xs
xsm
sm
md
lg

“พลังงาน” คาดสิ้นปีนี้ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ 150 เมกะวัตต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พลังงาน” ระบุ สิ้นปีนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จะเพิ่มเป็น 150 เมกะวัตต์ ขณะที่ภาคเอกชน คาดหวังรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาปรับเปลี่ยนวงเงินอุดหนุนในระบบฟีดอินทารีฟส์

นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวระหว่างการร่วมงานประชุมเวทีพลังงานแสงอาทิตย์แห่งเอเชีย ครั้งที่ 3 จัดโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) โดยระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ประมาณ 60 เมกะวัตต์ และภายในสิ้นปีนี้กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 150 เมกะวัตต์ เนื่องจากสิ้นปีจะมีโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเกิดขึ้น 2 โรง

โดยในเดือนตุลาคม 2554 นี้ โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะเริ่มเดินเครื่องกำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ และเดือนพฤศจิกายน 2554 โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ของ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ที่ จังหวัดลพบุรี จะเริ่มผลิต 55 เมกะวัตต์ และจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 73 เมกะวัตต์ในปีหน้า

ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้เข้ามาอุดหนุนด้วยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ส่วนไทยมีเอกชนยื่นขอผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์รวมประมาณ 3,300 เมกะวัตต์ ส่วนนี้มีการทำสัญญาการขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กว่า 2,000 เมกะวัตต์

กระทรวงพลังงาน กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด ว่า จะมีการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่แท้จริงจำนวนเท่าไหร่ และในส่วนที่มีการเปลี่ยนวงเงินสนับสนุนจากการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ แอดเดอร์ จำนวน 8 บาทต่อหน่วย เป็นรูปแบบฟีดอินทารีฟส์ (Feed-in tariffs) ราคา 6.50 บาทต่อหน่วย

ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยแบ่งการอุดหนุนเป็น 2 ระดับ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การติดตั้งบนหลังคาบ้านเรือน ที่อาจให้เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อาจปรับให้ในระดับที่ต่ำลง

นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจาก กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีที่ เอดีบี เข้ามาส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ โดยปัจจุบันนี้ไทยมีการตื่นตัวมากขึ้น คาดหวังว่า รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนวงเงินอุดหนุนในระบบฟีดอินทารีฟส์ (Feed-in tariffs) มากขึ้น จาก 6.50 บาทต่อหน่วย เป็น 7.50 บาทต่อหน่วย และมีการปรับเปลี่ยนส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือ แอดเดอร์ ทุกๆ 2 ปี ตามราคาแผนโซลาร์เซลล์ที่ปรับลดลง

หากรัฐบาลใหม่มีการกำหนดให้ไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากโซล่าห์ได้ระดับ 2,500 เมกะวัตต์ จากแผนเดิม 500 เมกะวัตต์ในแผนพลังงาน 15 ปี หากทำได้จะช่วยลดการปล่อยการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 500,000 ตันต่อปี ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นการผลิตไฟฟ้าทดแทนโครงการผลิตไฟฟ้าจากนิวเคลียร์ที่เลื่อนออกไปจำนวน 5,000 เมกะวัตต์ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น