xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

นัยสำคัญของ”อภิปรายไม่ไว้วางใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจสองวันแรก คือ 15 และ 16 มี.ค.54 ต้องถือว่า ผิดคาดมาก อย่างน้อย 2 ประเด็น นั่นคือ

1. พรรคเพื่อไทยทำงานกันเป็นระบบมากขึ้น แม้ว่าข้อมูลส่วนใหญ่จะมาจากการทำงานในคณะกรรมาธิการ และหน้าหนังสือพิมพ์

2. ข้อมูลของรัฐบาลไม่ได้มีการรั่วไหลไปนอกเส้นทาง ทำให้การตอบโต้ของรัฐบาลสามารถลบข้อครหาส่วนใหญ่ได้

นั่นหมายความว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคเพื่อไทย...ยังไม่สามารถสร้างผลสะเทือนอันใหญ่หลวงต่อรัฐบาลได้

ประกอบด้วย กระแสข่าวไม่ไว้วางใจ ดูด้อยค่าไปถนัดเมื่อเทียบกับเหตุการณ์สึนามิ ที่ญี่ปุ่น

หน้าข่าวหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์จึงให้ค่าเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วาง...เพียงแค่ “ความขัดแย้งระหว่างศัตรู”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็น “หน้าผู้อภิปราย” ยิ่งอยากจะอ้วก

ไม่ว่าจะเป็น สุนัย จุลพงศธร หัวขาวจากนครสวรรค์ ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ จตุพร พรหมพันธ์ วิเชียร ขาวขำ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ฯลฯ

คนเหล่านี้ไม่มีทางบอกว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นรัฐบาลคุณภาพ ตรงกันข้ามคนเหล่านี้จะบอกว่า เป็นรัฐบาลไม่ดี...ต่อให้ไม่มีข้อมูล คนเหล่านี้ก็สามารถด่าได้ทั้งวัน

แปลไทยเป็นไทยก็คือ แฟนคลับคนเสื้อแดง ก็คงสะใจเมื่อได้ฟังการอภิปรายไม่วางใจ แต่แฟนคลับประชาธิปัตย์ กลับยิ่งเกลียด ส.ส.พรรคเพื่อไทย มากยิ่งขึ้น

ดูเหมือนว่า รายชื่อ ส.ส.จำนวน 122 คน ของพรรคเพื่อไทย 118 คน พรรคประชาราช 3 คน และพรรคเพื่อแผ่นดิน 1 คน ที่ลงชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 9 คน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 และ 159

….ไม่ได้แสดง “ข้อมูลใหม่” เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลเสื่อมถอย

ทั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี, สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, กรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง จุติ ไกรฤกษ์ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, องอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายชวรัตน์ ชาญวีกูล รมว.มหาดไทย, โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์, ศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ และกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ

"ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้รัฐมนตรีในรัฐบาลและบุคคลแวดล้อมกระทำการทุจริต คอร์รัปชัน แสวงหาประโยชน์อย่างกว้างขวาง” ข้อหาที่ฉกรรจ์ของฝ่ายค้าน แต่ไม่สามารถเปิดแผลได้มากนัก

นอกจากนี้ ความผิด 7 ข้อ ที่ฝ่ายค้านสรุปไว้ ประกอบด้วย 1.ไม่ปฏิบัติตามแผนการบริหารราชการแผ่นดินและแผนการตรากฎหมาย และนโยบายตามที่แถลงไว้ในรัฐสภา 2.จงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 3.ทำลายระบบราชการด้วยการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

4.ไม่ควบคุมให้มีการรักษาวินัยการเงินการคลัง  5.ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน 6. ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่ผิดพลาดและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง 7.ล้มเหลวในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่น่าหลายคนสนใจคือ การถอดถอนนายอภิสิทธิ์ ซึ่ง มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ได้ยื่นต่อประธานวุฒิสภา มีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง 4 เรื่องสำคัญ

1. ฆาตกรรมประชาชน ซึ่งได้มีการอ้างถึงเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดง และการขอกระชับพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งได้อ้างว่านายอภิสิทธิ์ , นายสุเทพ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ., พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.กับพวก ได้เป็นตัวการร่วมในลักษณะให้ผู้อื่นกระทำผิดกฎหมายด้วยการใช้หรือสั่งการให้เกิดกระทำความผิด โดยเกิดฆาตกรรมบุคคลหลายราย ทั้งนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น, นายมานะ อาจราญ พนักงานสวนสัตว์ดุสิต, พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ, นายชาติชาย ชาเหลา, นายบุญมี เริ่มสุข, ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ รวมถึงบรรดาผู้เสียชีวิตในวัดปทุมวนารามฯ

2. จงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยการแทรกแซงการใช้อำนาจขององค์กรในกระบวนการยุติธรรม กรณีการชันสูตรพลิกศพ 91 รายที่เสียชีวิต โดยชี้ว่านายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ มีการใช้อำนาจในการแทรกแซงการชันสูตรพลิกศพ รวมถึงการครอบงำให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ฟ้องแกนนำ นปช.จำนวน 19 คนในข้อหาก่อการร้าย

3. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและระงับเหตุวางเพลิงศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 โดยถือว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157
 
4. การกล่าวหาว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยการก้าวก่ายหรือแทรกแซงหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษี กรณีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จำกัด  ซึ่งแสดงภาษีอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้รัฐเสียประโยชน์ 68,881 ล้านบาท

ดูจากถ้อยคำการยื่นญัตติ เชื่อกันว่า ฝ่ายค้านน่าจะมีข้อมูลสำคัญในมือ แต่เอาเข้าจริงกลายเป็นเรื่อง “ลีลาสำนวน” เสียมากกว่า

ประเมินกันว่า ข้อกล่าวหาการถอดถอนข้อที่ 4 เกี่ยวกับ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จะเป็น “แผลฉกรรจ์” ให้คนเชื่อว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีการโกงกันอย่างมโหฬาร

ประเด็นสำคัญคือ ฟิลลิป มอร์ริส มี 2 บริษัทอยู่ในไทย และฟิลิปปินส์

ฟิลลิป มอร์ริส ในไทยนำเข้าบุหรี่จากโรงงานในเครือของฟิลลิป มอริส จากฟิลิปปินส์ ในราคาซองละ 7 บาท ในทางธุรกิจก็คือ Transfer Pricing

ทำให้ฟิลลิป มอริส ต่อสู้เรื่องการเสียภาษีนำเข้ามาในไทย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” ปราศัยแสดงข้อมูลบนเวทีสะพานมัฆวานรังสรรค์ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับ “ฟิลลิป มอริส” ว่า  “บริษัทฟิลลิปมอร์ริส เป็นเจ้าของบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และ แอลแอนด์เอ็ม ได้เข้ามาตั้งโรงงานที่ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อผลิตบุหรี่จำหน่ายในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย

โดยโรงงานที่ฟิลิปปินส์นั้นตั้งราคาต้นทุนไว้ที่ซองละ 7 บาท และอ้างข้อตกลงแกตต์ว่า ถ้าราคาต้นทุน 7 บาทแล้วบริษัทฟิลลิป มอริส ในไทยซื้อมาในราคา 7 บาท ถือว่าไม่ผิดกฎ แต่ประเทศไทยก็มีกฎหมายสรรพสามิต มีหน้าที่พิจารณาว่า สินค้าที่สั่งเข้ามาเสียภาษีบนพื้นฐานราคาจริงหรือไม่ ซึ่งฟิลลิปมอรร์ริสอ้างว่าตัวเองทำถูก แต่มันมีข้อตกลงตามอนุสัญญาภาษีของโออีซีดี (OECD) ว่า ถ้า 2 บริษัทที่ซื้อขายกันนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน และตั้งราคาไม่เป็นไปตามมูลค่าที่ยุติธรรม ก็ถือว่าผิด”

ทั้งนี้ บริษัทนำเข้าที่อยู่ในไทยกับบริษัทในฟิลิปปินส์นั้น เป็นของฟิลลิป มอร์ริสเหมือนกัน แต่คำนวณออกมาเป็นภาษีนำเข้าที่ฟิลลิป มอร์ริสในไทยต้องจ่าย ก็คิดเป็นเงินประมาณ 68,000 ล้านบาท ทำให้มีการวิ่งเต้นเพื่อที่จะไม่เสียภาษีจำนวนดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ

“ทักษิณนั้นกล้าโกงเฉพาะภาษีของบริษัทตัวเอง ส่วนภาษีของชาติไม่กล้าโกง แต่มาถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กลับกล้าโกง ยอมก้มหัวให้ฝรั่ง ด้วยการสั่งไม่ฟ้อง” สนธิ อธิบาย

สนธิบอกว่า การสั่งไม่ฟ้องบริษัทฟิลลิปมอร์ริส มีนัยหลายอย่าง เป็นภาพสะท้อนการเมืองไทยที่ชัดเจน และเพื่อให้รู้ว่า พวกเรากัดเรื่องนี้ไม่ปล่อย ประมาณปลายสัปดาห์หน้า จะยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิดนายเกียรติ สิทธีอมร รวมทั้งอัยการ และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งไม่ฟ้องบริษัทฟิลลิปมอร์ริส เป็นการเอาเชือกคล้องคอไว้ก่อน

“คนที่วิ่งเต้นเรื่องนี้คือ อดีตอธิบดีกรมศุลกากรที่มาเป็นปลัดกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา เพราะคนๆ นี้มีโกดังให้บริษัทฝรั่งเช่า”

นายสนธิ กล่าวว่า กรณีฟิลลิปมอร์ริส มันสะท้อนว่ามีการร่วมกันโกงชาติ โดยรัฐบาลชุดนี้สมรู้ร่วมคิดในการโกง สะท้อนถึงความเลวทรามต่ำช้าของนักการเมือง เพราะมีการทำหนังสือไปถึงหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่เคยมีมติสั่งฟ้องไปแล้ว จึงเป็นการแทรกแซงหน่วยงานราชการอย่างชัดเจน

“นายเกียรตินั้น มีอาชีพคือการล็อบบี้ ได้เรียกอธิบดีกรมดีเอสไอ ข้าราชการกระทรวงการคลังมาประชุมแล้วเขานั่งหัวโต๊ะไม่เรียกว่าแทรกแซงได้อย่างไร ส่วนอัยการสูงสุดคนนี้ก็มีปัญหามาก ให้จำชื่อนายจุลสิงห์ เอาไว้ สักวันหนึ่งจะรู้ว่าเวรกรรมมีจริง” สนธิ ปราศัยทิ้งท้าย

แต่กระนั้น ข้อมูลเหล่านี้อาจจะไม่ทำให้ “ความแน่นกระชับระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล” เสื่อมถอย
ที่สำคัญ พรรคร่วมรัฐบาลน่าจะได้รับสัญญานบางอย่าง โดยเฉพาะสัญญานการเปลี่ยน “กระทรวง” ภายหลังการเลือกตั้ง

ทำให้การกินข้าวเที่ยงระหว่างพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา จึงเกิดขึ้น เพื่อการันตี กระทรวงมหาดไทย คมนาคม พาณิชย์ เกษตรและสหกรณ์ การท่องเที่ยวและการกีฬา หลังการเลือกตั้ง

....ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ทั้งสองพรรคมีแกนนำ, รัฐมนตรี, ส.ส., สมาชิกพรรค และว่าที่ผู้สมัครจากทั้ง 2 พรรคเดินทางมาร่วมงานกว่า 100 คน ไม่เว้น บรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, ชวรัตน์ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, ชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา, เนวิน ชิดชอบ, อนุทิน ชาญวีรกูล, สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคภูมิใจไทย, สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล, สนธยา คุณปลื้ม แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา, นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกพรรคชาติไทยพัฒนา, นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย

ชวรัตน์และชุมพล ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เจตนารมณ์ร่วมพรรคภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา โดยเนื้อหาระบุว่า 

พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาได้ประชุมหารือกันถึงแนวทางการทำงานการเมือง ในโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป และได้มีข้อตกลงร่วมกันเป็นสัจวาจา คือ

1. จะมุ่งมั่นทำงานการเมืองเพื่อเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ 1.1 ปกป้องสถาบันสูงสุดของชาติ และ 1.2 สร้างความปรองดองให้แก่คนในชาติ

2. พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา ตกลงให้สัจวาจา นับแต่นี้ไปจะดำเนินการทางการเมืองร่วมกัน มีจุดยืนเดียวกัน 

3.หลังการเลือกตั้งทั่วไป ไม่ว่าผลออกมาอย่างไร จะตัดสินใจทางการเมืองร่วมกัน

คล้ายๆกับข้อตกลงก่อนหน้านี้ระหว่างพรรคชาติไทย กับพรรคเพื่อแผ่นดิน อะไรทำนองนั้น

นักข่าวรายงานว่า ก่อนอาหารเที่ยงระหว่าง 2 พรรค เนวิน ได้เรียกรัฐมนตรีและ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย หารือที่ชั้น 14 อาคารสิริภิญโญ เพื่อกำหนดทิศทางในการจับมือกับพรรคชาติไทยพัฒนา โดยเชื่อว่าจะได้ ส.ส.รวมกันกว่า 100 เสียง จนทำให้ภูมิใจไทย ตัดสินใจจ่ายเงินเดือนๆ ละ 3 แสนบาทตรงกันข้ามกับความเชื่อมั่นของพรรคเพื่อไทย ที่ปล่อยข่าวทางสื่อในทำนองการอ้างแหล่งข่าวว่า คะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย สูงกว่าพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากสินค้ามีราคาแพง และนำมันพืชขาดตลาด

นั่นทำให้ พรรคเพื่อไทยถึงกับจ่ายเงินเดือนให้ส.ส.เพิ่มขึ้น จากเดิม 1.5 แสนบาทต่อเดือน เป็น 2.5 แสนบาทต่อเดือน

ไม่แปลกที่ ส.ส.เพื่อไทย จะยอมถวายหัวให้กับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ !!

กำลังโหลดความคิดเห็น