xs
xsm
sm
md
lg

เทพแห่งอาวุธ “บาตรปรมัตถ์” และ “ดวงตาเทพเจ้า” : “วาตะ-เมฆา” และ “คอบร้า-โจรสลัดอวกาศ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : บู๊ลิ้ม
โดย : พชร สมุทวณิช


“คอบร้า – โจรสลัดอวกาศ” หรือคอการ์ตูนเมืองไทยอาจจะคุ้นเคยกับชื่อ “คอบร้า – เห่าไฟสายฟ้า” เป็นการ์ตูนฝีมือของ “บุอิชิ เทราซาว่า” เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่เรียกว่า “มังก้า” ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารการ์ตูน “โชเนน จัมป์” ในปี ค.ศ.1978 ได้รับการแปลในหลายภาษา รวมถึงแปลและวางขายในประเทศไทย “คอบร้า” เรื่องนี้ เป็นการ์ตูนที่ผมอ่านตั้งแต่สมัยยังเด็ก และรู้สึกได้ถึงจิตนาการอันกว้างไกล ที่สายตะวันออกสร้างสรรค์เรื่องราวของ “โลกอนาคต” ได้ไม่แพ้ตะวันตกชาติใดๆ ในโลก

“คอบร้า – โจรสลัดอวกาศ” เป็นเรื่องของชายหนุ่มธรรมดาๆ ที่ตื่นขึ้นมาเจอกับชีวิตปกติประจำวันอันน่าเบื่อ ท่ามกลางสถานการณ์โลกยุคใหม่ ที่วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีไปมาก พ่อหนุ่มชนชั้นกลางอย่าง “คอบร้า” อาศัยอยู่ในห้องเล็กๆ แต่ไฮเทค ห้องที่อยู่อาศัยคล้ายห้องนักบินอวกาศ มีคอมพิวเตอร์ที่ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก รวมทั้งที่ทำงานของตัวเอง ที่จ่ายเงินเดือนผ่านระบบสื่อสารทันสมัย ซองเงินเดือนโผล่ออกมาได้จากคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในห้อง

พ่อหนุ่มคอบร้า มีหุ่นยนต์ประจำตัวที่คอยเป็นเหมือนเลขาฯ อาศัยอยู่ด้วยกัน เขาถูกปลุกขึ้นมาด้วยหุ่นยนต์ ตื่นมาพบว่าชีวิตประจำวันยังคงน่าเบื่อเป็นปกติ เงินรายได้ไม่เพียงพอที่จะไปพักผ่อนด้วยการท่องเที่ยวอวกาศ ชีวิตของชนชั้นกลางอย่างคอบร้าไม่น่าตื่นเต้น หุ่นยนต์คู่หูจึงแนะนำให้ออกไปทำกิจกรรมแบบประหยัด แต่ก็ได้อรรถรสพอหายเบื่อ คงคล้ายๆ ที่ชนชั้นกลางในปัจจุบันนี้ ไม่มีอะไรทำก็ออกไปดูหนังตามห้างยังไงยังงั้น

แต่บริษัทที่คล้ายโรงหนังในโลกอนาคตนั้น ไฮเทคกว่า แทนที่ “คอบร้า” จะไปซื้อตั๋วที่เมเจอร์หรืออีจีวี เขากลับขึ้นยานอวกาศเล็กๆ ที่ใช้บินไปบินมาสัญจรเดินทางในเมือง ตรงไปยังบริษัท TM หรือบริษัท Trip Movie ที่ให้บริการคล้ายโรงหนัง แต่เป็นการไปนอนในแคปซูล แล้วเลือกที่จะฝันถึงอะไรก็ได้ จะแฟนตาซีขนาดไหนก็ได้ “คอบร้า” ก็เหมือนชายหนุ่มทั่วไป ชอบผจญภัย ชอบสาวงาม และชอบความตื่นเต้น เขาจึงเลือกที่จะนอนในแคปซูลความฝันและจินตนาการให้หลับและท่องเที่ยวไปสไตล์นั้น

“คอบร้า” ฝันว่า ตัวเองเป็นสลัดอวกาศรูปหล่อ มีคู่หูเป็นแอนดรอย์สาวงามนาม “เลดี้” มียานรบอวกาศสุดไฮเทคชื่อ “เตอร์เติล” มีอาวุธเป็นปืนติดแขนข้างนึง ชื่อ “ไซโคกัน” ยิงได้ตามใจนึก ทรงอานุภาพ แถมลำแสงยังวิ่งฉวัดเฉวียนตามไล่ฆ่าศัตรูได้อีกต่างหาก อย่างไรก็ดี แม้เป็นสลัดอวกาศ แต่ไม่นิยมความชั่วร้าย เขาจึงเป็นศัตรูกับองค์การร้ายในอวกาศชื่อ “กิลด์”

อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากเดินทางไปทั่วจักรวาล ต่อสู้กับองค์การร้ายในอวกาศ “กิลด์” เขาเกิดเบื่อชีวิตขึ้นมา และหลบหนีการไล่ล่า เปลี่ยนหน้าตามาซ่อนอยู่อยู่บนโลก และลืมความหลัง อยากจะใช้ชีวิตเหมือนมนุษย์ธรรมดา

เมื่อ “คอบร้า” ตื่นขึ้นมาจากทริปความฝัน เขารู้สึกแปลกๆ เหมือนว่าภาพเหตุการณ์ในฝันช่างแจ่มจริงเสียเหลือเกิน พร้อมกันนั้นก็รู้สึกสงสัยเล็กน้อย เมื่อแม่สาวพนักงานฉายหนังที่เอาการ์ดหนังใส่ในแคปซูลฝัน บอกว่า ไม่ได้ใส่เรื่องราวของ “โจรสลัดอวกาศ” ให้ “คอบร้า” นอนฝันเสียหน่อย และระหว่างทางกลับบ้าน เขาบังเอิญได้พบกับคนที่หน้าตาเป็นลูกสมุนขององค์การร้ายแห่งอวกาศ “กิลด์” ซึ่งเป็นคนที่ตามล่าล้างเขาอยู่ เขาเผลอไปทักชายผู้นั้น ปรากฏว่า โดนเล่นงานเข้าจริงๆ ในระหว่างการต่อสู้ เขาเกิดสัญชาติญาณตอบโต้ออกไป “คอบร้า” ถึงกับแตกตื่นกับอาวุธร้ายกาจที่ติดอยู่บนแขน

ฝันนั้นใช่เรื่องจริงหรืออย่างไร

เมื่อกลับถึงบ้าน องค์กรร้ายกิลด์ก็ตามกลับไป คอบร้าพบว่าหุ่นหน้าตางี่เง่าที่อยู่ด้วยมาตลอด กลับกลายเป็นมีหุ่นอีกตัวซ่อนอยู่ข้างใน นั่นก็คือ “เลดี้” คู่ใจของ “โจรสลัดอวกาศคอบร้า” นั่นเอง แล้วทั้งสองก็ออกตะลุยอวกาศกันอีกครั้ง

“คอบร้า” เป็นการ์ตูนญี่ปุ่นที่ชายวัยกลางคนอย่างผม เคยอ่านเมื่อสมัยยังเด็ก การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 1978 และต่อมาทำเป็นหนังการ์ตูนในปี 1982 เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในจินตนาการสำคัญสำหรับผู้ที่โตมาในยุค 80 ก็ว่าได้

“คอบร้า – โจรสลัดอวกาศ” เรื่องนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจหลายประการ ที่ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลที่ผมต้องหยิบยกมาลงในคอลัมน์ “บู๊ลิ้ม” ที่ถึงนิยายจีนกำลังภายใน

เรื่องแรก คือ จินตนาการแนวตะวันออกรูปแบบแฟนตาซี ที่ถือว่าพูดถึงโลกอนาคตได้อย่างทันสมัย น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้อีกหลายเรื่องราวต่อมา โดยเฉพาะหนังฮอลลีวูดที่ “อาโนลด์ ชวาซเนกเกอร์” เป็นพระเอก “Total Recall” ที่ฉายในปี 1990 สิบกว่าปีหลังจากคอบร้า ซึ่งว่ากันว่า แทบจะก็อปปี้ ตอนเปิดฉากของคอบร้ามาทั้งดุ้น (เรื่องนี้ มี “ชารอน สโตน” เล่นเป็นเมียอาร์โนลด์ และทำให้เธอเป็นที่จับตาหลังจากไม่รุ่งเลยตั้งแต่เล่นหนังมาหลายเรื่อง หลังจากเรื่องนี้ เธอไปถ่ายแบบวาบหวิว และอีกเพียงสองปี ก็โด่งดังกับบทบาทใน “Basic Instinct” )

น่าตื่นตาตื่นใจนะครับ สำหรับจินตนาการแฟนตาซีเกี่ยวกับโลกอนาคตของสายตะวันออก ซึ่งเด่นล้ำเช่นนี้ จินตนาการของ “คอบร้า” การ์ตูนยุคปลาย 70 นี้ มีมาก่อนจินตนาการหนังฝรั่งฮอลลีวูดหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นที่เล่าไปแล้วถึง “Total Recall” หรืออย่างฉากที่ “บรูซ วิลลิส” ตื่นตอนเช้ามาในห้องเล็กๆ คุยกับคอมพิวเตอร์ในห้อง แสดงบรรยากาศของชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อ แล้วก็ออกไปขับรถอวกาศฉวัดเฉวียนในเมืองอนาคตหน้าตาไฮเทค ใน “The Fifth Element” ปี 1997 เวลาผมดูหนังเรื่องนี้ก็ชวนระลึกถึงฉากในการ์ตูน “คอบร้า” ขับรถออกจากที่พักไปบริษัทท่องเที่ยวความฝันทุกครั้งไป ฝรั่งฮอลลีวูดมาทีหลัง “บุอิชิ เทราซาว่า” นะครับ

เรื่องที่สอง ก็คือ ที่ผมหยิบมาพาดพิงถึงก็เพราะอยากจะนำมาเปรียบเทียบกับแนวแฟนตาซีของ “นิยายจีนกำลังภายใน” ในฐานะเป็นจินตนาการ “สายตะวันออก” เหมือนกัน

เมื่อพูดถึงนิยายแฟนตาซีแนวตะวันออกนั้น ถือว่า “คอบร้า” เป็นจินตนาการกว้างไกลมากสำหรับเรื่องโลกอนาคต จินตนาการแนวแฟนตาซีนี้ หากเป็น “นิยายจีนกำลังภายใน” มักจะเจอในรูปของ “โลกของเทพ-มาร” มากกว่า อาจกล่าวได้ว่า แฟนตาซีของ “คอบร้า” นั้น เล่นกับเทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต ซึ่งเป็นจินตนาการทางวัตถุที่เป็น “รูปธรรม” ในขณะที่ “นิยายจีนกำลังภายใน” นั้น จะเล่นกับแนวความคิดความเชื่อที่เป็น “นามธรรม” เสียมากกว่า

เราจะพบจินตนาการแบบแฟนตาซีสายตะวันออกแนวเทพ-มาร ที่เป็นมิติเหนือมนุษย์อยู่ในหลายเรื่อง แต่ส่วนใหญ่จะอิงอยู่กับแนวลัทธิความเชื่อทางศาสนา หรือไม่ก็อิงอยู่กับตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมา มี “นิยายจีนกำลังภายใน” อยู่เรื่องหนึ่งที่เป็นแนวแฟนตาซีจัด ฉีกไปจากนิยายจีนกำลังภายในมาตรฐาน ก็คือเรื่อง “วาตะ-เมฆา” หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “ฟงอวิ๋น ขี่พายุทะลุฟ้า”

พูดถึงเรื่อง “วาตะ-เมฆา” คงต้องพูดถึงหลายตอน แต่ตอนนี้จะพูดถึงบางส่วนกันก่อน “วาตะ-เมฆา” ถือเป็น “นิยายจีนกำลังภายใน” แต่เกิดจากรูปแบบของการ์ตูนก่อน แล้วก็เป็นภาพยนตร์ ส่วนภาคที่เป็นหนังสือนิยายจีนกำลังภายในนั้น มีการแยกดำเนินการออกมาต่างหาก แต่ก็ยังยึดโยงบ้างอยู่กับสถานะความเป็นการ์ตูน

“วาตะ-เมฆา” จึงมีรูปแบบที่ผิดไปจากนิยายจีนภายในมาตรฐานอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นเดินเรื่องฉึบฉับ ว่องไว และมีลักษณะเป็นตอนสั้นๆ ที่มีเนื้อเรื่องในแต่ละส่วนชัดเจน โดยยึดโยงแก่นแกนเข้ากับสองตัวละครหลัก “วาตะ” และ “เมฆา” ซึ่งตัวเอกชื่อว่า “เนี่ยฟ่ง” และ “ปู่จิ้งอวิ๋น” (สมัยก่อนมีการแปลเรื่องนี้โดย น.นพรัตน์ ใช้ชื่อว่า “เนียบฮวง” กับ “โป่วเกียฮุ้น” แต่ปัจจุบัน สำนักพิมพ์บูรพัฒน์ผู้ถือลิขสิทธิ์เรื่องนี้ ใช้ชื่อออกเสียงเป็นภาษาจีนกลาง)

ส่วนตัวผมรู้สึกว่า “คอบร้า – โจรสลัดอวกาศ” นี้ มีส่วนคล้ายกับ “วาตะ-เมฆา” เป็นอย่างมาก ในการเดินเรื่องที่ฉึบฉับว่องไว และก็ยืดยาวไปเป็นตอนๆ แบบมีเนื้อหาและบทจบในแต่ละตอนของมันเอง โดยยึดโยงอยู่กับตัวละครหลักด้วยกันทั้งคู่

อีกประการก็คือ จุดเด่นของสองเรื่องคล้ายคลึงกันในจินตนการในเรื่องของ “อาวุธ”

นอกจาก “ไซโคกัน” ของ “คอบร้า” แล้ว ยังมีอาวุธที่ถูกจินตนาการขึ้นอย่างมากมาย สำหรับตอนนี้ ผมจะขอพูดถึงเฉพาะแต่ตอนต้นเรื่องของ “คอบร้า” เพียงเท่านั้น (แต่ก็เยอะและเร้าใจ) ที่เด่นๆ ก็มี จอมมารร้ายอวกาศที่เป็นมนุษย์พืช ที่ปลูกเมล็ดพันธุ์ลงไปในตัวคน และใช้ “คน” เป็น “อาวุธ” เล่นงาน “คอบร้า”

นอกจากนี้ยังมี “มนุษย์กระบี่” ซึ่งเป็นชนเผ่าทั้งเผ่าเลยทีเดียวครับ มีพลเมือง มีการปกครองของตนเอง มีพระราชา ชนเผ่านี้อยู่ในโลกทะเลทราย ที่น่าสนใจคือ “ชนเผ่ากระบี่” ใช้ชุดเกราะรูปร่างคน เป็นพาหะ ยืน เดิน นั่ง นอน ต่อสู้ โดยถือกระบี่ที่เป็นสิ่งมีชีวิต มีจิตใจ เป็นผู้ควบคุม “ร่างกายที่เหมือนรูปร่างมนุษย์” เมื่อ “คอบร้า” เจอชุดเกราะถือกระบี่ เขาจะฆ่าฟันหรือตัดหัวหลุดกระเด็นอย่างไรก็ไม่ตาย ยกเว้นสอยกระบี่ให้หัก จึงพบว่า จริงๆ แล้ว “อาวุธ” ที่ถือต่างหากเป็นฝ่ายควบคุม “ร่างกายที่คล้ายคน” โดย “อาวุธ” ต่างหากที่มีชีวิต ส่วนร่างกายนั้นไม่มี

ประเด็น “อาวุธ” ควบคุม “คน” หรืออาวุธอยู่เหนือคนเช่นนี้ จัดว่าแหวกขนบส่วนใหญ่ของนิยายจีนกำลังภายในนะครับ นิยายจีนกำลังภายในส่วนใหญ่ ให้ความสำคัญของ “คน” เป็นหลัก ส่วน “อาวุธ” เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น ดังที่ผมเคยเขียนถึงมาแล้วในบทความที่ว่า “อาวุธไม่ได้น่ากลัวเลย คนต่างหากที่น่ากลัว”

แนวคิดสายตะวันออกนั้น จะเน้นเรื่องมนุษย์และจิตใจ เป็นเอกในสรรพสิ่ง อยู่เหนือวัตถุใดๆ “นิยายจีนกำลังภายใน” จึงมักที่จะให้ความสำคัญของ “อาวุธ” รองมาจาก “คน”


หากแต่ในส่วนของ “วาตะ-เมฆา” (รวมทั้ง “คอบร้า” ) มีการวางสัดส่วนของอาวุธให้มีบทบาทเด่นพอๆ กันกับคน อาวุธทั้งในเรื่อง “วาตะ-เมฆา” และ “คอบร้า” เป็นปัจจัยช่วยชูโรงให้เรื่องราวสนุกสนานตื่นเต้น เรียกได้ว่ามีบทบาทควบคู่พอๆ กับ “คน” ผู้ใช้อาวุธเลยทีเดียว

เมื่อผมหยิบเอา “วาตะ-เมฆา” ออกมาอ่านซ้ำเพื่อจะเขียนถึง เมื่ออ่านไปถึงอาวุธสุดยอดที่จอมยุทธพากันแย่งชิงไปครอบครองอย่าง “บาตรปรมัตถ์” หินศักดิ์สิทธิ์ก้อนเล็กๆ ที่แปรสภาพเปลี่ยนรูปทรงเป็นอาวุธอะไรก็ได้ “บาตรปรมัตถ์” จึงร้ายกาจกว่า กระบี่ ดาบ ธนู หรืออาวุธใดๆ ทั้งสิ้น ผมพบว่าเรื่องราวของ “บาตรปรมัตถ์” นี้ คุ้นๆ ว่าไม่ใช่แนวคิดใหม่ ผมเคยอ่านเจอมาจากที่ไหนมาก่อน และเพียงไม่กี่นาทีผมก็จำได้เลือนรางว่าน่าจะเป็น “คอบร้า” ที่ผมเคยอ่านตอนเด็กๆ

ผมจึงดั้นด้นไปหาซื้อการ์ตูน “คอบร้า – โจรสลัดอวกาศ” มาจนครบ และเริ่มอ่านอีกครั้ง และก็พบว่า “ดวงตาเทพเจ้า” ที่ผมคุ้นเคยตอนเด็กๆ ในเรื่อง “คอบร้า” ก็คือ “หินรูปไข่” ก้อนเล็กๆ ที่มีดวงตา ที่คอบร้าพบเจอในปิระมิดกลางดาวที่เป็นทะเลทราย (ในขณะที่บาตรปรมัตถ์ถูกซ่อนไว้ในเจดีย์) ภาษาฝรั่งไม่ได้เรียกว่า “ดวงตาเทพเจ้า” เหมือนฉบับการ์ตูนแปลไทย แต่แปลออกมาได้ว่า “สุดยอดอาวุธในตำนาน” หินเล็กๆ ก้อนนี้ สามารถเปลี่ยนแปรรูปทรงไปได้เรื่อยๆ คือมีวิวัฒนาการมากขึ้น เมื่อพบเจอกระบี่ มันก็กลายเป็นสุดยอดอาวุธหน้าตาเหมือนกระบี่ พอเจอปืน มันก็แปรสภาพเป็นสุดยอดแห่งปืน ไปเจอรถถัง หรือยานอวกาศ ก็แปรสภาพเป็นสุดยอดของอาวุธนั้นๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วคล้ายมากกับ “บาตรปรมัตถ์” แต่ “บาตรปรมัตถ์” จะเจ๋งกว่าตรงที่แปรเปลี่ยนได้ตามใจสั่ง

อย่างไรก็ดี จุดจบของ “บาตรปรมัตถ์” และ “ดวงตาเทพเจ้า” สุดยอดอาวุธแห่งโลกหล้า ออกมาเหมือนกัน ก็คือ พ่ายแพ้กับ “คน” โดยที่ “ดวงตาเทพเจ้า” สู้ “ไซโคกัน” ของ “คอบร้า” ไม่ได้ เนื่องจาก “ไซโคกัน” เป็นการประสานระหว่าง “อาวุธ” กับ “จิตใจ” ของคน ส่วน “บาตรปรมัตถ์” ก็ไม่ได้มีความสำคัญเหนือ “ความรัก” และบทบาทสุดท้ายของ “บาตรปรมัตถ์” ที่ถูกมนุษย์ใช้ก็คือเป็นเกราะป้องกันภัยให้กับคน และผดุงไว้ซึ่งความสงบสุขของโลก

นิ้วที่กดปุ่มยิงขีปนาวุธ จึงไม่สวยงามเท่านิ้วที่กระหวัดเกี่ยวกันด้วยความรัก

กำลังโหลดความคิดเห็น