xs
xsm
sm
md
lg

แนะโอกาสทองบาทแข็ง เร่งใช้หนี้-นำเข้าเครื่องจักร และลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอกชนมองเงินบาทแข็งค่าระยะสั้นมั่นใจ ธปท.ดูแลอยู่แล้ว พร้อมแนะใช้เป็นโอกาสทองเร่งใช้หนี้ต่างประเทศทั้งเอกชน รัฐบาล และรัฐวิสาหกิจ เร่งนำเข้าเครื่องจักร และรัฐบาลเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขยายการฝากเงินตราต่างประเทศไว้กับ ธปท.นาน 1 ปี

นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการและรักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทอยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงเล็กน้อยในวันนี้ (28 ม.ค.)

สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้ นายธนิตกล่าวว่า เกิดจากเงินทุนไหลเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่สูงกว่าสหรัฐฯ และยุโรป โดยดอกเบี้ยพันธบัตรในประเทศไทยสูงร้อยละ 3-3.5 ขณะที่ดอกเบี้ยสหรัฐฯ และยุโรปต่ำกว่าร้อยละ 1 เท่านั้น ส่วนเงินทุนไหลเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นคาดว่าจะค่อยๆ ลดลง เพราะขณะนี้ PE ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 16 เท่า ซึ่งค่อนข้างสูงแล้ว

นายธนิตกล่าวอีกว่า การที่เงินบาทแข็งค่า มีทั้งผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ โดยกลุ่มได้ประโยชน์คืออุตสาหกรรที่นำเข้าเพื่อผลิตและส่งออก เช่น รถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะรายเล็กที่ใช้วัตถุดิบในประเทศผลิตสินค้าเพื่อส่งออก

นายธนิตยอมรับว่า เงินบาทที่แข็งค่าขณะนี้ทำให้ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งประมาณร้อยละ 1-2 ในการตั้งราคาขาย แต่ผู้ส่งออกไม่กังวลเรื่องเงินบาทแข็งค่ามากเท่ากับความผันผวนของค่าเงินบาทที่รุนแรง เพราะยากต่อการตั้งราคาสินค้า จึงต้องการให้เงินบาทมีเสถียรภาพ

“อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ในอดีตพบว่าการแข็งค่าของเงินบาทไม่สัมพันธ์กับการขยายตัวของการส่งออกมากนัก ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการส่งออกคือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เพราะในอดีตที่ผ่านมาเช่นปี 2554 เงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่การส่งออกของไทยยังเติบโตได้ถึงร้อยละ 14-15”

สำหรับมาตรการที่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง ได้แก่ เร่งใช้หนี้ต่างประเทศทั้งเอกชน รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ เร่งนำเข้าเครื่องจักร และรัฐบาลเดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ขยายการฝากเงินตราต่างประเทศไว้กับ ธปท.นาน 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น