บลจ.ไอเอ็นจี ประเมิน เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวจากปัญหาหนี้ยุโรป และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลให้การลงทุนโดยรวมยังผันผวน แนะลงทุนในกลุ่มอีเมอร์จิ้งมาร์เก็ตและเอเชีย เหตุปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ส่วนหุ้นไทยยังน่าลงทุนหลังรัฐเริ่มออกมาตรกระตุ้นการลงทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังน้ำท่วม พร้อมมองกำไรบจ.ยังเติบโตได้ดีแต่ราคาหุ้นที่ยังถูกเมื่อเทียบกับภูมิภาค
นายจุมพล สายมาลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไอเอ็นจี อินเวสท์เม้นท์ แมเนจเม้นท์ หรือ ING Investment Management: INGIM คาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2012 ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับปัญหาวิกฤติหนี้ของยุโรป แต่หากพิจารณาภาพรวมนับว่าเศรษฐกิจโดยรวมทรงตัว โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศสหรัฐฯ กลุ่มประเทศในยูโรโซน และอังกฤษ คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในระดับที่ลดลง โดยขยายตัว 1.5%, 0.3% และ 0.5% ตามลำดับ สำหรับประเทศญี่ปุ่นอยู่ในระยะของการฟื้นตัวจากมหันตภัยธรรมชาติเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 1.8% ในส่วนของประเทศจีน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะปรับลดลงจากคาดการณ์ในปี 2554 ที่ระดับ 9.1% ลงมาอยู่ที่ระดับ 7.9% ในปี 2555 ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการปรับลดของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่อยู่ที่ระดับ 5.7% จาก 6.4%
ในขณะที่การลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีความผันผวนค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ายังมีหุ้นที่สามารถลงทุนได้ โดยพิจารณาเลือกจากบริษัทที่มีผลประกอบการดี ปัจจัยพื้นฐานและมีการเติบโตของผลกำไรที่ดี ในขณะที่ราคาหุ้นที่ค่อนข้างถูก สำหรับธีมการลงทุนในปี 2555 คือ เน้นหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลดีที่มาจากปัจจัยพื้นฐานดีและกำไรจากผลประกอบการที่สูง โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยรวมมองว่าดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ที่สำคัญทั่วโลกจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2555 โดยคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนประมาณ 5%-6% ในขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่คาดการณ์ว่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าที่ระดับ 15%
สำหรับภาพรวมการลงทุนของภูมิภาคเอเชียในปี 2555 ว่า เศรษฐกิจเอเชียยังคงแข็งแกร่ง แม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปบางส่วนที่มาจากผลกระทบด้านการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศบ้าง สำหรับปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจเอเชียเติบโตได้ดีกว่าภูมิภาคอื่นนั่นคือ ความสามารถของรัฐบาลในการนำมาตรการหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทีเหมาะสมมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืน ส่วนประเด็นอัตราเงินเฟ้อ แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียเริ่มที่จะผ่อนคลายลงภายหลังความต้องการและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกเริ่มปรับลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียหันกลับมาพิจารณาทบทวนการใช้มาตรการและนโยบายทางการเงินในเชิงผ่อนคลายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเมืองของแต่ละประเทศจะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดและสภาพตลาดการลงทุนในปีหน้า และคาดว่าภาวะความผันผวนในตลาดการลงทุนจะปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะ และด้วยทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวพร้อมกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาลง ดังนั้น นักลงทุนควรมองหาการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีโดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มประเทศเกิดใหม่และภูมิภาคเอเชียในรูปสกุลเงินท้องถิ่น เนื่องจากโครงสร้างทางการเงินที่ยังแข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบยุโรปและสหรัฐฯ อีกทั้ง คาดการณ์ว่าสกุลเงินของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าในอนาคต
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 2555 น่าจะขยายตัวได้ราว 4%-5% จากแรงขับเคลื่อนภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนในประเทศทั้งจากภาครัฐและเอกชน อันเป็นผลจากมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐในการลงทุนและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมหลังน้ำท่วม รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในด้านเงินเฟ้อมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2554 ในระดับ 3%-4% นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมีโอกาสทำให้เกิดความเสี่ยงจากราคาสินค้าที่อาจปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
นายจุมพล กล่าวต่อว่า มุมมองต่อแนวโน้มการลงทุนในตราสารหนี้ในปี 2555 นั้น กนง. จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอีกประมาณ 0.25% ภายในไตรมาสแรกของปี 2012 และน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับดังกล่าวตลอดทั้งปี 2555 ภายหลังจากที่ กนง. มีการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2554 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นปี2554 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำไปถึงกลางปี 2556 และคาดการณ์ดอกเบี้ยในยุโรปจะมีโอกาสปรับลดลงมาอีกอย่างน้อย 0.50% จากปัญหาวิกฤติหนี้ในยุโรป คาดว่าจะส่งผลให้เงินทุนระยะยาวจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในพันธบัตรของไทยเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่แนวโน้มการลงทุนในหุ้น คาดว่าตลาดหุ้นไทยในปี 2555 อาจมีความผันผวนตามภาวะตลาดโลก แต่โดยรวมแล้วมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของไทยและเงินทุนต่างชาติที่คาดว่าจะไหลกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ภายหลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้มีการลดน้ำหนักการลงทุนในก่อนหน้าเพื่อลดความเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกในช่วงปี2554 ซึ่งหากพิจารณาจากมูลค่าของตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันที่มีค่า PER ของปี 2012 ต่ำกว่า 10 เท่า โดยจัดอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดหุ้นที่มีส่วนผสมที่ดี เนื่องจากมีทั้งหุ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ได้แก่ น้ำมัน และ ปิโตรเคมี และหุ้นที่พึ่งพาการบริโภคในประเทศ ได้แก่ ธนาคาร สื่อสาร อสังหาริมทรัพย์ และ ค้าปลีก ดังนั้น ไม่ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรตลาดหุ้นไทยยังคงเป็นตลาดหุ้นหนึ่งที่น่าสนใจในสายตานักลงทุนต่างประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตได้ประมาณ 15% จากปี 2554 ถึงแม้ว่า ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวอาจทำให้การคาดการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะสูงเกินจริง อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปี 2555 ยังคงมีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ หากประเมินถึงผลประโยชน์จากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐบาลประกาศว่าจะเริ่มต้นนโยบายดังกล่าวในปีนี้ โดยจะลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงจาก 30% เหลือ 23% นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิให้กับบริษัทจดทะเบียนได้ประมาณ 6% แต่หากภาคเอกชนมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาลก็จะส่งผลให้กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนลดลงประมาณ 2% ดังนั้น โดยรวมแล้ว ปี 2555 ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนยังคงมีโอกาสเพิ่มขึ้นได้จากการคาดการณ์ในปัจจุบันอีกประมาณ 4% ซึ่งถือว่าช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจชะลอตัวลงได้ระดับหนึ่ง
นายจุมพล กล่าวอีกว่า ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีนี้คาดว่ายังน่าลงทุน จากมาตรการภาครัฐและการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังน้ำท่วมที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น การขยายตัวของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนที่ยังโตต่อเนื่อง และมูลค่าหุ้นที่ถูกจะเป็นสิ่งจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติยังคงให้ความสนใจในตลาดหุ้นไทย โดยปัจจัยเสี่ยงยังคงมาจากภายนอกประเทศ ทั้งปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกลุ่มยูโรและปัญหาการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามการลงทุนในปี 2555 เรายังคงแนะนำให้นักลงทุนมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) จากการลงทุนทั้งในตราสารหนี้และหุ้น โดยเฉพาะการหาโอกาสที่จะเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งนับเป็นปีที่ดีสำหรับการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าว ส่วนการลงทุนในประเทศนั้นแนะนำการลงทุนในกองทุนที่มีความยืดหยุ่นในการลงทุนระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ และมีการปรับสัดส่วนการลงทุนอย่างสมดุล (Portfolio Rebalancing) ให้เหมาะสมกับสภาพการลงทุนในขณะนั้น กองทุนเปิดไอเอ็นจีไทยบาลานซ์ฟันด์ ที่คาดว่าจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนที่มีความผันผวนในปีนี้ ส่วนสำคัญที่นักลงทุนจะต้องนำมาประกอบการตัดสินใจเลือกลงทุนคือ การเน้นการลงทุนที่สามารถปรับเปลี่ยนและตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์การลงทุนในแต่ละช่วงเวลา ควบคู่ไปพร้อมกับการพิจารณากรอบการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม