ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- นครใหญ่ศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งภาคใต้เวียดนามกำลังจะขาดแคลนไฟฟ้าอย่างหนักในไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเริ่มในเดือนหน้า รัฐวิสาหกิจไฟฟ้ายังไม่สามารถผลิตให้พอกับความต้องการได้ ทางการนครได้แจ้งเตือนไปยังโรงงาน บริษัทห้างร้านต่างๆ ตระหนักถึงปัญหา และติดตั้งเครื่องปั่นไฟไว้สำรอง
โฮจิมินห์กำลังจะไฟฟ้าถึง 2 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี เริ่มในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงเดือนแรกของฤดู “พีค” ที่มีการใช้ไฟฟ้ามากที่สุด โดยคาดว่าการไฟฟ้าจะสนับสนุนให้ได้ระหว่าง 46.8-53 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงเท่านั้น หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋รายงานอ้างคำแถลงของทางการฉบับหนึ่ง
สำนักงานอุตสาหกรรมและการค้าโฮจิมินห์ แจ้งเตือนถึงบรรดาบริษัทและโรงงานที่ผลิตสินค้าและอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เตรียมรับมือ ติดตั้งเครื่องปั่นไฟไว้ใช้ในชั่วโมงวิกฤต และเรียกร้องให้ทุกฝ่าย รวมทั้งประชาชนผู้ใช้ไฟราว 1.8 ล้านครัวเรือนทั่วนครใหญ่ต้องประหยัด และใช้ให้มีคุณค่ามากที่สุด
นายหวี่งกิมต๊วก (Huynh Kim Tuoc) ผู้อำนวยการศูนย์รณรงค์ประหยัดพลังงานนครโฮจิมินห์ กล่าวว่าเพียงแต่ครัวเรือนต่างๆ ปิดเครื่องปรับอากาศวันละ 30 นาที จะช่วยประหยัดถึงวันละ 900,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ลดความขาดแคลนลงได้เกือบครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาในการดับไฟสั้นลง
สำหรับโรงงานต่างๆ ซึ่งใช้ไฟฟ้า 5,200 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง/ปี หากสามารถลดการใช้ลงเพียง 5% ก็จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดลงได้ 800,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง/ต่อปีต่อวัน
สำนักงานและอาคารของรัฐบาลจำนวน 2,800 แห่งทั่วทั้งนคร ช่วยประหยัดได้อีก 100,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง หากลดการใช้ลงเพียง 10% ถ้าหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันประหยัดได้ตามนี้ วิกฤตพลังงานในช่วงหน้าแล้งปีนี้ก็จะบรรเทาลงเกือบเป็นศูนย์ นายต๊วก กล่าว
ทางการได้รณรงค์ให้ช่วยประหยัดไฟในช่วงเดือน “พีค” ประจำทุกปี แต่ก็ยังไม่สามารถหลักเลี่ยงการดับไฟได้
นครโฮจิมินห์ยังต้องพึ่งพาไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนจิอาน (Tri An) ใน จ.ด่งนาย (Dong Nai) เป็นหลักซึ่งอดีตสหภาพโซเวียตช่วยสร้างในยุคสงครามเย็น แต่หลายปีมานี้เขื่อนใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศประสบปัญหาระดับน้ำในอ่างลดลงต่ำ จนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง
ยังมีโรงไฟฟ้าความร้อนจากก๊าซธรรมชาติอีก 3-4 แห่งในภาคใต้ ที่ผลิตป้อนความต้องการในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงเป็นหลัก อีกจำนวนหนึ่งยังต้องส่งจำหน่ายให้กัมพูชา เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่ขาดแคลนอย่างหนักเช่นกัน
ในภาคเหนือก็ไม่ต่างกัน ทั้งภูมิภาคใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนหว่าบี่ง (Hoa Binh) ทางตอนเหนือของกรุงฮานอยเป็นหลัก และ ยังมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินอีก 2-3 แห่งในภาคตะวัตออกเฉียงเหนือ ผลิตไฟฟ้าสนับสนุน
ในช่วงเดียวกันนี้ของทุกปี กรุงฮานอยมีการหมุนเวียนดับไฟเช่นกัน และต้องระดมไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วย ขณะที่จังหวัดทางภาคเหนือตอนบนต้องใช้ไฟฟ้าที่ซื้อจากจีน และยังไม่มีระบบสายส่งที่สามารถเชื่อม เพื่อนำไปช่วยลดการขาดแคลนในเมืองหลวงได้
ปัจจุบันกำลังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากก๊าซและจากถ่านหิน ทั้งขนาดกลางและใหญ่ กว่า 10 โครงการในเวียดนาม แต่ส่วนใหญ่ยังจะต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 3-5 ปี
โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นจัดการในพื้นที่ ทางการประกาศสัปดาห์ที่แล้วว่า การก่อสร้างจะเริ่มขึ้นในปี 2557 ตามกำหนด แม้จะเกิดวิกฤตไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นในขณะนี้ก็ตาม