xs
xsm
sm
md
lg

ชาวอ.สองแควหวั่นกระทบพื้นที่ป่า-ที่ทำกินค้านตั้งเสาวางสายรับไฟจากหงสาลิกไนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้วยหวั่นว่า ชุมชนและพื้นที่ป่า จะได้รับผลกระทบจากการวางเสาไฟฟ้าแรงสูง ชาวบ้านในหลายตำบลจึงออกมาคัดค้านโครงการดังกล่าวและขอให้ย้ายจุดดำเนินการ
น่าน - ชาวบ้านอำเภอสองแคว รุมค้านแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ตามโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ที่จะรับซื้อจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์ สปป.ลาว หวั่นกระทบพื้นที่ป่าไม้และที่ดินทำกิน ขณะที่ กฟผ. พร้อมแจงทุกคำถาม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านจากหลายตำบลในอ.สองแคว จ.น่าน ประกอบด้วยต.ชนแดน นาไร่หลวง และยอด จำนวน 8 หมู่บ้าน กว่า 300 คน นำโดยนายวิจิตร จิตรวงศ์นันท์ ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงอำเภอสองแคว ได้ร่วมกันคัดค้านการวางแนวเสาไฟฟ้า ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ในเวทีการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ซึ่งกฟผ.จัดขึ้นที่หอประชุม อบต.นาไร่หลวง อ.สองแคว

ทั้งนี้ ชาวบ้านต้องการให้ยกเลิกหรือย้ายการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ที่จะวางแนวเสาไฟฟ้าในพื้นที่อ.สองแคว และอาจส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ชนแดน และ ต.นาไร่หลวง ขณะที่ กฟผ. ได้ตอบคำถามทุกข้อสงสัยของชาวบ้านในกรณีดังกล่าว

นายสมเดช เขียนนา ชาวบ้านบ้านปางกอม ต.ชนแดน อ.สองแคว กล่าวว่า ตนได้ยื่นหนังสือคัดค้าน ต่อนายนันทพล ชิดสิน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อมและบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังเจ้าหน้าที่ กฟฝ. ได้มาติดป้ายวางแนวเสาไฟฟ้าในพื้นที่ ซึ่งเป็นที่ดินทำกินไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 8 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้นและเตรียมปลูกบ้านเพื่อให้ครอบครัวทั้งหมด 9 ชีวิตได้มาอาศัยทำกิน แต่เมื่อมีโครงการวางแนวเสาไฟฟ้าพาดผ่าน ก็เกิดความกังวลใจว่าจะไม่มีที่ดินทำกินไว้ให้เป็นสมบัติของลูกหลานและจะไม่ได้รับการชดเชยที่เป็นธรรม

ขณะที่ตัวแทนชาวบ้านอีกหลายราย แสดงความห่วงใยว่า โครงการนี้ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้าน รวมทั้งการก่อสร้างเสาไฟฟ้าจะต้องพาดผ่านป่าชุมชน ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ และมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมากที่จะต้องถูกตัดโค่น ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย และในระยะยาว อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพและปริมาณน้ำ ต้นน้ำที่มีสภาพเหือดแห้ง ซึ่งจะส่งผลต่อประปาภูเขา ที่เด็กนักเรียนระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 กว่า 400 คนของโรงเรียนบรรณโศภิษฐ์ และชาวบ้านอีก 3-4 ชุมชน ใช้ดื่มกินจะต้องขาดแคลนน้ำในอนาคต

นอกจากนี้ ยังทำให้ที่ดินทำกินของชาวบ้านลดน้อยลงไปอีก ก็จะทำให้เกิดการบุกรุกป่ามากยิ่งขึ้น และไม่มีความชัดเจนในเรื่องคลื่นแม่เหล็กที่จะส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้าน โดยชาวบ้านได้ยืนยันในที่ประชุมว่า ขอให้ กฟผ.ย้ายแนวสายส่งไฟฟ้าออกไป เพราะชาวบ้านไม่ต้องการ

นายวิจิตร จิตรวงศ์นันท์ ประธานกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง อ.สองแคว กล่าวว่า ชาวบ้านกว่า 200 ครอบครัว ในพื้นที่ ต.ชนแดน และ ต.นาไร่หลวง ต้องการให้ กฟผ. ยกเลิกการวางแนวเสาไฟฟ้าพาดผ่านพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน และการเปิดเวทีชี้แจงโครงการฯ ก็ต้องการให้ กฟผ.บอกข้อมูลงานวิจัยถึงผลกระทบและข้อเท็จจริงทั้งหมดให้ชาวบ้านได้รับทราบเพื่อการตัดสินใจ

ด้านนายนริศพงศ์ นรารัตน์กุล หัวหน้าหน่วยสำรวจที่ดินและทรัพย์สิน กฟผ.กล่าวขณะเข้าตรวจเยี่ยมบ้านของผู้ได้รับผลกระทบว่า กฟผ. ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สำรวจแนวสายส่งไฟฟ้า และสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านมาก่อนแล้ว แต่ยังเกิดปัญหาความไม่เข้าใจในเรื่องแนวทางและหลักการ ซึ่งก็ต้องอธิบายให้มากขึ้น ทั้งเรื่องความกังวลเกี่ยวกับการตัดต้นไม้ใหญ่ ก็จะต้องหลีกเลี่ยงและตัดเฉพาะเท่าที่จำเป็น รวมทั้งจะต้องมีการปลูกต้นไม้ทดแทน

ในเรื่องความปลอดภัยกฟผ. ก็ยืนยันได้ว่า จะไม่เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และต้องดูแลในเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จะต้องเข้าไปดูแลในเรื่องการชดเชยความเสียหายอย่างเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การสำรวจวางแนวสายไฟฟ้าและการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ยังเป็นขั้นตอนเบื้องต้น ซึ่งจะต้องมีการสำรวจทรัพย์สินของประชาชนที่จะถูกเสาไฟฟ้าพาดผ่านอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อเตรียมประชุมหลักการชดเชยอย่างเป็นธรรมแก่ชาวบ้านต่อไป และจะต้องมีการจัดเวทีสร้างความเข้าใจแก่ชาวบ้านในพื้นที่ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดความขัดแย้ง

สำหรับโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ที่จะรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสาลิกไนต์ สปป.ลาว กฟผ.มีโครงการก่อสร้างระบบสายส่ง เพื่อรับซื้อไฟฟ้าประมาณ 1,473 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติตามมติ ครม. 13 ก.ค. 2553 และมีแผนที่จะนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ กฟผ.ต้องก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ จากชายแดน ในเส้นทางพื้นที่ป่าชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1B ตำบลชนแดน อ.สองแคว จ.น่าน ผ่านจ.แพร่และเข้าสู่สถานีไฟฟ้าแรงสูงแม่เมาะ 3 จ.ลำปาง ระยะทาง 270 กิโลเมตร และเนื่องจากระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์มีแนวสายบางส่วนพาดผ่านพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมจำนวน 23 ช่วง อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 9 ป่าระยะทาง 42 กิโลเมตร ซึ่งการดำเนินงานพื้นที่ดังกล่าวจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

กฟผ.จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ซึ่งประกอบด้วยทรัพยากรทางกายภาพ ทรัพยากรทางชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต รวมถึงการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น