xs
xsm
sm
md
lg

กทท.ชงบอร์ดงดเก็บค่าภาระ ช่วยยุ่นส่งออกทางเรือ3เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กทท.ชงบอร์ด ของดเว้นเก็บค่าภาระของช่วยเหลือญี่ปุ่นส่งออกจากท่าเรือ เบื้องต้นเป็นเวลา 3 เดือนพร้อมประสานสายเรือญี่ปุ่นลดค่าระวางอีกทาง “ผอ.กทท.””เผยต้องเร่งเสนอครม.เพื่อใช้ในเม.ย.นี้เป็นการเร่งด่วน ขณะที่ อย. เข้มตรวจสินค้านำเข้าญี่ปุ่นหวั่นปนเปื้อนอย่างละเอียด

นายเฉลิมชัย มีคุณเอี่ยม ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตูแผ่นดินไหว สึนามิและวิกฤติการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในช่วงที่ผ่านมานั้น กทท.ได้ทำแผนเพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านการขนส่ง โดยจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ กทท. ในวันที่ 30 มี.ค. 2554 พิจารณางดเว้นการจัดเก็บอัตราค่าบริการของท่าเรือ (ค่าภาระ) เฉพาะสิ่งออกและอาหารที่ขนส่งเพื่อไปช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่น เป็นกรณีพิเศษ ระยะเวลา 3 เดือน โดยหลังจากบอร์ดกทท.เห็นชอบจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

นอกจากนี้ กทท.จะประสานกับตัวแทนสายเดินเรือ เส้นทางไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีประมาณ 3 บริษัท เพื่อขอความร่วมมือในการปรับลดอัตราค่าระวางเรือสำหรับสิ่งของที่จะนำจัดส่งไปให้ความช่วยเหลือประเทศญี่ปุ่นเป็นกรณีพิเศษด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายทางหนึ่ง

“ตามระเบียบการปรับลดค่าภาระท่าเรือนอกจากเสนอขออนุมัติบอร์ดแล้วจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากครม.ก่อนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนดังนั้นหลังจากผ่านบอร์ดแล้วจะเร่งเสนอครม.ทันทีเพื่อให้เริ่มใช้ได้เร็วที่สุดภายในเดือนเม.ย.นี้ ระยะแรก 3 เดือนก่อน จากนั้นจะประเมินอีกครั้ง โดยการงดเว้นค่าภาระดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกทท.แต่อย่างใด เนื่องจากเป็นปริมาณสินค้าส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์พิเศษ ซึ่งหากสถานการณ์ปกติ สินค้าเหล่านี้ก็จะไม่มีการส่งออก”ผอ.กทท.กล่าว

ส่วนปริมาณสินค้านำเข้า-ส่งออกระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในขณะนี้อยู่ในอยู่ในระดับปกติ ซึ่งอาจจะต้องติดตามสถานการณ์อีกระยะหนึ่งจึงจะระบุได้ว่า การนำเข้า-ส่งออกระหว่างไทย-ญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นทั้งท่าท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารสำเร็จรูป และสินค้าแช่แข็ง เช่น เนื้อ ปลา รวมถึง ผัก ผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่สามารถรับสารกัมมันตรังสีได้อย่างรวดเร็วกว่าอาหารประเภทอื่น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เพิ่มมาตรการการตรวจสอบอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น จากเดิมที่ใช้วิธีสุ่มตรวจบางตู้เป็นการตรวจทุกตู้ โดยกรมศุลกากรจะตรวจสอบตู้สินค้าที่บรรจุอาหารทั้งหมดที่มาจากประเทศญี่ปุ่น และเก็บตัวอย่างอาหารในแต่ละรายการ ส่วนสำนักงานอาหารและยา (อย.) จะดำเนินการตรวจสอบสิ่งปนเปื้อน โดยจะนำชิ้นส่วนและสิ่งปรุงแต่งส่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เพื่อตรวจสอบหาสารกัมมันตรังสีอย่างละเอียดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น