xs
xsm
sm
md
lg

วงจรอุบาทว์ เครือข่ายผลประโยชน์โครงการพลังงานลม มูลค่าหมื่นล้านบาท (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี

8) ถลำลึกดำดิ่งลงสู่อเวจีแบ่งปันผลประโยชน์ทั่วหน้างานนี้มีทอน

เมื่อใกล้ครบกำหนด 2 ปี บริษัทก็ยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเงื่อนไขการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ขณะเดียวกันโครงสร้างอำนาจของฝ่ายประจำเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ฝ่ายการเมืองยังเหมือนเดิม นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ก้าวขึ้นมาเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ เป็นผู้ว่า กฟผ. และเป็นกรรมการ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง (แทนนายสมบัติ ศานติจารี) และนายนพพล มิลินทางกูร นพพล เป็นกรรมผู้จัดการใหญ่ และกรรมการ บมจ. ราชบุรีโฮลดิ้ง ทั้งสามคนเป็นวิศวะจุฬาฯ รุ่นเดียวกันกับ นายประเดช กิตติอิสรานนท์ (เพื่อนร่วมรุ่นนี้มีคนสำคัญอีกคนคือ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผจก.ใหญ่ บมจ.ปตท.) จึงนับได้ว่าวิศวะจุฬาฯ กลุ่มนี้ยึดกุมเครือข่ายพลังงานของประเทศได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เมื่อนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ขึ้นดำรงตำแหน่งไม่นานคือ เมื่อเดือนมกราคม 2553 ได้ลงนามแก้ไขระเบียบให้สามารถยกเว้นไม่ยึดหลักประกันในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถรับใบอนุญาตได้ ถือว่าการแก้ไขระเบียบดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ที่กำลังมีความเสี่ยงสูงจะไม่สามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้เนื่องจากไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งที่โครงการยังไม่สามารถก่อสร้างได้ และไม่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2553 บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด กลับซื้อหุ้นเพิ่มโดยไม่มีเหตุผลและซื้อในราคาส่วนเกินล้ำมูลค่าหุ้นคือจ่ายเงินเพิ่มสูงมาก คราวนี้จ่ายสูงถึง 107.1 ล้านบาทซื้อหุ้นเพียงร้อยละ 21 จนบริษัทราชบุรีฯ มีหุ้นทั้งหมดร้อยละ 51 รวมแล้วบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ได้ชำระเงินไปแล้วถึง 219.6 ล้านบาท โดยสามัญสำนึกของวิญญูชนไม่มีเหตุผลใดๆ สนับสนุนการซื้อหุ้นดังกล่าวของโครงการที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า นอกจากเหตุผลเดียวคือพวกเขาได้ถลำลึกดำดิ่งลงสู่อเวจีแห่งวงจรอุบาทว์และเครือข่ายผลประโยชน์โดยแบ่งปันกันอย่างอิ่มหมีพีมันถ้วนหน้า เป็นที่น่าจับตามองและฉงนสนเท่ห์อย่างยิ่งในแวดวงผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั่วไปว่าดีลนี้ไม่ปกติ

การสร้างอุปสรรคอื่นให้คู่แข่งเหมือนสร้างเวรกรรมที่วันหนึ่งมันกลับย้อนมาสนองตัวเอง เป็นที่รู้ว่าการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าคือก้าวสำคัญที่จะนำโครงการไปสู่ความสำเร็จ กำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการเขาค้อได้ล่วงเลยไปมากแล้วโดยที่ 1) ระยะเวลาเกิน 2 ปี ตามเงื่อนไข 2) ยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม 3) ยังไม่ได้รับอนุญาตเดินสายส่งไฟฟ้าจาก กฟภ. เนื่องจากโครงการอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ผ่านลุ่มน้ำชั้นหนึ่งทั้ง กฟภ.และ กฟผ.ไม่สามารถดำเนินการได้ จนถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 วิถีแห่งวงจรอุบาทว์จึงสำแดงความสามานย์ได้อย่างโจ่งแจ้งอีกครั้งเมื่อกระทรวงพลังงานโดย นายณอคุณ สิทธิพงศ์ แถลงข่าวว่ากระทรวงพลังงานไฟเขียวให้ กฟผ.ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 3 โครงการของนายนพพร จึงถือว่าเป็นการลงนามสัญญาโครงการเขาค้อเป็นการกระทำที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำทุจริตต่อหน้าที่และเอื้อประโยชน์ให้บริษัทตาม พ.ร.บ.ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 อย่างชัดเจน

9) วิบากกรรมยังไม่จบ

โดยข้อเท็จจริงการก่อสร้างทุ่งกังหันลมนอกจากพื้นที่ตั้งกังหันลมแล้วยังต้องการพื้นที่เพื่อก่อสร้างถนนถาวรขนาดใหญ่เพื่อรองรับการขนส่งใบพัดซึ่งมีความยาว 50 เมตร และตามไหล่ถนนนี้จะใช้เป็นแนวก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากทุ่งกังหันลมไปเชื่อมต่อกับสถานีไฟฟ้าย่อยหล่มสัก ทางเข้าถึงพื้นที่โครงการสามารถเข้าจากทางหลวงแผ่นดินที่ 12 สายพิษณุโลก-หล่มสัก โดยมีทางเลือกสองทาง คือ 1) ผ่านอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง หรือ 2) ผ่านป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาโปลกหล่น ทางเลือกที่หนึ่งไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเหลือเพียงทางเลือกที่สองคือผ่านป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาโปลกหล่นโดยเข้าที่ตำบลทุ่งสมอผ่านหมู่บ้านเพชรดำ เส้นทางที่สองนี้มีระยะทางถนนที่อยู่ในป่าสงวนฯ ยาวประมาณ 9 กิโลเมตร และมีความลาดชันสูงตลอดเส้นทางโดยเฉพาะบริเวณที่ผ่านพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 มีความลาดชันสูงมาก

ดังนั้นในระหว่างก่อสร้างถนนจะมีการขุดเจาะปรับหน้าดิน และปรับพื้นที่สองข้างทางทำให้ป่าสงวนฯ และป่าต้นน้ำลำธารถูกทำลายมากอันมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง และเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้มีถนนถาวรเข้าถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้โดยสะดวกอันเป็นความยากลำบากที่จะป้องกันการถูกทำลายความสมบูรณ์ของอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนฯ และป่าต้นน้ำลุ่มน้ำชั้น 1 ได้ในอนาคต พื้นที่โครงการจึงถือว่ามีที่ตั้งอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าอนุรักษ์โซน C และลุ่มน้ำชั้น 1 ด้วย จึงต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ให้ยกเว้นใช้พื้นที่ต้องห้ามก่อน และต้องได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้ครอบคลุมทั้งโครงการก่อนจึงจะสามารถได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่เป็นลำดับสุดท้ายได้

การอนุญาตที่ผ่านมาให้ใช้พื้นที่ดังกล่าวอย่างเดียวจึงขัดต่อมติ ครม.และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ออกตามความ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดให้โครงการที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนอนุมัติโครงการ การอนุมัติดังกล่าวเข้าข่ายการกระทำทุจริตต่อหน้าที่ปกปิดข้อเท็จจริง หลบเลี่ยงกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ให้บริษัท

ขณะนี้บริษัทกำลังยืมมือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยความสัมพันธ์ของ บมจ.เดมโก้ และนายประเดช กิตติอิสรานนท์ เพื่อขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จัดทำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการนำเสนอรายงานที่ขออนุญาตปรับปรุงขยายสายส่งไฟฟ้าโดยไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงว่าต้องก่อสร้างถนนขนาดใหญ่เพื่อขนส่งใบพัดยาว 50 เมตร และสายส่งใหม่ทั้งหมดในเขตป่าสงวนแห่งชาติและลุ่มน้ำชั้น 1 ซึ่งเป็นการขออนุมัติย้อนหลังเพื่อที่บริษัทจะนำไปประกอบตามเงื่อนไขการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามีความเป็นไปได้น้อยมากที่โครงการเขาค้อจะผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะโครงการนี้มีผลกระทบรุนแรงต่ออุทยานแห่งชาติ และเป็นการทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์หวงห้ามเด็ดขาด เพราะหากปล่อยให้ก่อสร้างในลุ่มน้ำชั้น 1 และป่าโซน C นับวันราษฎรที่อยู่ใกล้โครงการก็จะยิ่งมีความเสี่ยงจากอุทกภัยน้ำท่วมเหมือนเกิดที่ อ.ปักธงชัยที่อยู่ใกล้บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และความเสี่ยงน้ำท่วมดินโคลนถล่มเหมือนเกิดขึ้นที่ อ.นบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในขณะนี้ซึ่งเกิดจากป่าต้นน้ำชั้นในลุ่มน้ำชั้น 1 ถูกทำลาย

10) บมจ.ราชบุรี พัวพันทุจริต

ปัจจุบัน บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด อยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะขณะนี้ย่อมรู้แล้วว่าการกระโดดเข้าไปซื้อหุ้นอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าจ่ายเงินกว่า 219.6 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถก่อสร้างใดๆ ได้ตามคุยโม้โอ้อวดว่าจะสามารถจ่ายไฟได้ภายในปี พ.ศ. 2554 ใบอนุญาตใช้พื้นที่ตั้งกังหันลมและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่มีความหมายใดเพราะไม่มีสถาบันการเงินใดๆ จะอนุมัติเงินกู้ให้กับโครงการในพื้นที่ตาบอดล้อมรอบโดยอุทยานแห่งชาติ ลุ่มน้ำชั้น 1 และป่าสงวนแห่งชาติโซน C

แต่ดูเหมือนว่า บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ยังไม่เข็ด กำลังพิจารณาเข้าซื้อหุ้นในโครงการห้วยบงของนายนพพรอีก วิธีการคือกลุ่มบริษัทของนายนพพรได้ว่าจ้างที่ปรึกษาการเงินในเครือธนาคารกสิกรไทยจัดหาเงินกู้แบบ Syndicate Loan มีธนาคารกสิกรไทย เป็นหัวเรือใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมระดมเงินประมาณหมื่นล้านบาทโดยในคำขอได้ระบุว่า บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด จะเป็นหุ้นส่วนในโครงการ ก็ต้องจับตาดูว่าทั้งๆ ที่ถูกหลอกให้ซื้อหุ้นโครงการเขาค้อ ซึ่งไม่มีนักลงทุนใดๆ จะจ่ายเงินชำระค่าหุ้นก่อนโครงการได้รับอนุมัติเงินกู้ซึ่งหมายถึงโครงการได้รับใบอนุญาตถูกต้องจากส่วนราชการและได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างครบถ้วนแล้วเท่านั้นจึงจะจ่ายเงิน

แต่ในกรณีโครงการเขาค้อ บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ได้จ่ายเงินก่อนทันที โดยยังไม่ได้รับอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการได้รับอนุญาตทางเข้าโดยถูกต้องซึ่งจะกลายเป็นคดีความและมีการสอบสวนความไม่ชอบมาพากลอย่างแน่นอนแล้วยังจะเข้าร่วมในโครงการห้วยบงอีก ทั้งๆ ที่กลุ่มบริษัทของนายนพพรได้กระทำผิดละเมิดกฎหมายการซื้อสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 และ ภบท. 5 หากนับเป็นคดีได้กระทำความผิดสำเร็จต่างกรรมต่างวาระหลายร้อยคดีแล้ว และลักษณะความเป็นไปได้ของโครงการห้วยบงก็เหมือนกับโครงการเขาค้อ คือ ไม่มีทางเข้าและไม่มีแนวสายส่งไฟฟ้าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แม้ว่าปัจจุบันกลุ่มบริษัทของนายนพพรได้มอบหมายให้ บมจ.เด็มโก้ เริ่มทำการก่อสร้างถนน และปักเสาพาดสายไฟฟ้าในเขตท้องที่ตำบลห้วยบงโดยยังไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นับว่าเป็นการกระทำเหิมเกริมที่ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด จ่ายเงินเข้าซื้อหุ้นทั้งสองโครงการนี้อีกก็ต้องพบอุปสรรคเหมือนโครงการเขาค้อเช่นกัน

ลำพังคดีความผิดต่างๆ นับร้อยคดีของกลุ่มบริษัทนายนพพรที่จะเกิดขึ้นซึ่งขณะนี้ข้อมูลบางส่วนได้อยู่ในมือของดีเอสไอ ป.ป.ช. และ สตง.แล้ว หาก บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง และบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่กลับเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันทุจริตในวงจรอุบาทว์เพื่อพวกพ้อง และตัวเอง ก็ต้องพบกับหายนะอันใกล้อย่างแน่นอน

11) การเมืองเลว

วาทกรรมว่าด้วยการเมืองที่ล้มเหลวต้องได้รับการแก้ไขของอภิสิทธิ์ เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมกับการประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อ แต่เอาเข้าจริงอภิสิทธิ์ไม่สามารถแก้ไขการเมืองเน่าและการทุจริตคอร์รัปชันใดไม่ได้เลย ปล่อยให้มีกลุ่มก๊วนต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระหารับประทานกันอย่างอิ่มหมีพีมัน ก๊วนแรกที่เห็นชัดคือ ก๊วนของนาย สุวัจน์ สังกัดบ้านเลขที่ 111 ที่ตอนนี้ผนึกกำลังกับแก๊ง 3 พี ที่เหิมเกริมขนาดเสนอขอรับสัมปทานโครงการโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เรียกว่าตีตั๋วจองไว้เลย ขอร่วมกับกลุ่มของนายสุวัจน์ ที่ยึดครองกระทรวงพลังงานมาตลอดตั้งแต่หมดยุคทักษิณ โดยให้เมียนั่งเป็น รมต.แทน และปัจจุบันคือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ญาตินอมินีนายสุวัจน์ ที่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาด้วย

เมื่อยึดกระทรวงนี้มานาน นายสุวัจน์ อู้ฟู่ขนาดไหนก็ลองดูว่าถึงขนาดปัจจุบันมีเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว บินไปไหนมาไหนในประเทศไม่ต้องไปตีตั๋วขึ้นเครื่องบินให้เมื่อยเสียเวลา เหตุใดเขาจึงร่ำรวยได้ขนาดน้องๆ เสี่ยเหลี่ยม ก็ลองคิดดูเอา ผู้ประกอบการเอกชนต่างร่ำลือกันว่าใครอยากสร้างโรงไฟฟ้าขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฯ ต้องจ่ายเมกะวัตต์ละ 1 ล้านบาทขาดตัว เงินและผลประโยชน์มันช่างหอมหวนเสียเหลือเกินถึงขนาดกลุ่ม 3 พี ยอมเข้าร่วมก๊วนโดยหวังว่ารัฐบาลหน้าก็จะขอรับกระทรวงพลังงานอีกที ถึงขนาดปรีชา เลาหพงศ์ชนะ หนึ่งในกลุ่ม 3 พี ยื่นเสนอเขียนเช็คล่วงหน้าให้นายสุวัจน์ไว้ก่อนเลย โดยขอรับตั้งโต๊ะเป็นเจ้ามือกินรวบรับช่วงต่อจากนายสุวัจน์

โครงการไม่ว่าพลังงานทดแทนตั้งแต่ชีวมวล พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วมโคเจนเนอเรชั่น โรงไฟฟ้าไอพีพี เขื่อนต่างๆ จนถึงฝันหวานขนาดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งกำชับกำกับดูแลให้ข้าราชการในกระทรวงฯ และ กฟผ.ให้เดินหน้าเต็มที่ แต่ดันมาเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่นสร้างความหงุดหงิดให้เจ้ากระทรวง และนายสุวัจน์เป็นอย่างยิ่งที่โครงการต้องหยุดชะงักลงทั้งที่ได้ลงทุนตั้งงบประมาณการศึกษา และการประชาสัมพันธ์เป็นพันๆ ล้านบาทไว้แล้ว

ความจริงเรื่องโครงการนิวเคลียร์ไม่ใช่ของใหม่ของนายสุวัจน์ คือ สมัยที่เขาเป็นรมต.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อหลายปีก่อนก็เคยมีโครงการปรมาณูของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติที่เขาดูแลก็มีกลิ่นไม่ดีมาก่อน บริษัทเป็นที่ปรึกษาในขณะนั้นคือ กลุ่มอีเล็คโทรวัตต์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการท่อร้อยสายไฟฟ้าสนามบินสุวรรรณภูมิซึ่งถูก คตส.สรุปเรื่องส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินคดีในการทำทุจริต ก็เคยรับใช้สนองงานให้นายสุวัจน์จนโครงการจบในตอนนั้นด้วย

แต่เรื่องทุจริตในสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ไม่โด่งดังเท่ากับโครงการทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านที่เขาเองมีส่วนพัวพันด้วย ขณะนี้สำนวนอยู่ที่ ป.ป.ช.ซึ่งใกล้จะหมดอายุความเต็มที่แล้ว โครงการเด่นๆ ที่กำลังวิ่งเต้นกันขณะนี้ให้ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าคือ โครงการเขื่อนไชยะบุลีกั้นแม่น้ำโขงระหว่างประเทศไทย-ลาว ที่มีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ซึ่งสังกัดกระทรวงพลังงานรับผิดชอบดูแล ถูกสั่งให้เดินหน้าเต็มที่ผ่านอธิบดี และปลัดกระทรวง โดยให้ กฟผ.ทำการลงนาม MOU กับรัฐบาลลาวพร้อมขายไฟฟ้าแล้ว โดยยังไม่ผ่านการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และถูกคัดค้านจากภาคประชาชนไทยอย่างหนัก

เนื่องจากมีผลกระทบมากมายถึงก๊วนอื่นที่ร่วมมือ คือ ก๊วนของนายบรรหารที่ควบคุมดูแล ส.ป.ก.ยอมแก้ระเบียบให้สามารถนำที่ดินมาทำพลังงานลมได้โดยปล่อยให้เอกชนซื้อสิทธิจากเกษตรกรเป็นหมื่นๆ ไร่ และคนที่ชงเรื่องให้นายบรรหารก็คือ เลขาสำนักงาน ส.ป.ก. จนในที่สุดได้แต่งตั้งเป็นปลัดกระทรวงเกษตรฯ ว่ากันถึงที่สุดแล้วความเลวทั้งหมดนั้นผ่านสายตานายอภิสิทธิ์ทั้งสิ้น ไม่ว่ากรณีโรงไฟฟ้าบางคล้าซึ่งนายอภิสิทธิ์นั่งเป็นประธาน กพช.เห็นชอบจ่ายเงินเพิ่มให้บริษัทที่ขอย้ายโรงไฟฟ้าไปที่แห่งใหม่ และการเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรฯ ไปแก้ไขระเบียบ ส.ป.ก.ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่องแปลกเพราะพรรค ปชป.ชอบเรื่อง ส.ป.ก.อยู่แล้วตั้งแต่รัฐบาลนายชวนในอดีต มาในยุคนายอภิสิทธิ์ถึงขนาดแปลง ส.ป.ก.เป็นโฉนด และในอนาคตก็ชัดเจนว่านายทุนจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน

วาทกรรมว่าด้วยการเมืองที่ล้มเหลวของนายอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้แตกต่างจากการเมืองเลวที่พวกนักการเมืองเหล่านี้เข้ามาปล้นชาติหาผลประโยชน์และขายชาติ ไม่ต่างจากยุคทักษิณที่พวกเขาต่างก็เคยสมสู่กันมาก่อน พวกนักการเมืองเหล่านี้กำลังดี๊ด๊าจะได้เลือกตั้งใหม่ตามกำหนดการยุบสภาของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเมื่อเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่ไม่ว่านายอภิสิทธิ์จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ หรือพรรคเผาไทยจะได้เป็นรัฐบาลโดยการกำกับของทักษิณหรือไม่ กลุ่มการเมืองเลวๆ ดังที่กล่าวก็จะได้ร่วมรัฐบาลยึดเอากระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรฯ ต่อไป เพราะพรรค ปชป. และพรรคเผาไทยไม่มีทางได้เสียงข้างมากเป็นรัฐบาลพรรคเดียวอย่างแน่นอน และเมื่อเข้ามาก็ตั้งหน้าตั้งตาทุจริตต่อไปไม่รู้จักจบจักสิ้น อย่างนี้ไม่เรียกว่าการเมืองเลวได้อย่างไร

ถึงเวลาหรือยังที่ต้องหยุดความเลวของนักการเมืองเหล่านี้ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น