xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา คิดใหม่ ทำใหม่ “การเมืองนำการทหาร” ใน 3 จังหวัดภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

เย็นวันที่ 29 มี.ค. 2554 ที่ผ่านมา คนร้าย 10 กว่าคนนั่งรถกระบะ 2 คัน ตามประกบขบวนรถบัส 10 คันที่บรรทุกทหารชุดเฉพาะกิจนราธิเวาส 32 ก่อนกระหน่ำยิงใส่ ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 7 คน เหตุเกิดที่ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

        นั่นคือเหตุการณ์ล่าสุดสำหรับเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นเหตุการณ์ที่กระตุกให้ผมต้องมาเขียนถึงสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้อีกครั้ง ทั้งๆ ที่เคยกึ่งๆสารภาพไปแล้วว่า ยังมองไม่เห็นหนทางหรือสูตรสำเร็จที่จะหยุดความรุนแรง สถาปนาความสงบให้บังเกิดขึ้นได้ นอกจากยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาล-กลไกรัฐเองก็ยังไม่ได้ดื่มด่ำและเป็นเอกภาพทางความคิด ทางการปฏิบัติอย่างเพียงพอ

         เช่นเดียวกัน แค่คำว่า “การเมืองนำการทหาร” ที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายคนพูดอยู่บ่อยๆ นั้น เอาเข้าจริงๆ แล้วไม่รู้ว่าท่านเหล่านั้นหมายความว่าอย่างไร บางท่านอาจจะเข้าใจผิดเสียด้วยซ้ำไปว่าหมายถึง “ฝ่ายการเมือง” นำ “ฝ่ายทหารหรือ กอ.รมน.” ยิ่งรัฐบาลชุดนี้ได้ผลักดันพ.ร.บ.ศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งได้กระชับพื้นที่ให้ศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.ชต.) มีอำนาจมากมายมหาศาล แยกการบริหารแยกภารกิจชัดเจนกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ก็ยิ่งอาจทำให้นักการเมืองหลายคนคิดว่า นี่คือ..ฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายนำฝ่ายทหาร...นั่นเอง!?

         กล่าวถึง “การเมืองนำการทหาร” แล้วต้องศึกษาบทเรียนความสำเร็จจากนโยบายการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 สมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งด้านหลักใช้การรุกทางการเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ใช้นโยบายที่ถูกต้อง ขจัดเงื่อนไขความ “คับแค้นทางจิตใจ ยากไร้ทางวัตถุ” อันเป็นเงื่อนไขสงคราม และเปิดโอกาสให้คนที่เข้าร่วมกับพคท.กลับใจกลับตัวมาร่วมพัฒนาชาติ

          เพียงแต่ว่าเมื่อรุกทางการเมืองอย่างเต็มที่แล้ว ก็ไม่ละเลยที่จะใช้กำลังทหารกดดัน กวาดล้างฐานที่มั่นของ พคท.อย่างเอาจริงเอาจังตามไปด้วย

          จริงอยู่ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความละเอียดอ่อนในมิติทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณีที่ต้องรัดกุมรอบคอบและ “เข้าใจ” เป็นพิเศษ แต่ภารกิจในการสยบผู้ก่อเหตุรุนแรงรายวัน ขบวนการยาเสพติด ผู้มีอิทธิพลอย่างแยกแยะด้วยการข่าวที่แม่นยำ, ภารกิจในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินก็ยังเป็นภารกิจหลักภารกิจสำคัญ ควบคู่กับมาตรการทางการเมืองและการพัฒนา..

          ต้องทำให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หลุดพ้นจากพื้นที่แห่งความหวาดกลัวให้ได้

            อย่างที่กล่าวแล้วว่า วันนี้เรามี พ.ร.บ.ศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พยายามแยกบทบาทภารกิจ ศบ.ชต.กับ กอ.รมน.ให้ชัดเจน แต่ผมไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติสุดท้ายแล้วจะยิ่งทำให้สององค์กรห่างเหินกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดสภาพ “หันหน้าไปคนละทางสร้างดาวกันคนละดวง” หรือไม่ ซึ่งมันแตกต่างจากยุคนโยบาย 66/2523 ที่กอ.รมน.คือศูนย์รวมของพลเรือน-ตำรวจ-ทหาร (พตท.)

          ต้องไม่ลืมว่าตัวแปรสำคัญประการหนึ่งในยุคปัจจุบันก็คือ “งบประมาณ” ที่ดูเหมือนจะทำให้ทั้ง กอ.รมน.และ ศบ.ชต.ไม่มีสมาธิ ไม่มีเอกภาพหรือยุทธศาสตร์ร่วมกันในการ “รุกทางการเมือง” อย่างสอดประสานกับ “รุกทางการทหาร”อย่างชัดเจน

         กล่าวจำเพาะ ศอ.ชต.นั้นเป็นหน่วยงานหลักที่จะขับเคลื่อนใช้จ่ายงบประมาณตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ผนวกด้วยแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2554 -55 รวมเบ็ดเสร็จ 63,319 ล้านบาท ผมไม่มั่นใจจริงๆ ว่า ในนามของการพัฒนา ศอ.ชต.จะสรุปบทเรียนความผิดพลาดการใช้งบประมาณแบบไร้ทิศทางในอดีตได้หรือไม่...

        ในส่วนของ กอ.รมน.หรือฝ่ายทหารนั้น ดูเหมือนจะมีแรงกดดันมากกว่าฝ่ายพลเรือนหรือ ศบ.ชต.เพราะยังไม่สามารถหยุดเหตุร้ายเหตุรุนแรงรายวันได้ ไม่กี่วันที่ผ่านมาคุณ “แวลีเมาะ ปูซู” แห่งโต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา ถามท่านแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ว่าทางออกของสถานการณ์เป็นอย่างไร รากเหง้าปัญหามันคืออะไรกันแน่ ท่านแม่ทัพตอบท่อนหนึ่งว่า

         “มีปัญหาหลักกับปัญหารอง ปัญหาหลักคือปัญหาของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเองที่ยังคิดว่าต้องแยกตัวเป็นอิสระ แล้วก็ใช้วิธีการต่างๆ ก่อกวน ส่วนปัญหารอง ก็คือปัญหาอิทธิพลเถื่อนกับอำนาจมืด ยาเสพติด เป็นปัญหาทั่วๆ ไปที่มีอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ แต่ปัญหาขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นไม่มี ผมไม่ได้พูดถึงกับว่าปักษ์ใต้มีเป็นขบวนการ เพราะมีคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ คือไม่ถึงหมื่นคน  ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรเกือบ 2 ล้านคน”

        อีกตอนหนึ่งท่านแม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่า “แนวทางที่เราต้องดำเนินการคืองานการเมืองนำการทหาร ผมหมายถึงการปฏิบัติการใดๆ ก็แล้วแต่จะต้องเอาชนะจิตใจและได้จิตใจประชาชน ไม่ใช่ปฏิบัติการใดๆ ให้ประชาชนเกลียดชัง มันก็ไม่ใช่งานการเมืองนำการทหาร หลักใหญ่ที่ผมได้ทำก็คือทุกคนเห็นด้วยที่จะทำงานเพื่อประชาชน”

       โดยหลักการนิยาม “การเมืองนำการทหาร” ของพล.ท.อุดมชัยถูกต้องแล้ว และตั้งแต่เดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ภารกิจตามมติ ครม.เมื่อต้นปีที่มอบหมายให้ กอ.รมน.ใช้มาตรา 21 ของพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 นำร่องในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนและผู้หลงผิดเข้ามอบตัว อบรม เพื่อปล่อยตัวในที่สุด ก็น่าจะเป็นหนึ่งในมาตรการทางการเมือง (นำการทหาร) ที่ตกอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของท่าน...ซึ่งจะต้องตามไปดูกันอีกทีว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน..

         แต่สำหรับความเห็นส่วนตัวของผม...ผมว่าถึงเวลาที่รัฐบาลโดยเฉพาะท่านแม่ทัพจะได้คิดอ่านนโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ชุดใหญ่มากกว่าการมาทดลองนำร่องเล็กๆ เช่น หากจะเยียวยาด้วยการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดในแทบทุกคดีแล้วประเมินว่าน่าจะเป็นผลดีก็ต้องตัดสินใจเดินหน้าเพื่อให้เกิดผลทางจิตวิทยาอย่างจริงๆ จังๆ แต่ขณะเดียวกันมาตรการทางการทหารเพื่อกดดันปิดล้อมคนก่อเหตุร้ายรายวัน กำจัดกวาดล้างอิทธิพลเถื่อน ขบวนการยาเสพติดก็ต้องยกระดับ...เอาจริงเอาจัง

         ทุกวันนี้หลายคนรู้สึกว่า...มาตรการทั้งทางการเมือง การทหารมันคล้ายๆ กับเลี้ยงไฟสงคราม เลี้ยงไข้งบประมาณอะไรทำนองนั้น...

       7 ปีที่ผ่านมา ผู้คนล้มตายไปกว่า 4 พันศพ บาดเจ็บอีกหลายพันคน  ใช้งบประมาณไป 1.5 แสนล้านบาทแล้ว มันควรจะถึงเวลาคิดใหม่ ทำใหม่กันได้แล้ว แต่ไม่ใช่คิดใหม่ ทำใหม่แบบรัฐบาลทักษิณ น่ะครับ

                 samr_rod@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น