xs
xsm
sm
md
lg

RATCHผ่านฉลุยขายไฟฟ้าให้รัฐ ไทยออยล์ไม่น้อยหน้าคว้า 2 โครงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

" ผลิตไฟฟ้าราชบุรี " ผ่านฉลุย 3 โครงการโรงไฟฟ้า SPP ตามแผนการรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ. ได้ตามความคาดหมาย ส่วนไทยออยล์ไม่น้อยหน้าคว้า 2 โครงการตามที่เสนอไปโรงละ 100 เมกะวัตต์ ด้านเอ็กโกผ่านแค่ 1 โครงการ ด้านไออาร์พีซีปิ๋วโครงการรับซื้อไฟฟ้ารอบแรก 2,000 เมกะวัตต์ รอลุ้นการเปิดรับซื้อไฟฟ้า SPP รอบใหม่อีก 1,500 เมกะวัตต์ คาดประกาศผลรายชื่อสิ้นเดือนม.ค.นี้

นายนพพล มิลินทรางกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัทได้ผ่านการคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เพื่อขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โครงการจากที่ยื่นเสนอไป 4 โครงการ ดังนั้นบริษัทฯยังมีความพร้อมที่จะเข้ารับการคัดเลือกการรับซื้อไฟฟ้าSPPเพิ่มเติมหากกฟผ.เปิดรับซื้อรอบใหม่ โครงการโรงไฟฟ้าSPP ประเภทสัญญาFirm ระบบโคเจเนอเรชั่นที่บริษัทฯได้รับการคัดเลือกทั้ง 3 โครงการ ใช้เงินลงทุนโรงละ 5-6 พันล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินทุนมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนกับพันธมิตร

โครงการที่ผ่านการคัดเลือก ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าSPP บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จํากัด ตั้งอยู่ที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานีจํานวน 1 โครงการ ขนาดกําลังการผลิตประมาณ 130 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าSPPของ บริษัท ราชบุรีเวอลด ?โคเจนเนอเรชั่น จํากัด ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี จํานวน 2 โครงการ ขนาดกําลังการผลิตโครงการละประมาณ 110เมกะวัตตฺ์ หลังจากนี้ต้องรอการเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากกฟผ. โครงการจะดำเนินการได้เมื่อใดขึ้นอยู่กับภาครัฐเป็นหลัก แต่เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายปี 54 ถึงต้นปี 55 ไม่น่าจะมีปัญหา และบริษัทจะดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วยซึ่งนับตั้งแต่วันเริ่มดำเนินการบริษัทคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายกระแสไฟได้ช่วงปี 58

***TOP คว้า 2โครงการ
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP กล่าวว่า บริษัทฯได้รับแจ้งจากกฟผ.ว่าโครงการโรงไฟฟ้าSPPที่เสนอไปทั้ง 2 โครงการที่บริเวณในพื้นที่โรงกลั่นไทยออยล์ ศรีราชา ชลบุรี คิดเป็นกำลังการผลิตโครงการละ 100 เมกะวัตต์ได้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด ทั้งนี้ ใช้เงินลงทุนประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ/โครงการ หลังจากนี้คงต้องไปทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ต่อไป

สำหรับการเสนอโครงการผลิตไฟฟ้า SPP รอบใหม่หากกฟผ.เปิดรับซื้ออีกครั้งนั้น บริษัทฯต้องหารือกับบริษัทแม่ คือปตท.ต่อไปว่าจะยื่นประมูลอีกหรือไม่ เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่เพียงพอที่จะรองรับโรงไฟฟ้าSPP 2โครงการที่ผ่านการคัดเลือกข้างต้นเท่านั้น หากจะยื่นโครงการใหม่คงต้องหาพื้นที่ใหม่แทน

***EGCOผ่านแค่ 1โครงการ
นายปิยะ เจตะสานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานการเงินและบริการองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCOกล่าวว่า บริษัทฯได้รับแจ้งจาก กฟผ.ว่า โครงการ TJ Cogen ซึ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้า SPP ในภาคกลางที่ EGCO เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ได้ผ่านการพิจารณาและคัดเลือกให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก ประเภท Firm ระบบ Cogeneration พ.ศ. 2553 ภายใต้กรอบปริมาณ การรับซื้อไฟฟ้าจำนวน 2,000 เมกะวัตต์ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแล้ว

นายอธิคม เติบศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายแผนธุรกิจองค์กรบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าSPPที่บริษัทยื่นเสนอไป 3 โครงการๆละ 90เมกะวัตต์ไม่ผ่านการคัดเลือกจากกฟผ.ในรอบการรับซื้อ 2,000เมกะวัตต์ แต่กฟผ.จะมีการประกาศผู้ที่ผ่านการคัดเลือกการรับซื้อตามโครงการรับซื้อไฟฟ้าSPPเพิ่มเติมอีก 1500 เมกะวัตต์ภายในสิ้นเดือนนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะผ่านการคัดเลือกส่วนสาเหตุที่โครงการ SPP ของบริษัทไม่ได้รับการคัดเลือก คาดว่าน่าจะมาจากปัญหาความพร้อมด้านสายส่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น