xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อชุมชนลุกขึ้นสู้ (3)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

กรณีการลุกขึ้นสู้ของชุมชนในพื้นที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และใกล้เคียงต่อโครงการโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ในระหว่างปี 2543-2545 มีความเป็นมาที่คล้ายคลึงกันกับความขัดแย้งที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากันอยู่ในปัจจุบัน คือ กรณีของเขาพระวิหาร เพียงแต่ในสมัยนั้นคู่กรณีคือมาเลย์แต่วันนี้คือประเทศกัมพูชา กล่าวคือ มีพื้นที่ที่แต่ละประเทศต่างแย่งสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของพื้นที่ในทะเลระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย และจบลงเบื้องต้นด้วยคำพูดที่กลับมาฮิตอีกครั้งในสมัยนี้ก็คือ ข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจร่วมที่เรียกกันว่า MOU เราลองมาทำความรู้จักกับ MOU ในสมัยนั้นว่าเป็นมาอย่างไร และส่งผลกระทบกับสังคมไทยมากน้อยแค่ไหน

ผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมหรือ MOU ระหว่างประเทศไทยกับมาเลย์เพื่อจัดการกับปัญหาที่เรียกว่า “พื้นที่ทับซ้อน” ในครั้งนั้นฝ่ายไทยคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ซึ่งเป็นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นกับดาโต๊ะ ฮุสเซนออน นายกรัฐมนตรีของมาเลย์ ข้อตกลงถูกเซ็นกันในประเทศไทยในปี 2522 ที่จังหวัดเชียงใหม่ MOU ฉบับนั้นไม่ได้ถูกหยิบยกกันขึ้นมาถกเถียงอย่างกว้างขวางเหมือนปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งของความขัดแย้งที่ในแวดวงวิชาการในปัจจุบันที่ตามติดในประเด็นและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่างสรุปตรงกันว่า เป็นการเสียค่าโง่หรือทำให้ประเทศเสียเปรียบมาเลย์อย่างมหาศาล ทั้งในเรื่องของอาณาเขตและการแบ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ

ลามไปถึงข้อกล่าวหาที่ว่ามีการรับสินบนกันระหว่างประเทศหรือหนักข้อถึงกับมีคำพูดที่ว่า พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นเซ็นไปเพราะเมา....เพราะแต่ละข้อชี้ให้เห็นถึงความเสียเปรียบอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ทำพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมในปี 2522 แล้วผ่านไป 11 ปี เรื่องราวก็พัฒนาผูกมัดให้ประเทศไทยต้องถลำลึกมากยิ่งขึ้น

กล่าวคือในปี 2533 พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกเอาบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) ดังกล่าว มาผลักดันให้เป็นพระราชบัญญัติ เรียกว่าพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย-มาเลย์ เพื่อตอบสนองนโยบายแปลงสนามรบเป็นสนามการค้า ซึ่งหลังจากนั้นการบริหารภายใต้หลักการดังกล่าวได้นำพาประเทศเข้าสู่การพัฒนาประเทศที่เน้นการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในหลายๆ ด้านและก็ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้เช่นกันว่าเป็นรัฐบาลที่มีการโกงกินหาผลประโยชน์จากการดำเนินโครงการต่างๆ ของรัฐโดยนักการเมืองและเหล่าพ่อค้าข้าราชการอย่างมโหราฬ จนไปสู่ข้ออ้างสำคัญของการเข้ามาปฏิวัติยึดอำนาจในช่วงเวลาต่อมา

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้สานต่อโครงการโดยไปทำข้อตกลงในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติองค์กรร่วมฯ ปี 2533 ที่ถูกวางเอาไว้ ความขัดแย้งก็อุบัติขึ้นในทันที จากแผ่นป้ายคำถามจากคนกลุ่มเล็กๆที่ไปล่องเรือยกป้ายตั้งคำถามในทะเลสาบสงขลาใกล้ๆ กับสถานที่ที่จัดให้เป็นที่ลงนามในวันที่นายชวน หลีกภัย ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ไปจัดพิธีลงนามกับมาเลย์ที่จังหวัดสงขลาในปี 2541 ว่า

โครงการนี้ได้ทำประชาพิจารณ์หรือยัง ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วหรือไม่ ไม่มีคำตอบ ไม่มีคำอธิบายที่เป็นระบบใดๆ แต่พฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หัวคะแนน พ่อค้านายทุนตลอดถึงข้าราชการน้อยใหญ่ ต่างมะรุมมะตุ้มลงไปหากว้านซื้อที่ดินในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของโครงการตั้งโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ในปัจจุบัน

ไม่ต่างอะไรกับฝูงอีแร้งที่มุ่งลงไปยังซากศพ ซึ่งจากการตรวจสอบโฉนดที่ดินในพื้นที่จัดตั้งโครงการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่า กว่า 90% ของพื้นที่ที่ขายให้กับโครงการเป็นของเหล่าบรรดานักการเมือง พ่อค้านายทุนในและนอกพื้นที่ และบรรดาข้าราชการจากหน่วยงานราชการต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่บุคคลที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมอย่างอัยการความขัดแย้งสุดท้ายในพื้นที่โครงการภายใต้การสั่งเดินหน้าของโครงการดังกล่าว ภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ คือ การเกิดความรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออก จากความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในเวทีทำประชาพิจารณ์ทั้ง 2 ครั้งที่รวบรัดรวบหัวรวบหางผลักดันให้เสร็จตามพิธีกรรม

การเลือกตั้งครั้งถัดมาอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลและสั่งเดินหน้า “สวมตอ” ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ปูพื้นเอาไว้ โดยไม่ยอมฟังการทักท้วง คัดค้านจากทุกภาคส่วนและเกือบทุกองค์กร เกือบทุกสถาบันที่มีอยู่ในสังคมก็ว่าได้ ไม่ว่าการออกมาคัดค้านให้ยุติและทบทวนโครงการดังกล่าวจากองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ การให้ยกเลิกและทบทวนโครงการจากกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของวุฒิสภา การเข้าชื่อกันของเหล่านักวิชาการทั่วประเทศมากที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน คือ จำนวน 1,384 คน ด้วยเหตุผล 6 ข้อ ว่าโครงการโรงแยกก๊าซฯ ไม่ควรจะเดินหน้าเพราะมีความไม่โปร่งใสและจะทำให้ประเทศต้องสูญเสียผลประโยชน์ ควรยุติและทบทวนด้วยเหตุผลอื่นๆ อีกมากมาย เช่น

ความไม่ชอบธรรมไม่ชอบมาพากล และไม่ชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการตัดสินใจที่นำมาสู่โครงการนี้ ประเด็นการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมที่ทำให้ประเทศเสียเปรียบต่อประเทศมาเลย์และเรื่องพลังงาน เรื่องความไม่คุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ประเด็นการจัดทำรายงาน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมไปถึงทิศทางการพัฒนาภาคใต้ที่อาจจะส่งผลกระทบจากการดำเนินงานของโครงการเพราะได้พ่วงเอาการกำหนดให้พื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมประเภทเปโตรเคมี อันจะส่งผลกระทบต่อลักษณะทางกายภาพและศักยภาพในด้านอื่นๆ ของภาคใต้ ฯลฯ

วันนี้ชุมชนจำนวนมากได้พยายามลุกขึ้นมาสู้กับโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ของรัฐและเอกชนในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ ไม่ว่าเรื่องที่ยืดเยื้อยาวนานอย่างกรณีเขื่อนปากมูล กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่จังหวัดสตูล กรณีการลุกขึ้นมาต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินของชาวอำเภอท่าศาลา และหัวไทรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เชื่อมโยงกับแผนการสร้างนิคมอุตสาหกรรมและโรงถลุงเหล็กต้นน้ำ ถ้าเรามองในแง่ดีก็จะพบว่านี่คือการตื่นขึ้นมาของชุมชนเพื่อให้การพัฒนาอยู่ในกรอบ ในร่องในรอย ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจไม่เบียดเบียนทำร้ายทำลายกัน ขอแค่หยุดฟังเหตุผลของพวกเขาสักนิดก็พอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น