ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในที่สุดโลกก็รับรู้ว่า สถานการณ์ “ที่แท้จริง” ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น หนักหนาสาหัสกว่าที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คังแถลงมากมายนัก และไม่ว่าจะมีการอธิบายสักมากน้อยเพียงใดก็มิอาจปิดบังความจริงได้ว่า สถานการณ์นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นอยู่ในขั้นวิกฤตและยังไม่สามารถหาทางคลี่คลายได้
ที่สำคัญคือ เป็นวิกฤติที่นับวันมีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ และอยู่ในขั้นที่ไม่สามารถควบคุมได้ มิฉะนั้นแล้ว “นายนาโอโตะ คัง” คงไม่ประกาศยอมรับต่อรัฐสภาว่า สถานการณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจินั้นอยู่ในสภาพที่ “ไม่สามารถจะทำนายได้” และรัฐบาลญี่ปุ่น “จะรับมือกับปัญหานี้โดยใช้ความระมัดระวังเตรียมพร้อมระดับสูงสุด”
ทั้งนี้ ถ้าหากติดตามสถานการณ์นิวเคลียร์ที่ฟูกุชิมะก็จะพบว่า ในช่วงแรกๆ รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามสร้างสถานการณ์ว่า ทุกอย่างสามารถควบคุมได้ แต่ยิ่งนานไป ความเป็นจริงก็ยิ่งปรากฏให้เห็นว่า มีการปกปิดข้อมูลบางประการเอาไว้ และมีความเป็นไปได้สูงที่แกนของเชื้อเพลิงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้หลอมละลายไปตั้งแต่การระเบิดในช่วงแรกๆ ดังจะเห็นได้จากกัมมันตภาพรังสีที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้นตลอดเวลา และตัวเลขการปนเปื้อนสู่ห่วงโซ่อาหารรวมถึงสภาพแวดล้อมที่ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ
กระทั่งคนญี่ปุ่นเองถึงกับลุกขึ้นมาประท้วงและขอร้องให้รัฐบาลรวมทั้งบริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์หรือเทปโกเปิดเผยความจริงที่เกิดขึ้น
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ใครบิดเบือนข้อมูลและปกปิดความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ของ “เทปโก” หรือ “รัฐบาลของนายนาโอโตะ คัง” หรือทั้งสองฝ่ายต่างช่วยกันปกปิดข้อมูลทั้งคู่
ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าหากติดตามวิกฤตการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิจิตั้งแต่เริ่มต้นก็จะพบเห็นว่า มีความผิดปกติในการเปิดเผยข้อมูลจากทั้งเทปโกและรัฐบาลญี่ปุ่นเอง เพียงแต่พวกเขาคาดหวังว่า จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ลงได้ จึงปกปิดข้อมูลบางประการเอาไว้ ทว่า นานวันไปสถานการณ์นอกจากจะไม่สามารถคลี่คลายได้แล้ว ยังทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ
สิ่งที่ตอกย้ำการบิดเบือนข้อมูลประการแรกคือ การที่จอมแฉอย่างวิกิลีกส์ออกมาระบุว่า สำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือไอเออีเอเคยเตือนญี่ปุ่นมากว่า 2 ปีแล้วถึงความไม่ปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ญี่ปุ่นเร่งปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัย แต่รัฐบาลญี่ปุ่นกลับเพิกเฉย
ในครั้งนั้น ใครที่ติดตามสถานการณ์จะเห็นว่า ทั้งเทปโกและรัฐบาลญี่ปุ่นก็มิได้ออกมาตอบโตข้อมูลของทางวิกิลีกส์เลยแม้แต่น้อย
จากนั้นก็ตามมาด้วยการยอมรับของเทปโกว่า พวกเขาละเลยต่อการตรวจสอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเข้มงวด โดยมีการปลอมบันทึกการซ่อมบำรุงในช่วง 10 วันก่อนที่จะเกิดมหาวิบัติภัยในวันที่ 11 มีนาคม
ความหนักหน่วงของสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงและเห็นได้ชัดว่า มิได้คลี่คลายลงตามที่เทปโกแถลงก็คือ การที่ทางเทปโกใช้วิธีคลี่คลายความร้อนของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ด้วยการฉีด “น้ำทะเล” เข้าไปเพื่อหล่อเย็น ตามต่อด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์ชินุกบรรทุกน้ำทะเลไปโปรยที่เตาปฏิกรณ์ เพราะถ้าหากสถานการณ์ไม่วิกฤตจริงการใช้น้ำทะเลน่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ขณะที่การใช้เฮลิคอปเตอร์ขนน้ำทะเลไปเทก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับอันตรายจากสารกัมมันตรังสี
กระทั่งจำนนด้วย “หลักฐาน” ถึงได้มีการยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ถ้าหากไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ล่าสุดของสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ นับตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคมเรื่อยมา ก็จะพบเห็นความจริงว่า มีการบิดเบือนข้อมูลและสถานการณ์ก็มิได้พัฒนาไปแนวทางที่ดีขึ้น
25 มีนาคม
วันนี้เป็นวันที่โลกได้รับรู้ว่า ปฏิบัติการและความสำเร็จของการต่อสายไฟฟ้าเข้ากับระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่มีการโพนทะนาก่อนหน้านี้ ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ยังไม่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะหลังจากเทปโกส่งอาสาสมัครจำนวน 300 คนไปปฏิบัติการซ่อมระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ได้ไม่นานนัก เทปโกมีมีคำสั่งให้พนักงานจำนวนหนึ่งออกจากพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อความปลอดภัย หลังจากพบว่าเจ้าหน้าที่ 3 คนที่กำลังเดินสายไฟใกล้กับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ได้รับปริมาณรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำในบริเวณที่ปฏิบัติงานสูงถึง 1 หมื่นเท่าจากระดับรังสีปกติที่ร่างกายมนุษย์ได้รับ
โดยทั้งสามคนได้รับรังสีประมาณ 173-180 มิลลิซีเวิร์ตส์ และต้องส่งเจ้าหน้าที่ 2 ใน 3 คนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เนื่องจากรังสีเบต้าที่ได้รับทำลายเนื้อเยื่อบริเวณขาอย่างรุนแรง ขณะที่เจ้าหน้าที่อีก 1 คนได้รับรังสีในระดับสูงเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในภายหลัง
และจนกระทั่งถึงขณะนี้ก็ยังคงไม่เห็นวี่แววความสำเร็จของการระบายความร้อนให้แก่แท่งเชื้อเพลิงแต่ประการใด ทั้งๆ ที่เริ่มดำเนินการมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 สัปดาห์
และในวันเดียวกันนี้นี่เอง นายฮิเดอิโกะ นิชิยามา โฆษกสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์แถลงยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่แกนปฏิกรณ์ภายในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ ไดอิจิ หมายเลข 1 อาจเกิดรอยแตก ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า จะเกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในสภาพแวดล้อมในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายนิชิยามาคนเดียวกันนี้ออกมายอมรับว่า แกนกลางของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 หลอมละลายบางส่วนไปแล้ว
26 มีนาคม
เทปโกแถลงยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ตรวจพบน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่ชั้นล่างของอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของกันหันปั่นไฟที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 โดยสารกัมมันตรังสีที่ตรวจพบในครั้งนี้สูงถึง 1.8 ล้านเบคเคอเรลหรือ 1 หมื่นเท่าจากระดับปกติ
ขณะที่ไอเออีเอให้ความเห็นว่า นอกจากจะสงสัยกันว่า อาจจะมีการรั่วของครอบแกนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 แล้ว ข้อมูลยังชี้ว่า อาจมีการรั่วของเตาหมายเลข 3 อีกด้วย
ทั้งสองเหตุการณ์คือบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นภัยพิบัติที่ขยายวงกว้างขึ้น
27 มีนาคม
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เทปโกได้เปิดเผยถึงการตรวจพบปริมาณกัมมันตภาพรังสีน้ำที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติถึง 10 ล้านเท่า โดยปริมาณการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีสูงถึง 1,000 มิลลิซีเวิร์ตส์ต่อชั่วโมง ซึ่งถืออยู่ในระดับที่อันตรายมาก ขณะที่ปริมาณกัมมันตภาพรังสีในน้ำทะเลใกล้กับโรงไฟฟ้าก็ปรับสูงขึ้นจาก 1,250 เท่าจากระดับปกติเมื่อวันที่ 26 มี.ค.เป็น 1,850 เท่าเมื่อวันที่ 27 มี.ค.
ก่อนที่ นายเคชิ คูริตะ โฆษกของเทปโกจะออกมาแถลงในช่วงค่ำของวันเดียวกันว่า ปริมาณการปนเปื้อนสารกัมมันตรังมีที่ตรวจพบในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ที่สูงกว่าปกติถึง 10 ล้านเท่านั้น สูงเกินไปจนเชื่อว่าน่าจะเป็นการอ่านค่าผิดพลาด
กรณีนี้ก็มีเงื่อนงำและถือเป็นเรื่องผิดปกติที่ชวนให้น่าสงสัยว่า เทปโกปกปิดข้อมูลอีกเช่นกัน เพราะไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีความผิดพลาดในการอ่านค่าด้วยตัวเลขที่ต่างกันอย่างมโหฬาร คือจาก 10 ล้านเท่าเป็นแค่ 1 แสนเท่าในการแถลงแก้ไขในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา
ที่สำคัญคือไม่น่าเชื่อว่า เจ้าหน้าที่ของเทปโกที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์โดยตรงจะอ่านค่าผิดพลาดจนทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองเช่นนี้ เพราะโดยปกติแล้วก่อนที่จะมีการประกาศตัวเลขอะไรออกมา ก็น่าที่จะมีการเช็กข้อมูลจนมีความมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์เสียก่อน
ดังนั้น สมมติฐานในเรื่องนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่า เป็นตัวเลขการปนเปื้อนที่สูงเกินกว่าปกติ 10 เท่านั้นเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง เพียงแต่มีมือที่มองไม่เห็นสั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลงเสียใหม่เพื่อป้องกันการตื่นตระหนัก
ขณะเดียวกันทางเทปโกเองก็ปฏิเสธที่จะให้หน่วยงานอิสระเข้าไปตรวจสอบค่าสารกัมมันตรังสีร่วมด้วยโดยมิได้ให้เหตุผล มิหนำซ้ำรัฐบาลญี่ปุ่นก็มิได้แสดงท่าทีต่อการตัดสินใจของเทปโกแต่อย่างใด
แต่สิ่งที่แน่นอนของความจริงที่ญี่ปุ่นก็คือคำให้สัมภาษณ์ของนายยูกิยะ อามาโน ผู้อำนวยการไอเออีเอที่ออกมาเตือนว่า วิกฤตนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นจะต้องทอดยาวออกไปอีกหลายสัปดาห์หรืออาจจะเป็นเดือนๆ เมื่อดูจากความเสียหายอย่างมากของโรงไฟฟ้า โดยมองเห็นสัญญาณด้านบวกน้อยมากในความพยายามที่จะเชื่อมต่อไฟฟ้ากลับเข้าไปยังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง
โดยเฉพาะคำเตือนอันน่าสะพรึงกลัวของไอเออีเอที่ระบุว่า “สิ่งที่วิตกกังวลมากที่สุดในขณะนี้คือการที่แท่งปฏิกรณ์ใช้แล้วถูกปล่อยไว้ในสระเก็บแท่งเชื้อเพลิงที่ไม่มีสิ่งปกปิดด้านบนของอาคาร และไม่แน่ใจว่าความพยายามที่จะฉีดน้ำทะเลเข้าไปยังสระเพื่อช่วยไม่ให้แท่งปฏิกรณ์เกิดระเบิดแล้วปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกสู่ชั้นบรรยากาศประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจหรือไม่ เพราะตราบใดที่ระบบหล่อเย็นยังไม่ทำงาน อุณหภูมิของน้ำในสระก็จะเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด”
28 มีนาคม
หากยังจำกันได้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งให้ประชาชนอพยพออกนอกรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ และให้ประชาชนอยู่ในที่อยู่อาศัยนอกพื้นที่ 30 กิโลเมตร แต่ในวันนี้ องค์กรนานาชาติที่อุทิศตนเพื่ออนุรักษ์สัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือกลุ่มกรีนพีซ ยืนยันว่า ตรวจพบระดับกัมมันตภาพรังสีสูงถึง 10 ไมโครซีเวิร์ตส์ต่อชั่วโมงที่หมู่บ้านอีดาเตะ ที่ตั้งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือถึง 40 กิโลเมตร
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นได้ออกคำเตือนว่า ฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้อาจปนเปื้อนองค์ประกอบของสารกัมมันตรังสีและปนเปื้อนน้ำดื่มผ่านทางแม่น้ำหรือเขื่อนที่นำมาผลิตน้ำประปา จึงขอให้โรงงานใช้ผ้าใบปิดคลุมบ่อกักเก็บน้ำด้วย
และในวันเดียวกันนั้นเอง นายจอห์น เอาเออร์บัช หัวหน้าสำนักงานสาธารณสุข รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ก็ตรวจพบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในระดับต่ำในน้ำฝนในรัฐแมสซาชูเซตส์ด้วย
เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่กระทรวงสาธารณสุขตรวจพการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังในมันเทศจำนวน 75 กิโลกรัมที่มาจาก จ.อิบารากิ บนเกาะฮอนชู ซึ่งแม้จะมีระดับการปนเปื้อนไม่เกินมาตรฐาน แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็ได้สั่งระงับการจำหน่ายและเตรียมทำลายทิ้งต่อไป
รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ แห่งสถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล ให้ความเห็นต่อกรณีมันเทศเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ปกติแล้วเมื่อมีสารกัมมันตรังสีรั่วออกมา กัมมันตภาพรังสีจะกระจายอยู่ในอากาศและตกลงมาเกาะตามผักผลไม้ แต่ถ้ามีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ในหัวมันเทศที่อยู่ในดิน ถือว่าสถานการณ์อันตรายและเลวร้าย”
29 มีนาคม
หลังจากสถานการณ์ไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายลง ในที่สุดนายกรัฐมนตรีนาโอโตะ คังของญี่ปุ่นก็ได้แถลงยอมรับต่อหน้ารัฐสภาว่า มหาวิบัติภัยนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิมะนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่อาจทำนายได้และรัฐบาลเตรียมรับมือโดยใช้ความระมัดระวังระดับสูงสุด
สอดคล้องกับนายยูคิโอะ เอดาโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ปฏิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล ที่แถลงว่า เจ้าหน้าที่พบสารพลูโตเนียมรั่วไหลออกมากับน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะซึมสู่พื้นดินบริเวณด้านนอกโรงไฟฟ้า โดยพบพลูโตเนียมปนเปื้อนพื้นดินใน 5 บริเวณ
ทั้งนี้ สำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และทางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นแถลงตอกย้ำถึงความรุนแรงของปัญหาว่า การพบสารพลูโตเนียม ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีฤทธิ์สูงในการก่อมะเร็ง อาจหมายความว่า กลไกต่างๆ ที่ใช้ในการห่อหุ้มครอบคลุมแกนกลางของเตาปฏิกรณ์ได้เกิดการแตกร้าวขึ้น โดย นายฮิเดฮิโตะ นิชิยามะ รองผู้อำนวยการของสำนักงานแหงนี้ระบุว่า “พลูโตเนียมเป็นสารที่ปล่อยไอออกมาเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น แต่เนื่องจากมันเป็นธาตุหนัก ดังนั้น จึงไม่ใช่จะรั่วไหลออกมาง่ายๆ และถ้าหากพลูโตเนียมเหล่านี้ออกมาจากเตาปฏิกรณ์ นั่นก็คือบอกกับเราว่า แท่งเชื้อเพลิงได้รับความเสียหาย ยิ่งถ้าหากมันรั่วไหลออกจากระบบห่อหุ้มที่อยู่ชั้นในด้วยแล้ว มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความหนักหน่วงและร้ายแรงของอุบัติภัยคราวนี้”
โดยพลูโตเนียมดังกล่าวรั่วไหลออกมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ที่เป็นเตาปฏิกรณ์เพียงแห่งเดียวที่ใช้เชื้อเพลงที่มีส่วนผสมของพลูโตเนียม
สำหรับความร้ายแรงของพลูโตเนียมนั้น ด้วยความที่เป็นธาตุที่มีพลังงานสูงมากและมีพิษสงร้ายแรง ซึ่งหากธาตุพลูโทเนียมเริ่มย่อยสลายปล่อยกัมมันตภาพรังสีสู่สิ่งแวดล้อม หากใครสูดดมเข้าร่างกายแล้ว กัมมันตภาพรังสีพลูโทเนียมจะอยู่ในร่างกายคนนั้นตลอดกาล เพราะกัมมันตภาพรังสีพลูโทเนียมมีอายุยืนยาวหลายแสนปี เมื่ออยู่ในร่างกายสิ่งมีชีวิตจะมีผลทำลายเนื้อเยื่อ ทำลายโครงสร้างเซลพันธุกรรม นำไปสู่ภาวะเกิดมะเร็งและการกลายพันธุ์
และในวันเดียวกันนี้เอง ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างจีน เวียดนาม เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ต่างก็รายงานกันว่า ได้ตรวจพบกัมมันตภาพรังสีพัดปลิวมายังดินแดนของพวกเขา ซึ่งแม้ปริมาณที่ตรวจพบจะมีระดับเล็กน้อยและไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ตาม แต่นั่นก็หมายความว่า อาณาเขตของการการแพร่กระจายสารกัมมันตรังสีได้ขยายวงออกไปนอกประเทศญี่ปุ่นแล้ว เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่ตรวจพบว่า น้ำมันที่ตกในมลรัฐโอไฮไอมีการปนเปื้อนสารกัมตรังสี
รวมแล้วมีถึง 9 ประเทศเป็นอย่างน้อยที่สารกัมมันตรังสีจากญี่ปุ่นแพร่สะพัดไปถึง
30 มีนาคม -31 มีนาคม
ในช่วงระหว่าง 2 วันนี้ สถานการณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะตึงมือไปเรื่อยๆ และดูเหมือนว่าเทปโกจะดิ้นรนอย่างหนักในการหยุดยั้งการแพร่สารกัมมันตรังสี โดยพยายามค้นหาวิธีการใหม่ๆ มาใช้ เช่น การฉีดพ่นยางเรซินสังเคราะห์ตามพื้นประมาณ 2 ใน 3 ส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นกัมมันตภาพรังสีปลิวขึ้นสู่อากาศหรือถูกชะล้างลงมหาสมุทรแปซิฟิก
นอกจากนี้ ยังมีแผนการอื่นๆ เตรียมเอาไว้อีกมากมาย เช่น การนำสิ่งทอที่ทำจากวัสดุพิเศษมาคลุมด้านนอกของอาคารเตาปฏิกรณ์จำนวน 3 เครื่องที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพื่อจำกัดกัมมันตภาพรังสีที่ออกมาสู่ภายนอก รวมถึงแผนการที่จะนำเอาเรือบรรทุกน้ำมันที่ไม่ได้ใช้ไปจอดทอดสมอใกล้ๆ กับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 แล้วให้คนงานสูบเอาน้ำปนเปื้อนรังสีเข้มข้นสูงที่มีปริมาณมากเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิกหลายๆ สระออกมาบรรจุไว้ในเรือ
ขณะเดียวกันก็มีรายงานด้วยว่า สหรัฐฯ ได้ส่งหุ่นยนต์จำนวนหนึ่งมาให้ญี่ปุ่นยืมใช้ โดยหุ่นยนต์ดังกล่าวสร้างขึ้นตามแบบจำลองที่ใช้ทดสอบทำสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน โดยพวกมันสามารถเคลื่อนที่ไปตามทิศทางที่กำหนด ถ่ายภาพและเก็บกวาดซากปรักหักพังต่างๆ ภายในอาคารเตาปฏิกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย
นั่นก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่า วิธีการต่างๆ ที่เคยใช้อยู่ล้มเหลวสิ้นเชิง
ที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ ได้มีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีในน้ำของมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้า มีระดับพุ่งพรวดอย่างน่าตกใจ กล่าวคือก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ระดับรังสีบริเวณดังกล่าววัดได้ที่ 1,850 เท่าของขีดสูงสุดที่กฎหมายอนุญาต จากนั้นในวันที่ 30 มี.ค.ก็ขยับขึ้นไปเป็น 3,335 เท่า และในวันที่ 31 มี.ค.ก็พุ่งขึ้นไปถึง 4,385 เท่า
นายสึเนฮิซะ คัตสึมาตะ ประธานของเทปโกถึงกับยอมรับว่า “เรายังไม่ทราบข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญๆ หลายประการ เป็นต้นว่า เหตุนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นจะยุติลงได้ด้วยวิธีไหน พูดง่ายๆ ก็คือ คาดหมายได้ว่า สถานการณ์อันยากลำบากมากๆ เช่นในเวลานี้จะยังคงดำเนินต่อไป”
และในวันเดียวกันนั้นเองก็เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตนิวเคลียร์เป็นต้นมาที่รัฐบาลญี่ปุ่นแสดงการยอมรับว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ยังบกพร่อง
ยูกิโนบุ โอกามูระ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยรอยเลื่อนมีพลังและแผ่นดินไหวญี่ปุ่น ล่าสุดเมื่อปี 2009 เขาเคยเตือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการดูแลของบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ว่าอาจได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่สำนักความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป และล้มเหลวในการเตรียมมาตรการป้องกันภัย
........
ถึงตรงนี้ คงไม่ต้องมีคำถามถึงการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีออกสู่สภาพแวดล้อมภายนอกว่าหนักหนาสาหัสเพียงใด เพราะสิ่งที่ปรากฏสู่สายตาของชาวโลกคือคำตอบของสถานการณ์ที่แท้จริง
โจทย์ใหญ่ของญี่ปุ่นก็คือ จะมีวิธีการอย่างไรในการหยุดยั้งมหันตภัยครั้งนี้ ทั้งการหยุดยั้งการหลอมละลายของแกนเชื้อเพลิงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทั้งน้ำทะเล 4,500 ตันที่ถูกฉีดเข้าหล่อเลี้ยงเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และอีก 835 ตันที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 และไม่นับรวมถึงน้ำจืดอีกจำนวนมหาศาลภายหลังการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีเลิกใช้น้ำทะเลเนื่องจากมีฤทธิ์กัดกร่อนโลหะจนสร้างความเสียหายให้กับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ว่า รัฐบาลของนายนาโอโตะคังจะจัดการได้อย่างไร
“สถานการณ์รุนแรงมาก พวกเขาตั้งปั๊มน้ำที่ปนเปื้อนออกและกำจัดทิ้งเพื่อที่จะลดปริมาณสารกัมมันตรังสีให้ลดต่ำลง แต่ในความจริงแล้วเป็นไปไม่ได้ เพราะอยู่ในพื้นที่นั้นเพียงแค่ 2-3 นาทีก็อันตรายแล้ว”นายโรเบิร์ต ฟิงก์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกป้องสารกัมมันตรังสีของสวีเดนกล่าว
ขณะที่ปริมาณกัมมันตภาพรังสีในน้ำทะเลใกล้กับโรงไฟฟ้าที่สูงมากขึ้นถึง 4,385เท่าของระดับปกติที่ทางญี่ปุ่นบอกว่า จะสามารถสลายได้เองตามธรรมชาตินั้นก็มีความเห็นที่แตกต่างจาก “นายสมวงศ์ ตระกูลรุ่ง” ผู้อำนวยการสถาบันจีโนม ไบโอเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ระบุว่า “กัมมันตภาพรังสีในน้ำทะเล ถ้าเข้มข้นสิ่งมีชีวิตจะตายทันที ถ้าเจือจางดีเอ็นเอจะกลายพันธุ์ ปลาเป็นหมัน เป็นมะเร็ง”
ดังนั้น สิ่งเดียวที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยจะสามารถกระทำได้ก็คือ การเร่งตรวจสอบและป้องกันมหันตภัยนิวเคลียร์ในครั้งนี้ด้วยตัวเองอย่างไม่ประมาท และเปิดเผยความเป็นจริงให้กับประชาชนได้รับรู้