่าพื้นที่ที่อินโดนีเซียเข้ามานั้นเป็นแผ่นดินของฝั่งกัมพูชา มีผลทำให้ไทยสูญเสียดินแดนดังกล่าวไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา ทั้งนี้ตนจะได้ดำเนินการแปลและเผยแพร่ร่างทีโออาร์นี้ให้ประชาชนได้รับรู้

“หากตราบใดที่ยังยึดแนวทางนี้อยู่ไทยจะใช้กำลังผลักดันกัมพูชาออกไปจากดินแดนไม่ได้เลย ยกเว้นว่ากัมพูชาจะพอใจในผลการเจรจาที่ว่าหลักเขตแดนอยู่ตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน หากไทยไม่ยินยอม กัมพูชาก็จะใช้สิทธิครอบครองดินแดนไทยต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งก็หมายถึงการสูญเสียดินแดนอย่างถาวร” นายปานเทพ กล่าว

**เปลี่ยนอาณาเขตผิด ม.190 ชัด

โฆษกพันธมิตรฯกล่าวต่อว่า เมื่อร่างทีโออาร์นี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชัดเจนเช่นนี้ ตามกระบวนการแล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190(3) โดยขั้นแรกก่อนจะเป็นทีโออาร์นี้ต้องได้รับความเห็นชอบกรอบการกจรจาจากรัฐสภา และทำประชาพิจารณ์เสียก่อน ซึ่งรัฐบาลยังไม่ทำจนถึงทุกวันนี้ แต่กลับไปเจรจาโดยพลการ จะอ้างไม่ได้ว่าใช้กรอบการเจรจาเดิม เพราะกรณีนี้มีชาติที่ 3 มาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องทำกรอบการเจรจาใหม่ และก่อนจะมีการลงนามก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกเช่นกัน

นายปานเทพ กล่าวด้วยว่า การที่กองทัพแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และไม่ยอมให้อินโดนีเซียส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และเชื่อว่าฝ่ายกองทัพเห็นร่างทีโออาร์ฉบับนี้ จึงมีท่าทีดังกล่าวออกมา แต่เพียงท่าทีนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะทหารยังต้องมีหน้าที่ในการผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนไทยด้วย ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าในการประชุมเจบีซีมีการพูดคุยเรื่องใดบ้าง มีเพียงข่าวที่จะว่าจ้างเอกชนถ่ายภาพทางอากาศเพื่อสำรวจพื้นที่ภูมิประเทศที่แท้จริง หากมีการพูดคุยกันเท่านี้เป็นข้อเสียเปรียบไม่โต้แย้งคำปราศรัยที่ว่าร้ายไทย หรือปฏิเสธการปักปันเขตแดนในพื้นที่ที่ไม่ต้องปักปัน ซึ่งหากไม่มีการโต้แย้ง กัมพูชาก็จะสามารถนำไปอ้างในเวทีต่างๆเหมือนเป็นกฎหมายปิดปากที่ไทยไม่สามารถโต้แย้งได้อีกในอนาคต

**อัดรัฐไม่คำนึงความมั่นคง

เมื่อถามว่าร่างทีโออาร์ฉบับนี้ รัฐบาลได้อาจอ้างได้ว่าอินโดนีเซียจัดทำเพียงฝ่ายเดียว นายปานเทพกล่าวว่า ในเอกสารฉบับนี้ซึ่งระบุการจัดทำว่าทำในเดือน ก.พ.โดยที่ไม่ได้มีการระบุวันที่ทำ แต่มีการอ้างถึงความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่ายจากการประชุมวันที่ 22 ก.พ.ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยมีแถลงการณ์ออกมาว่าทั้งไทยและกัมพูชายินดีที่จะไม่ให้เกิดการปะทะกันอีก และยินดีให้ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนเข้ามาในพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซียดำเนินการตามที่ฝ่ายไทยได้วางแนวทางไว้แล้วที่สำคัญเรื่องที่กระทบต่อเขตแดนและเกี่ยวกับการวางกำลังทหาร กลับไปเจรจาโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของจีบีซี ที่กลาโหม และกองทัพรับผิดชอบ จนเกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้ แสดงให้เห็นความไม่คำนึงความมั่นคงของประเทศโดยรัฐบาลเลย

เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าการไปประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ก็ถือว่าผิดขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ตั้งแต่ต้น นายปานเทพกล่าวว่า ในมาตรา 190(3) ระบุชัดว่าการไปเจรจาใดๆต้องขอกรอบการเจรจาจากรัฐสภาและทำประชาพิจารณ์เสียก่อน แต่กลับไปประชุมแบบหมกเม็ด ไม่เปิดร่างทีโออาร์ให้ประชาชนได้รับรู้ ดังนั้นรัฐบาลผิดพลาดตั้งแต่การไปร่วมประชุมในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. และออกถ้อยแถลง แต่ไทยไม่ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง ในขณะที่กัมพูชายืนยัน ทำให้นานาชาติไม่เห็นว่ากัมพูชารุกล้ำแดนไทยอยู่ และเกิดเป็นข้อตกลงชั่วคราวในการหยุดยิงถาวร ก่อนจะมีการประชุมอาเซียนในวันที่ 22 ก.พ. ซึ่งถือเป็ฯความผิดพลากที่ไม่ยอมยืนยันเส้นเขตแดน มัวแต่ยึดเอ็มโอยู 2543 ที่ใช้ไม่ได้จริงในเวทีนานาชาติ

**แปลเอกสารอย่างไม่เป็นทางการ

รายงานข่าวแจ้งว่า มีการแปลเอกสารอย่างไม่เป็นทางการความสรุปว่า เอกสารสำคัญนี้ มีสาระสำคัญ จากจดหมายร่างเงื่อนไขข้อตกลงอินโดนีเซีย ลงนาม ดอกเตอร์ อาร์.เอ็ม มาร์ตี้ เอ็ม.นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งแปลอย่างไม่เป็นทางการความสรุปว่า อ้างถึงผลการประชุมอย่างไม่เป็นทางการที่ดีของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ดังนี้ 1.จดหมายร่าง TOR ในการจัดวางทีม IOT ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย 2.ภาคผนวกเพิ่มเติมจากจดหมาย กล่าวคือ TOR การวางทีมผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (IOT) ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย

โดยส่งจดหมายนี้ไปสู่ 3 ประเทศ คือ กัมพูชา อินโดนีเซีย และ ไทย ซึ่งทั้ง นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศกัมพูชา และนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศของไทย ก็มีจดหมายตอบรับคำแถลงของประธานอาเซียน ยินดีต้อนรับคำเชิญจากกัมพูชาและไทย ขอให้อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนอยู่ ส่งคณะผู้สังเกตการณ์ไปประจำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบของแต่ละฝั่งฝากของ พรมแดนกัมพูชา-ไทย, เพื่อเฝ้าดูความยึดมั่นของทั้งสองฝ่าย ที่ว่าจะหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธ โดยให้คณะผู้สังเกตการณ์มีภาระหน้าที่ดังนี้:

ฝ่ายกัมพูชายังได้เสนอ TOR การวางทีมผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (IOT) ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทยในภาคผนวกอีกด้วย

ในภาคผนวก TOR การวางทีมผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย (IOT) ในพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย วัตถุประสงค์ ให้เป็นไปตามคำกล่าวของประธานอาเซียนในโอกาสการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า

“ช่วยและสนับสนุนทั้งสองฝ่ายให้สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังระหว่างกันให้จงได้ โดยการเฝ้าดูและส่งรายงานอย่างถูกต้องเป็นกลางในเรื่องที่เกี่ยวกับการร้อง เรียนว่าด้วยการละเมิดความตกลง แล้วส่งรายงานนั้นไปยังแต่ละฝ่าย ผ่านอินโดนีเซียผู้เป็นประธานปัจจุบันของอาเซียน”

องค์ประกอบ ทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย (IOT) จะประกอบด้วยข้าราชการทหาร และข้าราชการพลเรือนของอินโดนีเซีย รวม 30 คน จะมีอำนาจและหน้าที่ดังนี้ IOT กัมพูชา 15 คน จะอยู่ในพื้นที่กัมพูชาที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย IOT ไทย 15 คน จะอยู่ในพื้นที่ไทยที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา

สถานะภาพ ทีม IOT จะมีสิทธิพิเศษในฐานะที่เป็นตัวแทนทางการทูต ส่วนพื้นที่ครอบคลุม ของ IOT กัมพูชา จะเป็นพื้นที่กัมพูชาที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนกัมพูชา-ไทย กล่าวคือ (จะระบุภายหลัง)
พื้นที่ครอบคลุมของ IOT ไทย จะเป็นพื้นที่กัมพูชาที่เป็นพื้นที่พิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวคือ (จะระบุภายหลัง)

** “ระบุภายหลัง”ตัวแปรทีโออาร์

ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตได้ว่า หลังจากรัฐบาลไทยไม่สามารถใช้สถาบันรัฐสภาไทย "ฟอกสิ่งที่ได้ทำบันทึกข้อตกลงต่าง ๆ ที่เสียเปรียบกัมพูชามาตลอด” ได้พยายามฉุดสถาบันทหารไทยให้ไปลงนามพ่วงกันใน “ทีโออาร์อินโดนีเซีย”

ทั้งนี้จึงตั้งข้อสังเกตว่า ในวงเล็บจะระบุภายหลัง อาจจะทำให้ไทยเสียเปรียบขึ้นอีก ซึ่งการประชุมที่เมืองโบกอร์ จะผูกปมอะไรไว้บ้าง

**กองทัพยันไม่ได้ใช้ระเบิดพวงแน่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่นิตยสารของสหรัฐอเมริกา ออกมาระบุว่ากองกำลังทหารไทย ใช้คลัสเตอร์ บอมส์ หรือ CM แบบระเบิดพวง ในการยิงตอบโต้ทหารกัมพูชาเมื่อช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่า กองทัพไม่ได้ใช้ ซึ่งเรื่องไม่ไม่หวั่นว่าจะเกิดความสับสน ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศรับไปแล้วว่าจะดูแล และทำความเข้าใจกับนานาชาติถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหาร และกองทัพคงไม่ต้องชี้แจง เพราะกองทัพไม่ได้ใช้คลัสเตอร์ บอมส์ ในการโจมตี แต่กองทัพยืนยันในเรื่องการดูแลรักษาอธิปไตยและไม่ยอมให้ใครมาปฏิบัติการ รุกล้ำอธิปไตยของไทย
พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า อนุสัญญา ไม่ใช้ Cluster bomb ปี 2010 (2553) นี้ มีประเทศที่ลงนามแล้ว108 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่ได้ลงนาม ในอนุสัญญานี้ แต่ได้ปฏิบัติตาม มติ UN เมื่อปี 2540 ที่ไม่ใช้อาวุธเคมีชีวภาพ ส่วนการที่ ทูตไทย ประจำUN ระบุนั้น ขอยืนยันว่า กองทัพไทยไม่มี Cluster bombใช้ แต่อาจมีอาวุธที่มีลักษณะคล้ายๆเท่านั้น

**บัวแก้วแจงไทยไม่ได้ใช้ระเบิดพวง

นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับเอกสารข่าวของกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านการใช้กระสุนคลัสเตอร์บอมบ์ หรือ Cluster Munitions Coalition (CMC) ที่ตีพิมพ์ในสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ที่กล่าวหาว่าไทยใช้อาวุธระเบิดพวงในการปะทะกันกับกัมพูชาบริเวณพื้นที่ชายแดน
โดยข้อความในเอกสารข่าวของ CMC ที่กล่าวถึงนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสำนักงานสหประชาชาติ ณ นครเจนีวานั้น ว่า เป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ซึ่งเอกอัครราชทูตได้แจ้งกับ CMC ว่า อาวุธที่ไทยใช้คือ กระสุนระเบิดทวิประสงค์ หรือ Dual Purpose Improved Conventional Munitions (DPICM) ไม่ใช่ระเบิดพวง ดังที่ CMC ได้ระบุคลาดเคลื่อนไป รวมทั้งการที่ไทยต้องใช้กระสุนระเบิดทวิประสงค์ ก็เพื่อตอบโต้กัมพูชาที่ได้โจมตีไทยด้วยจรวดหลายลำกล้องแบบ BM-21 ซึ่งเป็นอาวุธที่มีลักษณะการโจมตีโดยไม่จำกัดเป้าหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อพลเรือนของไทย ฝ่ายทหารของไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อป้องกันตนเองต่อเป้าหมายทางทหารดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการตอบโต้ ฝ่ายทหารของไทยได้ใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างยิ่ง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความจำเป็น ไม่เกินกว่าเหตุ และยึดถือตามแนวปฏิบัติและกฎการปะทะทางทหารอย่างเคร่งครัด โดยใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพลเรือน.
กำลังโหลดความคิดเห็น