xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อชุมชนลุกขึ้นสู้ (1)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

หากจะพูดถึงโครงการขนาดใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชน ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านอาชีพ ที่อยู่อาศัยหรือสภาพแวดล้อมแล้วถูกชุมชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้าน อย่างทรหดยืดเยื้อยาวนานก็ต้องยกให้การลุกขึ้นสู้กรณีของพี่น้องเขื่อนปากมูลแห่งอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ที่ลุกขึ้นมาขวางการสร้างเขื่อนปากมูลตั้งแต่ปี 2533 จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของพวกเขาก็ยังดำเนินอยู่

แม้ว่าวันนี้การก่อสร้างเขื่อนปากมูลจะสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว แต่การต่อสู้ของประชาชนก็ยังไม่จบ กรณีถัดมาก็คือการลุกขึ้นสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินของพี่น้องบ่อนอกหินกรูดแห่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปี 2535 การลุกขึ้นสู้เป็นไปอย่างดุเดือดเลือดพล่านจึงจะสามารถหยุดยั้งโครงการลงได้ แต่ก็ต้องสังเวยด้วยชีวิตของแกนนำอย่าง เจริญ วัดอักษรและคดีความที่ยืดเยื้อระหว่างกันทั้งสองฝ่าย

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา การลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำหนดจะสร้างในพื้นที่ของอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ทำให้ผู้คนในสังคมไทยได้ตกตะลึงกับขบวนการคัดค้านที่รวบรวมเอาภาคประชาชนทุกหมู่เหล่าผนึกกำลังกันอย่างล้นหลาม สิ่งเหล่านี้ควรที่สังคมไทยควรได้เรียนรู้ร่วมกันว่าทำไมปรากฏการณ์เช่นนี้จึงเกิดขึ้น

หากเรามาไล่เรียงดูในแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต จะทำให้เราได้เห็นต้นเหตุของปัญหา ผลของการต่อสู้ที่ผ่านมาของภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ ว่าพวกเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาอะไรบ้าง ผลต่อสังคมตั้งแต่ในระดับชุมชนจนถึงต่อแนวทางและทิศทางในการพัฒนาประเทศภายใต้ระบบสังคมและการเมืองที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนั้นว่าล้มเหลวมากน้อยแค่ไหน สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินและทำร้ายทำลายชุมชนอย่างประเมินค่าไม่ได้

ตัวอย่างกรณีเขื่อนปากมูลซึ่งเริ่มต้นในปี 2532 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำโครงการเขื่อนปากมูลกลับมาพิจารณาอีก โดยอ้างว่า ภาคอีสานมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงถึง 820 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคอีสานมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเพียง 130 เมกะวัตต์ ถ้าสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้า 136 เมกะวัตต์ขึ้นมาอีกหนึ่งเขื่อน ก็จะช่วยรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในภาคอีสานได้เป็นอย่างดี

กฟผ.ขยับพื้นที่ตั้งโครงการจากแก่งตะนะขึ้นมาอยู่แถวแก่งคันเห่ว ห่างจากปากแม่น้ำมูลประมาณ 5 กิโลเมตรเพื่อลดจำนวนราษฎรที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่น้ำท่วม แต่ กฟผ. จะต้องระเบิดแก่งคันเห่วออกเกือบทั้งหมดเพื่อเปิดทางน้ำ ด้วยค่าชดเชยที่น้อย บวกกับความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โครงการเขื่อนปากมูลจึงถูกผลักดันผ่าน ครม.อย่างรวดเร็วจนชาวบ้านตั้งรับไม่ทันตั้งตัว ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2533 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านกว่า 2,000 คน ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยับยั้งโครงการเขื่อนปากมูล เพื่อศึกษาผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน และเปิดเผยข้อมูลผลกระทบที่แท้จริงต่อประชาชน

หลังจากชุมนุมอย่างยืดเยื้อรัฐบาลได้ออกคำสั่งยับยั้งโครงการเป็นการชั่วคราว และตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบขึ้นมาชุดหนึ่ง แต่ไม่กี่วันต่อมา บรรดาพ่อค้า นักการเมือง และกำนันผู้ใหญ่บ้านในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ออกมาชุมนุมสนับสนุนให้สร้างเขื่อน ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่น ที่ประชุม ครม.ของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 ก็อนุมัติให้ กฟผ.ดำเนินการสร้างเขื่อนปากมูลที่บ้านหัวเห่ว อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 3,880 ล้านบาท

การดำเนินการก่อสร้างดำเนินไปท่ามกลางการคัดค้านของพี่น้องอำเภอโขงเจียมและใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง จนการก่อสร้างเขื่อนสำเร็จลง ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชน ต่ออาชีพ ต่อพันธุ์สัตว์น้ำยังไม่นับรวมถึงผลจากการดำเนินการเปิดเครื่องที่ได้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าที่กำหนดแต่ไร้คนรับผิดชอบ พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลจึงรับกรรมและยกขบวนกันมาชุมนุมกันอยู่ ณ ลานพระรูปเป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่ภาคประชาชนผนึกกำลังกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากรัฐบาลอยู่ในวันนี้

อีกกรณีก็คือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์โดยใน ปี 2535 หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช.ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้านได้ทำการผลักดันให้เกิดนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (Independent Power Producers:IPP) จึงเป็นที่มาของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนจำนวน 2 แห่งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ในเวลาต่อมา คือโครงการไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก ของบริษัท กัลป์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 800 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ตำบลบ่อนอก อำเภอเมือง โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) และโครงการไฟฟ้าถ่านหิน หินกรูดของบริษัท ยูเนี่ยน เพาเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,200 ไร่ ตั้งอยู่ที่บ้านโคกตาหอม หมู่ 9 ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 50,000 ล้านบาท)

การเคลื่อนไหวของชาวประจวบคีรีขันธ์ เพื่อคัดค้านโครงการก่อสร้างไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก-หินกรูด ซึ่งเริ่มต้นจากความหวั่นวิตกในมลพิษที่จะมาพร้อมกับโรงไฟฟ้าถ่านหินของผู้คนชุมชนประมงขนาดเล็กริมชายทะเลบ่อนอก และบ้านกรูดได้รวมตัวกันต่อต้านโครงการนี้เพราะตระหนักได้ว่า มันจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และวิถีชาวบ้าน เช่น การทำสวน การทำการประมงพื้นบ้านจะก่อให้เกิดมลพิษ จะไปทำลายระบบนิเวศ และอุทยานแห่งชาติซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านบ่อนอก

การเคลื่อนไหวที่เริ่มขึ้นจากชาวบ้านนี้ได้นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันครั้งสำคัญของผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างย่างยิ่งในประเด็นสำคัญที่ว่าด้วยเรื่องการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่ปราศจากการรับรู้หรือการมีส่วนร่วมจากชุมชนในพื้นที่ แม้การต่อสู้กรณีของพี่น้องบ่อนอกหินกรูดจะสู้กันถึงเลือดตกยางออก ทำให้แกนนำคนสำคัญอย่างเจริญ วัดอักษร ต้องสังเวยด้วยชีวิตจึงจะสามารถหยุดยั้งโครงการลงได้ ก็ได้แต่หวังว่าการลุกขึ้นมาต่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินของชุมชนท่าศาลา นครศรีธรรมราชในครั้งนี้ สังคมชุมชนคงไม่ต้องลงทุนสูงขนาดนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น