xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุทธวิธีเลี้ยงแกะของ “เหลิม บางบอน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์โค้งสุดท้ายก่อนเข้าโหมดเลือกตั้ง ดูจะมีอะไรใหม่ขึ้นมาทันที

แม้กระทั่งภาวะเศรษฐกิจของไทย ก็ยังต้องพะวงกับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ว่า ในช่วงไตรมาสที่สี่ปีนี้ มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจจะสูงเกิน 3.0 % จากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 54 อยู่ที่ 0.5-3.0 % เนื่องจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น

อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาจากปัจจัย 4 ด้าน คือ 1. ด้านอุปทาน มาจากราคาน้ำมันและอาหารที่ปรับสูงขึ้น 2. ด้านอุปสงค์ มาจากการฟื้นตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศทั้งในระดับสากลและภายในประเทศ 3. ด้านสภาพคล่อง มาจากในตลาดการเงินโลก และสภาพคล่องภายในประเทศที่จะสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ 4. การคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่เกิดจากการคาดว่าราคาต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นจะนำไปสู่การตั้งราคาขายสินค้าสูงขึ้น

ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม แบงก์ชาติประเมินว่า วิกฤตนิวเคลียร์ และวิกฤตตะวันออกกลาง จะส่งผลกระทบเศรษฐกิจไทยเพียงเล็กน้อย และคงประมาณการเศรษฐกิจที่ 3-5 %

ทั้งนี้ราคาน้ำมัน ปรับตัวสูขึ้น 2.1 % หลังสถานการณ์ในลิเบียยังรุนแรง โดยพันธมิตรชาติตะวันตกได้โจมตีลิเบียติดต่อกันหลายวัน แต่ พ.อ. กัดดาฟี ยังคงแข็งกร้าว และประกาศสู้ตาย ขณะที่เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การโจมตีลิเบียจากชาติอื่นๆ เช่น อินเดีย รัสเซีย จีน บราซิล

นั่นทำให้ความไม่แน่นอนกับการแก้ปัญหาความขัดแย้งในลิเบีย จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อ
ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนไปเรื่อยๆ

ด้านปัญหานิวเคลียร์ญี่ปุ่น ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า จะแก้ไขให้เสร็จเมื่อใด ทำให้การฟื้นฟูเมืองต่างๆของญี่ปุ่นยังต้องเลื่อนออกไปอีกพักใหญ่

เช่นเดียวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ยังคงได้รับแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อไปอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดอังกฤษรายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนกุมพาพันธ์ สูงถึง 4.4 % จากเป้าหมายที่วางไว้ 2.0 %

ทำให้มีโอกาสสูงที่กลุ่มประเทศยุโรปจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเร็วๆนี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังไม่ปรับขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่า

โดยสรุปแล้ว สถานการณ์เศรษฐกิจไทยค่อนข้างจะมีความไม่แน่นอนพอสมควร ภายใต้สถานการณ์โลกที่คาดการณ์ได้ยาก

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

หลังจากที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ประกาศยุบสภาสัปดาห์แรกเดือนพฤษภาคม นั่นคือระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคมนี้

พรรคประชาสันติ พรรคการเมืองพันธุ์คนเก่า จะเปิดตัวหัวหน้าพรรคในวันที่ 2 เม.ย.นี้ เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าพรรค

เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตนายกสภาทนายความ บอกกับนักข่าวว่า “ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์” อดีตรมว.มหาดไทย เพื่อนทักษิณ จะมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคนี้

ในขณะที่ “ร.ต.อ.” อีกคนที่เคยประกาศว่า จะตั้ง “พรรคทางเลือกใหม่” (Alternative Party) ก็ยื่นใบลาออกต่อสื่อมวลชนจากตำแหน่ง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย โดยไม่ลาออกจากพรรค

ร.ต.อ.เฉลิม อยุ่บำรุง กลายเป็น “เหรียญอีกด้านหนึ่ง” เมื่อเทียบ ร.ต.อ.ปุระชัย

ด้านความซื่อสัตย์ พูดจริง ทำจริง กับด้านคดเคี้ยว พูดจาหยิบหย่ง

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา หลังการอภิปรายไม่วางใจไม่กี่วัน เฉลิม ได้มอบให้ตัวแทนส่งเอกสารถึงผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา โดยในเนื้อความระบุบเพียงสั้นๆ ว่า ได้แจ้งประสงค์ขอลาอออกจาก ส.ส.ระบบสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย

“ธเนศ เครือรัตน์” ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย คนสนิทของเฉลิม ยอมรับว่า การลาออกจาก ส.ส.ของ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นเรื่องจริง เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมา ( 22 มี.ค. ) เขาและ ส.ส.จำนวนหนึ่งที่เคารพในตัว ร.ต.อ.เฉลิม ได้ร่วมรับประทานอาหารกับ ร.ต.อ.เฉลิม ที่บ้านริมคลอง และได้รับทราบเรื่องดังกล่าว แม้จะพยายามทัดทาน แต่ร.ต.อ.เฉลิม ก็ไม่เปลี่ยนใจ

เหตุผลที่ลาออกนั้น ธเนศ อธิบายกับนักข่าวว่า เกิดจากความต้องการใช้เวลาในการออกช่วยหาเสียงให้กับบรรดาสมาชิกพรรคที่จะลงรับสมัครเลือกตั้ง ทั้งยังเกิดจากความน้อยใจในบางเรื่อง และองค์ประกอบอื่น ๆ รวมทั้งความพ่ายแพ้ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา

แต่สังคมการเมือง และคนในพรรคเพื่อไทยรับทราบว่า เฉลิม น้อยใจอย่างรุนแรงกับการตัดสินใจเลือก มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กลายเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค และนายกรัฐมนตรี

โดยเฉพาะการเปิดไฟเขียวให้แสดงบทบาท “ผู้นำการอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ครั้งล่าสุด

มิหนำซ้ำ มิ่งขวัญ ยังฉวยโอกาสสรุปการอภิปราย ด้วยการเสนอตัวเป็น “นายกรัฐมนตรี” แข่งกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

นอกเหนือจากขัดแย้งกับ “กลุ่ม กทม.” ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และยังเป็นคนละเลือดเนื้อกลุ่มภาคเหนือของ “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์”

ขณะที่กลุ่มอีสาน ในเพื่อไทย ยังมีจำนวนมากกมายหลายกลุ่ม

เอาเข้าจริงที่ เฉลิมคุยนักหนาว่า เขามีส.ส.อีสานสนับสนุน 30 คนนั้น อาจจะเป็นเพียง “ตัวเลขปั้นแต่ง”
ประเด็นสำคัญที่สุดคือ “เฉลิม หมดราคาค่างวด” ในฐานะผู้นำพรรค ในสายตาทักษิณ

คุณสมบัติ 9 ข้อของคนที่จะถูกเสนอชื่อเป็น “นายกรัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทย ตามที่ทักษิณบอกแก่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยนั้น ตรงกันข้ามกับประสบการณ์ และท่วงทำนองของเฉลิมทั้งสิ้น

1. ต้องเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน พูดจาประสานงานกับทุกฝ่ายได้ ไม่ขยันสร้างศัตรู 2. ต้องมีคนที่มีเมตตาธรรม 3. ต้องมีจิตใจรักความเป็นธรรม

4.ต้องเป็นกล้าเปลี่ยนแปลงแก้ไขในสิ่งที่ผิด 5. ต้องเป็นคนเข้าใจเศรษฐกิจของประชาชนและของภาคธุรกิจ 6. ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่เข้าใจอย่างเดียวแต่ทำไม่เป็นไม่ได้ 7. ต้องเป็นคนที่มีใจรักประชาชน 8. ต้องเป็นผู้รักความเป็นประชาธิปไตยโดยเคารพความสามารถและสติปัญญาของประชาชน 9. ต้องเป็นผู้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ทักษิณ ย้ำว่าต้องประกาศให้ประชาชนทราบทันทีที่ยุบสภาฯ

คงขาดเพียงข้อเดียว คือข้อ 10. ต้องนำผม (ทักษิณ) กลับเมืองไทย โดยไม่ต้องติดคุก !!!

ก่อนหน้านี้ เฉลิม ยื่นเงื่อนไข 3 ข้อกับพรรคเพื่อไทย และทักษิณ

แต่เงื่อนไขทั้งสาม ถูกแปลไทยเป็นไทยว่า เฉลิมไม่ได้วางเงื่อนไขอะไร เพราะตัดสินใจออกจากพรรคเพื่อไทยไปเรียบร้อยก่อนหน้าแล้ว

เพียงแต่กำลังหาทางลงที่เหมาะสมสำหรับตัวเองเท่านั้น

ข้อเสนอข้อที่ 1 คือ การขายชื่อทักษิณ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป “เมื่อในพรรคยังพิจารณาว่าจะไม่ขายพ.ต.ท.ทักษิณ ก็ขอถามหน่อยว่า แล้วจะขายใครเพื่อให้ชนะเลือกตั้ง เพราะขี้เหร่กันทั้งนั้น นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีความนิยมดี ขณะที่ตัวผมก็ขายไม่ได้ เพราะมีตำหนิ และก็ถูกมองว่ารักลูกเกินไป”

ข้อเสนอข้อที่ 2 คือ การแบ่งกรุงเทพฯ ออกเป็น 3 โซน เพื่อส่งลูกชายลงรับสมัคร ส.ส. “อีกกรณีที่เคยเสนอแนวคิดว่ากรุงเทพฯ มีขนาดใหญ่ มี ส.ส. 36 คน พรรคควรจะมีบทบาทในการปรับปรุงเปลี่ยนบ้าง ไม่ใช่ว่าอยากจะมากุมอำนาจ โดยเสนอแบ่งออกเป็น 3 โซน คือ กรุงเทพฯรอบนอก กรุงเทพฯ ตรงกลาง และกรุงเทพฯฝั่งธน แต่พรรคก็เฉยๆ ตรงกันข้ามยังมีการสกัดกั้น และพูดจาแขวะไปมา ทำนองว่าอยากจะเอาบุตรชายลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขอยืนยันว่า บุตรชายจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.”

ข้อเสนอข้อที่ 3 คือ แนวทางการทำงานและอภิปราย “ มีข่าวว่าการอภิปรายครั้งนี้จะดุเดือดเลือดพล่านเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ บางคนก็ว่าจะอภิปรายเชิงสมานฉันท์ ผมบอกว่าแนวทางไม่ตรงกับผม ที่คิดว่า เมื่อเป็นฝ่ายค้านไม่ไว้วางใจรัฐบาล ต้องเน้นเรื่องทุจริต การบริหารงานที่ผิดพลาด ต้องเต็มที่ เปิดแผล เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง"

โดยสรุป เฉลิมบอกว่า หากพรรคปฏิเสธข้อเสนอของตน และยังเดินแนวทางตามเดิม โดยพรรคไม่ยอมขาย พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ปรับปรุงกทม. และไม่คิดทำแนวทางใหม่ๆ

เฉลิมมีสองทางเลือกคือ 1. ยุติการเมือง 2.ไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ 

ขีดเส้นให้ทักษิณรับข้อเสนอภายใน 3 เดือน ก่อนจะตัดใจ ไม่รับเงินจากทักษิณอีก

แต่ไม่ถึง 3 เดือน เฉลิมส่งสัญญานกดดัน โดยการลาออกจาก ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยก่อน
แม้ว่า“พรรคทางเลือกใหม่” จะเป็นเพียงแค่ตุ๊กตาล้มลุกตัวใหม่ของเฉลิม หลังจากที่เคยพยายามตั้งพรรคการเมืองมาครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากออกจากพรรคความหวังใหม่

" คนในพรรคหลายคนได้ออกมาคัดค้านและแสดงความเห็นว่า ใครก็ตามที่ผูกพันกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แปลว่า ไม่ได้ออกเงินและหวังได้ดี ซึ่งไม่ใช่" ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทยตอบโต้ข้อกล่าวหาในพรรคเพื่อไทย เพราะคนในพรรคเพื่อไทย พูดกันอย่างเมามันส์ว่า เฉลิม คิดเป็นสามล้อถูกหวย
หวังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีโดยไม่ออกเงิน

ถนัดแต่พูดอย่างเดียว

แต่เฉลิมคิดว่า ตัวเขามีมากกว่าการพูดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เคยเป็นรัฐมนตรีมาหลายกระทรวง ทั้งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยุติธรรม สาธารณสุข มหาดไทย

เป็นรัฐมนตรีได้เพราะ “ผู้นำรัฐบาลกลัวข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ของเฉลิม

แต่นับตั้งแต่ปี 44 หลังทักษิณ ขึ้นมามีอำนาจ เฉลิมหมดพิษสง

ข้อมูลเฉลิมหมดราคา ไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้น มีแต่เพียงสำนวนลีลา

การอภิปรายไม่ไว้วางครั้งล่าสุด ทั้งเรื่องการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) และบริษัทฟิลลิป มอริส บ่งบอกเช่นนั้น

นั่นทำให้เฉลิม บอกว่า ถึงจุดอิ่มตัวทางการเมืองแล้ว

เฉลิม เปิดใจกับนักข่าวหลังการลงมติญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า “ หลังจากอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแล้ว ภรรยาและลูกๆ บอกว่า เป็นการอภิปรายที่ดีมาก ที่ผ่านมาได้ก้าวถึงตำแหน่งที่ตั้งใจคือ รมว.มหาดไทยแล้ว และถึงจุดอิ่มตัวทางการเมือง จึงตัดสินใจว่า การเลือกตั้งสมัยหน้าจะไม่ลง ส.ส. เพราะอายุ 64 ปีแล้ว ”

“ลูกหลานก็ไม่อยากให้ผมที่เป็นปู่แล้วไปหาเสียงไกล แต่ยินดีช่วยพรรคเดินสายหาเสียง วันนี้ตัดสินใจไม่ตั้งพรรคใหม่ และไม่ไปไหน ขอเป็นภารโรงพรรคเพื่อไทย ” นั่นคือ อนาคตของเฉลิม ที่พูดแบบหยิบหย่งอีกครั้ง

ใครเชื่อว่า เฉลิมวางมือทางการเมือง ก็บ้าแล้ว !!

“การปรับโครงสร้างพรรคไม่ขอพูดถึง แต่หัวหน้าพรรคตัวจริงคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ดังนั้นจะเอาใครมาเป็น ต้องสู้นายอภิสิทธิ์ได้ อย่างผมขอประกาศเลยว่า ไม่ขอเป็นหัวหน้าพรรค และนายกฯ ก็เหลือนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ”

แต่เฉลิมยกมือเชียร์ น้องสาวทักษิณสุดแรงเกิด “หากไม่ใช่นายมิ่งขวัญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็เป็นสมมติฐานที่เป็นไปไม่ได้ วันนี้เธอคนเดียวเท่านั้นที่สู้นายอภิสิทธิ์ได้ เพราะ 1. นายอภิสิทธิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ จบจากเมืองนอกเช่นกัน 2. นายอภิสิทธิ์ ประสบความสำเร็จได้เป็นนายกฯ แต่มีคนตายเยอะ 3. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจนับแสนล้าน 4. นายมิ่งขวัญ เป็นผู้นำไม่ได้ ไม่ได้เก่งเศรษฐกิจแต่เป็นการตลาด และ 5,300 ล้านบาท มีจริงหรือไม่”

เฉลิมบอกอนาคตของตัวเองแบบไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า “วันนี้ขอไม่ลง ส.ส. ตายตรงนี้ เป็นยามพรรคก็เอา ไม่คิดไปตั้งพรรคใหม่ แต่ถ้าหากเอาคุณปู่มาเป็นหัวหน้าพรรค ก็ต้องคิดใหม่ อายุ 64 ปี ไม่คิดอุ้มไก่แพ้แล้ว ตอนนี้แนวโน้มวางมือ 90 % ”

นั่นหมายความว่า ทั้งมิ่งขวัญ และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ คุณปู่ในสายตาเฉลิม ไม่เหมาะนั่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

“สิ่งที่น้อยใจคือ โพลที่พรรคทำเมื่อ 15 วันที่แล้ว ได้อันดับหนึ่งทั้งหัวหน้าพรรค และนายกฯคือตัวผม แต่ไม่มีใครมาสนใจบอกผม ใจดำจริงๆ ต่อไปจะไม่ใช่ตุ๊กตาให้ใครใช้อีกแล้ว” นั่นคือเหตุเบื้องลึกที่เฉลิมลาออกจากเก้าอี้ส.ส.

เฉลิม เคยวิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทย จะชนะเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. 250-255 คน แต่ไม่มีใครสนใจ

เคยประกาศว่า พรรคเพื่อไทยจะยึด 135 เขต 19 จังหวัด แต่ไม่มีใครเชื่อ เพราะยังไม่มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง

เคยนำพรรคในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อม 4 เขต  ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา เขต 6 จ.สุรินทร์ เขต 3 จ.ขอนแก่น เขต 2 และ จ.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 ยกเว้นกรุงเทพฯ เขต 2.. ปรากฏว่า เละตุ้มเป๊ะ

เคยบอกว่า ได้เขียนยุทธศาสตร์ 7 แผน 4 ปรับ 3 หลัก 6 เร่ง ร่วมกับคณะทำงานกรกฎ ของพรรค หัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค... แต่ก็เหมือนเสียงแตรรถยนต์ ขอทางผ่าน อะไรทำนองนั้น

ดังนั้น โดยสรุปคือ เฉลิม ลาออกจาก ส.ส. จึงไม่มีนัยยะอะไรมากไปกว่า กลยุทธ์กดดันขออำนาจ และเงินจากทักษิณ เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น