xs
xsm
sm
md
lg

การล้มละลายของประชาธิปไตยในสังคมไทย (1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ปัญญาพลวัตร"
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

สถานการณ์การเมืองของสังคมไทยเคลื่อนตัวไปสู่ภาวะการล้มละลายของระบอบประชาธิปไตย สิ่งบ่งชี้สำคัญคือ หลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยทุกทำลาย บิดเบือน และแปรรูปเปลี่ยนสภาพโดยนักการเมืองและเครือข่ายบริวารของพวกเขา หากสังคมไทยประสงค์จะสร้างประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่จำเป็นจะต้องกวาดล้างพิษร้ายและตะกอนของเสียทางการเมืองภายในกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ จนไปถึงกระบวนการใช้และตรวจสอบอำนาจ ที่ถูกผลิตมาอย่างต่อเนื่องในอดีตจนท่วมท้นปริมณฑลทางการเมืองในปัจจุบัน

กระบวนการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ.2540 ใช้การเลือกตั้งสองแบบ คือ การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพื้นที่ตามจำนวนประชาชน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อซึ่งใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง แม้รูปแบบของการเลือกตั้งทั้งสองแบบนี้เป็นกลไกที่บางประเทศใช้ได้อย่างมีประสิทธิผลคือ สามารถทำให้ได้มาซึ่งผู้แทนปวงชนส่วนใหญ่ที่มีสำนึกต่อผลระโยชน์ของบ้านเมือง มีคุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองสูง แต่สำหรับประเทศไทยหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

กรณีประเทศไทย การเลือกตั้งทั้งสองแบบกลับผลิต “ผู้อุปถัมภ์ประจำเขตและแคว้นเลือกตั้ง” ที่มีสำนึกทางการเมืองแบบคับแคบ ไร้คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมือง มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศชาติ มุ่งสร้างและขยายอาณาจักรแห่งอำนาจของตนเอง รวมทั้งประพฤติปฏิบัติเป็นนักฉวยโอกาสทางการเมือง นักค้าอำนาจ นักค้าเงิน และนักสร้างภาพ เป็นด้านหลัก

หลักคิดของการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพื้นที่แบบไทยๆ คือ การทำให้ได้ตัวแทนประชาชนจากพื้นที่หนึ่งๆเพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนในการสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนให้รัฐบาลและฝ่ายบริหารทราบ และการให้ได้มาซึ่งผู้อุปถัมภ์ที่คอยช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบปัญหาและความเดือดร้อนต่างๆ

เราจึงเห็น ส.ส.จำนวนไม่น้อยที่นำเรื่องปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่ตนเองไปพูดในการประชุมสภา หรือนำไปบอกพรรคพวกที่เป็นฝ่ายบริหารเพื่อให้จัดสรรงบประมาณไปสนองความต้องการของหัวคะแนนในพื้นที่ของตนเอง ปัญหาและความต้องการที่ปรากฏให้สาธารณะรับทราบบ่อยๆในพื้นที่ของ ส.ส. คือ ปัญหาการไม่มีถนน ไม่มีสะพาน ไม่มีศาลาที่พักริมทาง น้ำท่วม ภัยแล้ง เป็นต้น

และเราก็จะได้ยินวาทกรรมที่บรรดานักเลือกตั้งผลิตขึ้นมาอย่างซ้ำซากว่า ส.ส. เป็นผู้ใกล้ชิดประชาชนและรู้ปัญหาของประชาชนในพื้นที่ของตนเองดีที่สุด และต้องคอยช่วยเหลือดูแลความเดือดร้อนของประชาชน

หลักคิดแบบนี้จึงทำให้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตพื้นที่กลายเป็น “การเลือกผู้อุปถัมภ์ประจำเขต” มากกว่าการเลือก “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” เข้าไปทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติเพื่อสร้างกฎหมายที่เป็นธรรมและยังผลประโยชน์แก่ปวงชนทั้งมวล และตรวจสอบประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การทุจริตในการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร

ใครที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์ประจำเขตเลือกตั้งได้ ก็ต้องเป็นคนที่มีเงินทุนจำนวนมาก ทุนจำนวนมากมาจากไหน ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากสมบัติดั้งเดิมของตระกูล ส่วนหนึ่งก็มาจากการสนับสนุนของหัวหน้าก๊วนการเมือง ส่วนหนึ่งก็มาจากการสนับสนุนของนายทุนพรรค และส่วนที่น้อยมากๆมาจากการสนับสนุนที่ถูกต้องตามกฎหมายของพรรค

นอกจากมีเงินทุนแน่นหนาแล้ว ผู้อุปถัมภ์ก็ต้องเป็นคนที่มีเครือข่ายหัวคะแนนกว้างขวาง และมีระบบการจัดตั้งเพื่อระดมการซื้อคะแนนเสียงอย่างมีประสิทธิภาพ การสร้าง รักษา และขยายเครือข่ายก็ต้องอาศัยเงินทุน ประกอบกับมาตรการในการควบคุมกำกับและการให้รางวัลเพื่อให้หัวคะแนนมีความจงรักภักดีและไม่ทรยศหักหลัง ผู้อุปถัมภ์ประจำเขตเลือกตั้งบางคนจึงอาจใช้วิธีการรุนแรงในการควบคุมเครือข่ายของตนเอง และทำลายเครือข่ายของคู่แข่ง

เมื่อสร้างอาณาจักรแห่งอำนาจภายในเขตเลือกตั้งตนเองแล้ว ผู้อุปถัมภ์ประจำเขตบางคนก็แผ่ขยายอำนาจอิทธิพลของตนเองไปยังเขตเลือกตั้งอื่นๆ ดึงเอาผู้อุปถัมภ์ประจำเขตเลือกตั้งอื่นเข้ามาอยู่ในเครือข่ายอำนาจของตนเอง เปรียบเสมือนหัวเมืองใหญ่ผนวกเอาหัวเมืองเล็กๆ เข้ามาอยู่ในอาณัติของตนเอง เราจะเรียกผู้อุปถัมภ์ประจำเขตที่สามารถขยายอาณาจักรแห่งอำนาจของตนเองได้ว่า “ผู้อุปถัมภ์ประจำแคว้น”

เมื่อเป็นผู้อุปภัมภ์ประจำแคว้น พวกเขาก็มีคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี อันเป็นตำแหน่งที่สามารถใช้อำนาจและอิทธิพลในการเรียกเก็บส่วยและค่าหัวคิวจากบรรดาข้าราชการผู้มีความทะเยอทะยานและหวังความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และยังได้ค่าหัวคิว เงินใต้โต๊ะ เงินสินบน ส่วนแบ่งจากหุ้นลมจากนักธุรกิจผู้ต้องการได้โครงการ สัมปทาน การเช่าทรัพย์สินของรัฐ การอนุมัติหรือสิทธิพิเศษในการประกอบธุรกิจ ด้วยกลไกเช่นนี้ผู้อุปถัมภ์ประจำแคว้นจึงสามารถสะสมทุนและขยายทุนออกไปได้มากขึ้น เงินทองและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้จึงมีนับพันนับหมื่นล้านบาท

เมื่อผู้อุปถัมภ์เหล่านี้มีอายุมากขึ้นพวกเขาก็ดำเนินการสร้างทายาทสืบต่ออำนาจของตนเอง โดยเป็นการสืบทอดอำนาจ “แบบสืบสายเลือด” บรรดาบุตรหลานญาติพี่น้องของพวกเขาได้เข้ามารับมรดกแห่งอำนาจต่อไป อนึ่งระบบการสืบทอดอำนาจแบบสายเลือดเป็นรูปแบบการสืบทอดอำนาจแบบสังคมดั้งเดิมตั้งแต่สังคมชนเผ่า และสังคมศักดินา

เมื่อระบอบประชาธิปไตยได้รับการสถาปนาขึ้นมาในช่วงแรกๆ บรรดานักวิชาการจำนวนมากต่างวิเคราะห์ว่า การสืบทอดอำนาจแบบสืบสายเลือดคงจะสิ้นสุดลงในการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง เพราะระบอบประชาธิปไตยก่อให้เกิดความหลากหลาย ผู้คนมีความเท่าเทียมกันในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ พลเมืองทุกคนมีความเท่าเทียมกันในโอกาสของการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพราะพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นพลเมืองที่มีเหตุมีผล มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจเลือกว่าใครควรจะเข้าไปมีอำนาจ

สภาพประชาธิปไตยแบบนั้นอาจเกิดขึ้นในบางประเทศ แต่สำหรับประชาธิปไตยของประเทศไทยนับตั้งแต่พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกลับเป็นอีกแบบหนึ่งคือ กระบวนการสืบทอดอำนาจทางการเมืองกลับย้อนยุคไปสู่รูปแบบของสังคมโบราณคือ เป็นการสืบทอดอำนาจภายในครอบครัววงศ์ตระกูลนักการเมือง และเมื่อมีการขยายอำนาจสู่ท้องถิ่น ปรากฎการณ์ของการสืบทอดและการขยายอำนาจภายในวงศ์ตระกูลก็ปรากฎขึ้นอย่างชัดเจนและแพร่ระบาดไปแทบทุกว่านแคว้นในประเทศไทย เช่น ตนเองเป็นนักการเมืองระดับชาติ ส่วน ภรรยา พี่ น้อง หรือญาติ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นนายกเทศมนตรี หรือ เป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นต้น

ระบบการสืบอำนาจแบบวงศ์ตระกูลในยุคปัจจุบัน อาจมีวิธีการในรายละเอียดแตกต่างจากสังคมโบราณบ้าง กล่าวคือในยุคอดีต การสืบทอดอำนาจในวงศ์ตระกูลอาศัยรากฐานจากประเพณีดั้งเดิมและอำนาจของเทวสิทธิ์เป็นแหล่งของความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ โดยการยินยอมและยอมรับของเหล่าขุนนาง

แต่สำหรับการสืบทอดอำนาจในวงศ์ตระกูลปัจจุบันอาศัย การสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นผู้อุปถัมภ์ ระบบการจัดตั้งเครือข่ายหัวคะแนนและการซื้อสิทธิในการเลือกตั้งของประชาชนเป็นกลไกหลัก โดยแหล่งของความชอบธรรมคือจำนวนของคะแนนเสียงที่หาซื้อหรือหลอกลวงมาได้ ยิ่งซื้อคะแนนเสียงได้มากเท่าไร พวกเขาก็อ้างว่ามีความชอบธรรมมากเท่านั้น

การเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่ในบริบทสังคมไทย จึงไม่ทำให้ได้มาซึ่ง “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” เพื่อทำหน้าที่และใช้อำนาจอธิปไตยในนามของประชาชนอีกต่อไป แต่ทำให้ได้มาซื่ง “ผู้อุปถั้มภ์ประจำเขตและประจำแคว้น” หรือ เป็น “เจ้าเมืองยุคใหม่” ซึ่งได้อำนาจมาโดยการซื้อสิทธิหรือซื้ออำนาจอธิปไตยของประชาชน อันเป็นวิธีที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และบรรดาบุคลเหล่านี้ยังสร้างระบบการสืบทอดอำนาจภายในวงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นระบบที่ขัดแย้งกับหลักเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง

ระบบการเลือกตั้งแบบเขตพื้นที่ในสังคมไทยเท่าที่ผ่านมาจึงเป็นการสร้างภาวะการผลักไสหรือกีดกันทางการเมือง(political exclusion) ขึ้นมา ประชาชนผู้ไม่อยู่ในแวดวงของตระกูลนักการเมืองถูกจะกีดกันออกจากการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง ระบบการเลือกตั้งแบบเขตเลือกตั้งจึงตอบสนองและสร้างโอกาสในการเข้าสู่อำนาจเฉพาะกลุ่มนักเลือกตั้งที่เป็นนายทุนท้องถิ่นผู้สามารถสถาปนาตนเองขึ้นมาเป็นผู้อุปถัมป์ประจำเขตและประจำแคว้นเลือกตั้ง รวมทั้งวงศ์ตระกูลของพวกเขาดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ด้วยสภาพเช่นนี้อำนาจอธิปไตยเชิงปฏิบัติในปัจจุบันของสังคมไทยจึงหาได้อยู่กับประชาชนอีกต่อไป และเท่ากับว่าการเมืองแบบประชาธิปไตยล้มละลายไปแล้วในสังคมไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น