xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อชุมชนลุกขึ้นสู้ (5)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ถ้าจะให้มีการสรุปเป็นบทเรียนของการลุกขึ้นสู้ของชุมชนในสังคมไทย ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ก็พอจะมองเห็นบทเรียนและพัฒนาการที่สำคัญๆ ที่คิดว่าหากสังคมไทยเห็นพ้องร่วมกันว่าพลังของชุมชนคือพลังที่สร้างสรรค์เพื่อสิ่งที่ดีงามและสร้างสรรค์การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและสันติ ไม่ใช่การเหนี่ยวรั้งหรือการขัดขวางขบวนการในการพัฒนาประเทศแล้วไซร้ บทเรียนการลุกขึ้นสู้ของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ในเนื้อหาต่างๆ ที่ผ่านมา จะทำให้เราได้พอที่จะมองเห็นทิศทางว่าผู้คนในสังคมจะได้เข้ามามีส่วนในการลุกขึ้นสู้ของพวกเขาได้อย่างไรบ้าง

กรณีการลุกขึ้นสู้กับโครงการขนาดใหญ่อย่างกรณีเขื่อนปากมูล ที่ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) อ้างว่าเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับพื้นที่ภาคอีสานในปี 2533 แล้วถูกต่อต้านจากชุมชนแต่ กฟผ.ก็สามารถผลักดันจนโครงการสำเร็จลงได้ เวลาผ่านไป 20 ปี น้ำลดแล้วตอผุด กระแสไฟฟ้าที่ทาง กฟผ.คาดการณ์ไว้ก็ไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ตรงกันข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชน กับแม่น้ำมูล ผลกระทบต่อพันธุ์สัตว์น้ำที่เกี่ยวโยงกับอาชีพและวิถีชีวิตเห็นได้ชัดเจนและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามความคาดหมายของหลายๆ ฝ่ายที่ลุกขึ้นมาและร่วมสู้ จนปัญหาเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบัน

การลุกขึ้นสู้กับเขื่อนปากมูลเริ่มจากผู้คนในพื้นที่แล้วมีกลุ่มคนภายนอกที่เรียกว่าองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เข้าไปหนุนช่วย รวมถึงผู้นำการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งที่เป็นนักวิชาการและศิลปิน ชื่อของวนิดา (มด) ตันติวิทยาพิทักษ์ บำรุง คะโยธา และอีกหลายๆ คนก็ปรากฏแก่สังคมว่าเป็นนักต่อต้านเคลื่อนไหวคัดค้านเขื่อนปากมูลแม้จะประสบกับความพ่ายแพ้ที่ กฟผ.สามารถก่อสร้างเขื่อนจนสำเร็จแต่กลุ่มคนเหล่านั้นก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการขับเคลื่อนในประเด็นที่เป็นปัญหากับเกษตรกรหรือกลุ่มคนที่ยากจนในชนบทและพัฒนามาเป็น “กลุ่มสมัชชาคนจน”ในเวลาต่อมา

ในปี 2534 หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช.ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นรัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้านได้ทำการผลักดันให้เกิดนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producers:IPP) จึงเป็นที่มาของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนจำนวน 2 แห่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประชาชนในพื้นที่ก็รวมตัวกันลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้าน ชื่อของเจริญ วัดอักษร จินตนา แก้วขาว ก็เป็นที่รู้จักของสังคมไทยว่า เขาและเธอคือหัวหอกนำพี่น้องในพื้นที่ออกมายืนหยัดคัดค้านกับอภิโครงการดังกล่าว และเจริญ วัดอักษร ก็ต้องสังเวยชีวิตไปกับความขัดแย้งนั้น

ในปี 2542 เกิดกรณีความขัดแย้งกรณีเรือปั่นไฟจับปลากะตักในพื้นที่จังหวัดสงขลา ชาวประมงพื้นบ้านใน 3-4 อำเภอของจังหวัดสงขลาได้นำเรือมาปิดร่องน้ำท่าเรือน้ำลึก เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายชวน หลีกภัย ได้ทำการแก้ไขปัญหา เพราะในสมัยที่นายชวน หลีกภัย เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปี 2533ได้เคยมอบหมายให้นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ รมช.ไปทำการออกประกาศกระทรวงยกเลิกการทำประมงด้วยวิธีปั่นไฟที่ทำให้พี่น้องประมงพื้นบ้านฝั่งอันดามันซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกอบการทำการประมงด้วยวิธีปั่นไฟจับปลากะตักในสมัยนั้น

แต่ถัดมาถึงในสมัยที่อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิตร ยงใจยุทธ ในปี 2539 นายมณฑล ไกรวัฒนุสรณ์ รมว.เกษตรฯ ในสมัยนั้น ได้ทำการแก้ไขยกเลิกประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว ทำให้คาราวานเรือปั่นไฟจับปลากะตักที่ส่วนใหญ่เป็นของนายทุนโรงงานปลาป่นและโรงงานทำน้ำปลา ออกตระเวนจับสัตว์น้ำด้วยวิธีปั่นไฟไปทั่วทุกพื้นที่ที่ติดกับชายฝั่งของประเทศ ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว ชาวประมงชายฝั่งที่มีอาชีพทางการประมงได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า การลุกขึ้นสู้ของพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านนอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ทั่วภาคใต้แล้ว ก็ทำให้เกิดการรวมตัวของเหล่านักวิชาการทั้งในส่วนท้องถิ่นและส่วนกลาง ออกมาแสดงบทบาทสนับสนุนการต่อสู้ของชาวประมงอย่างตรงไปตรงมา

ในปี 2545 กรณีความขัดแย้งจากการดำเนินการของโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ ได้เป็นกรณีของความขัดแย้งที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงที่สุด (ถ้าไม่นับการที่เจริญ วัดอักษร ที่ถูกลอบยิงเสียชีวิตในกรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอกหินกรูด) ในบรรดาการลุกขึ้นสู้ของชุมชน เพราะเป็นการใช้อำนาจรัฐทุกรูปแบบในการผลักดันให้โครงการบรรลุให้ได้ เป็นความซับซ้อนทั้งในแง่ของความเป็นมาของโครงการ การทับซ้อนในเรื่องผลประโยชน์อันมหาศาลของหลายๆ ฝ่ายไม่ว่าเจ้าของโครงการอย่าง ปตท.หรือเหล่านักการเมืองทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ไม่รวมถึงการลุกขึ้นสู้ของชุมชนซึ่งเป็นมุสลิม จึงมีความซับซ้อนในเนื้อหาของความขัดแย้งอย่างเช่นกรณีที่ “ที่ดินวะกัฟ” หรือวิธีในการนำมาลุกขึ้นสู้ของชุมชน ซึ่งได้นำเอาหลักการทางศาสนาอิสลามเข้ามายืนยันในการต่อสู้ แม้วันนี้การดำเนินโครงการฯ จะสำเร็จเสร็จสิ้นลงไปแต่การต่อสู้ของชุมชนยังคุกรุ่นรอวันปะทุอยู่ตลอดเวลา

การลุกขึ้นสู้กรณีของโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ สังคมไทยได้เรียนรู้พัฒนาการลุกขึ้นสู้ของชุมชนไปอีกขั้น นั่นก็คือการผนึกกำลังกันของนักวิชาการทั่วประเทศในการลุกขึ้นมาท้วงติงและยืนอยู่ฝ่ายชุมชนมีมากขึ้น องค์กรทางสังคมอย่างกรรมาธิการต่างๆ ของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ต่างออกมาแสดงบทบาทและได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า โครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ควรที่จะได้ยุติ และทบทวนให้เกิดความโปร่งใสตรงไปตรงมา ทั้งในแง่ผลประโยชน์ของชุมชนและของชาติ แต่บทเรียนที่สังคมไทยได้เรียนรู้ก็คือ ไม่สามารถมีส่วนไหนหรือหลายๆ ส่วนแม้จะได้ผนึกกำลังกันแล้ว จะสามารถหยุดยั้งความต้องการและแรงผลักดันอันเชี่ยวกรากของอำนาจรัฐและระบบทุนนิยมสามานย์ที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ได้

เริ่มศักราชใหม่ปี 2554 ความขัดแย้งและเป็นเหตุทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมาสู้ก็ปรากฏโฉมขึ้นอีกในหลายๆ พื้นที่ของสังคมไทย ไม่ว่าการต่อเนื่องจากปัญหาเดิมๆ ที่กล่าวมาที่ยังคาราคาซังอย่างกรณีในเรื่องเขื่อนปากมูล กรณีเรือปั่นไฟจับปลากะตัก กรณีโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ที่ยังไม่สงบ การลุกขึ้นสู้ของชุมชนกรณีผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องที่ดินทำกินและสร้างชุมชนของเกษตรกร

กรณีการดำริสร้างโรงไฟฟ้าจากถ่านหินของ กฟผ.ซึ่งแต่เดิมได้ระบุให้พื้นที่จันทบุรีคือเป้าหมายในการก่อสร้าง แต่ถูกชุมชนลุกขึ้นต้านอย่างหนักหน่วง จึงมีแผนย้ายมาลงในพื้นที่อำเภอท่าศาลา อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมไปถึงแผนการดำเนินจัดตั้งโครงการโรงถลุงเหล็กต้นน้ำในพื้นที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา พัฒนาการการต่อสู้ของชุมชนในครั้งนี้ก็คือการที่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรทางการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย องค์กรสื่อ และขบวนการภาคประชาชนทุกภาคส่วนได้ผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นและเป็นระบบ

บทเรียนที่สำคัญของสังคมไทยต่อกรณีการลุกขึ้นสู้ของชุมชนจะสำเร็จหรือพ่ายแพ้ จึงอยู่ที่ทุกภาคส่วนที่ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงไม่ว่าทางตรงหรืออ้อม ได้หันมาร่วมมือกันดูแลสังคมโดยรวมในทุกมิติ ทุกเนื้อหาได้ออกมาผนึกกำลังกันหนุนช่วยซึ่งกันและกัน ซึ่งพัฒนาการที่เกิดขึ้นกรณีที่ชุมชนท่าศาลา หัวไทร เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจที่สังคมไทยควรที่จะได้เรียนรู้และให้กำลังใจ แต่เป็นที่แปลกใจยิ่งว่าในทุกกรณีที่กล่าวมา แทบจะไม่ปรากฏบทบาทของนักการเมืองในระดับชาติที่ทำหน้าที่ ไม่ว่าในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือหน้าที่ในบทบาทของผู้แทนราษฎรในพื้นที่ที่ชุมชนกำลังลุกขึ้นสู้ได้เข้ามามีบทบาทใดๆ หรือเขาเหล่านั้นคือส่วนเกินของสังคมจริงๆ อย่างที่เขาด่าๆ กันอยู่ในปัจจุบัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น