xs
xsm
sm
md
lg

วงจรอุบาทว์ เครือข่ายผลประโยชน์โครงการพลังงานลม มูลค่าหมื่นล้านบาท (1)

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี


1) ปฐมบทแห่งวงจรอุบาทจ์

บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ก่อตั้งโดย นายนพพร ศุภพิพัฒน์ นักลงทุนด้านพลังงานลมที่ไม่ทราบภูมิหลังชัดเจนว่าเขามีวิธีการดำเนินธุรกิจอย่างไร ทราบแต่ว่าเมื่อย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ประมาณปี 2540 ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เขาเริ่มพยายามเข้ามาช้อนซื้อกิจการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กประเภท Co-generation ที่ได้รับตอบรับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จคือโครงการโรงไฟฟ้าของสวนอุตสาหกรรมระยองอินดัสเตรียลปาร์ค ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งแต่เขาไม่ประสบความสำเร็จ และในที่สุดก็เป็นคดีความที่ศาลยุติธรรม (แพ่ง) เพื่อฟ้องร้องค่าเสียหายแทน ส่วนโรงไฟฟ้าก็ถูกเปลี่ยนมือจากเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมไปเป็นของบริษัทในเครือ ปตท. และในที่สุดเป็นของ บมจ. ผลิตไฟฟ้า หรือเอ็กโก้ในปัจจุบัน จึงเห็นได้ชัดเจนว่าศักยภาพของผู้ที่สามารถลงทุนและเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าได้จึงไม่มีลักษณะของนักลงทุนอย่างนายนพพร ที่ไม่มีภาพของเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าแต่อย่างไร

สิบกว่าปีที่ผ่านไปไม่มีใครทราบว่าเขาดำเนินกิจการอะไรมา ในทศวรรษนี้เขาได้กลับมาอีกครั้งในคราบของนักลงทุนพลังงานลม โดยประมาณกลางปี 2550 เขาเริ่มเปิดตัวในนาม บริษัท เขาค้อพลังงานลม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ในเครือของบริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาโครงการพลังงานลมแห่งแรก ที่ได้ทำการตรวจวัดลมที่พิสูจน์ได้ว่าที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีศักยภาพที่จะก่อสร้างทุ่งกังหันลมเชิงพาณิชย์ ได้ของประเทศไทย โครงการนี้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ส่วนราชการในขณะนั้น และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ให้การสนับสนุนเต็มที่ รวมทั้งอดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน คือ ดร.พานิช พงศ์พิโรดม ร่วมกันไปเยี่ยมชมงานเสาวัดลมของเขาที่เขาค้อและให้การสนับสนุนเต็มที่ ต่อมาไม่นาน กระทรวงพลังงานได้ประกาศยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนและมีนโยบายให้เงินเพิ่มแก่นักลงทุน

หลังเปิดตัวเขาเริ่มต้นโครงการได้ไม่สวยนักเนื่องจากได้รับการต่อต้านจากชาวบ้าน ต.บ้านเข็กน้อย ที่ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร ต่อมาเขาได้ยื่นคำร้องขายไฟฟ้าต่อ กฟผ. ในนาม บริษัท ซัสเทนเอเบิลเอนเนอยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด โดยมีพันธมิตรสำคัญคือ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งในขณะนั้นยังไม่เข้าจดทะเบียน MAI ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาถือหุ้นบางส่วนโดยมีข้อตกลงขอรับงานก่อสร้างโครงการบางส่วน เช่น งานโยธา งานก่อสร้างสายส่ง และสถานีไฟฟ้าย่อย

เป็นที่ทราบว่า บ.เด็มโก้ มีบุคลาการที่เป็นกลจักรสำคัญคือ ที่นายประเดช กิตติอิสรานนท์ กรรมการผู้จัดการ ที่เป็นอดีตวิศวกรของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ นายสวาสดิ์ ปุ้ยพันธวงศ์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามี นางประพีร์ ปุ้ยพันธวงศ์ (เหตระกูล) ประธานกรรมการ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บ.เด็มโก้ ช่วยประสานงานเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าของ กฟภ. และ ประเดช เองก็จบวิศวกรรมไฟฟ้าจากจุฬาฯ โดยมีเพื่อนร่วมสถาบันที่มีบทบาทสูงคือ นายสหัส ประทักษ์นุกูล รองผู้ว่าการนโยบายและแผน ที่ดูแลฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบทางด้านเทคนิคการให้อนุมัติเชื่อมโยงระบบไฟฟ้า ซึ่งตำแหน่งนี้สำคัญมาก นับว่าการกลับมาของนพพรในครั้งนี้เป็นการเข้าสู่วงจรอุบาทจ์อย่างเป็นรูปธรรม

2) สายสัมพันธ์เครือข่ายผลประโยชน์สู่วงจรอุบาทว์

เมื่อ 22 สิงหาคม 2551 บริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ ประสบความสำเร็จได้รับอนุมัติเชื่อมโยงและรับซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.เป็นปริมาณ 60 เมกะวัตต์ เป็นแห่งแรก นอกจากนายสหัส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ กฟผ.แล้ว ยังเป็นกรรมการของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. ในยุคนั้น กฟผ.มีนายสมบัติ ศานติจารี (วิศวเกษตร) เป็นผู้ว่า กฟผ. และกำกับดูแลโดยนายพรชัย รุจิประภา (ศิษย์เก่าม.เกษตร) อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการ กฟผ. และในยุคพลโทหญิงพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ เป็น รมต. พลังงาน ศิษย์เก่า ม.เกษตร เช่นเดียวกัน สามี คือ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จึงถือว่า ในยุคนี้ถือว่า ม.เกษตร คอนเนกชันครองอำนาจในกระทรวงพลังงาน และ กฟผ. เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเป็นที่รู้ว่าโครงการใดที่ต้องการผ่านนั้นผู้ประกอบการต้องคุยกับใคร และ อย่างไร ซึ่งนายนพพร และนายประเดช ย่อมรู้ดี เมื่อเปลี่ยนผ่านมาถึงยุครัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รมต.พลังงานคนใหม่คือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล สายนายสุวัจน์คนเดิม สายสัมพันธ์เดิมระหว่างกลุ่มของเขากับผู้มีอำนาจในกระทรวงพลังงานไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อนายนพพรสามารถได้รับอนุมัติรับซื้อไฟฟ้าแล้วถือว่าเขาสามารถแต่งเนื้อแต่งตัวบริษัทของเขาได้ดีทีเดียว และสามารถสร้างราคาให้ตัวเขาเองและบริษัทของเขาได้พอสมควร บัดนี้เขามีของดีพอที่จะขายให้แก่นักลงทุนซึ่งเป็นธุรกิจที่เขาตั้งหน้าตั้งตารอมา 15 ปีแล้ว และผู้ซื้อที่ดีที่สุดก็คือกลุ่มบริษัทลูกของ กฟผ.นั่นเองซึ่งหากสามารถความผูกพันไว้ได้ในด้านหนึ่งก็ถือว่าบริษัทของเขามีความมั่นคงสูงคือได้ภาพว่าเป็นบริษัทในเครือของ กฟผ. ซึ่งดูดีกว่าเดิมมาก และอีกด้านหนึ่งบริษัทของเขาย่อมได้รับสิทธิพิเศษที่ได้รับเกื้อกูลด้านข้อมูล หรือโดยการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติเป็นพิเศษเหนือคู่แข่งอื่นๆ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เขาประสบความสำเร็จโดยการขายหุ้นให้ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง บริษัทลูกของ กฟผ. โดยครั้งแรกเข้ามาถือหุ้นร้อยละ 26 ของทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท เงิน 97.5 ล้านบาทได้ไหลเข้ามาในบริษัท ซัสเทนเอเบิลฯ แล้ว และไม่น่าแปลกใจที่ดีลนี้สามารถผ่านโดยสะดวกเพราะบรรดาผู้ใหญ่ของ กฟผ.คือ ผู้ว่าฯ สมบัติ ศานติจารี ยังเป็นกรรมการ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง และรองผู้ว่าการ กฟผ. ในสมัยนั้น คือ นายนพพล มิลินทางกูร นพพล เพื่อนวิศวจุฬาฯ รุ่นเดียวกับนายประเดช กิตติอิสรานนท์ ซึ่งถูกส่งจาก กฟผ. ให้ไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง เรียกว่าสามารถดูแลกันได้อย่างสนิทแนบแน่น จึงไม่แปลกใจที่ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด กระโดดเข้าซื้อหุ้นโดยสะดวกโยธิน การเกิดใหม่ของเขาดูดีมากน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งพร้อมกระสุนเต็มกระเป๋า เขาได้จัดตั้ง บริษัท รีนิวเอเบิลเอนเนอร์ยี จำกัด เพื่อขยายโครงการไปจังหวัดอื่นอีก และเพื่อแต่งตัวให้ดูดีพร้อมเป็นบริษัทมหาชน บริษัท วินด์เอ็นเนอร์ยีโฮลดิ้ง จำกัด ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในเวลาต่อมา (อ่านต่อวันศุกร์หน้า)

หมายเหตุ : บทความเรื่องนี้มีทั้งหมด 3 ตอน โปรดอ่านตอนต่อไปสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น