xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ไม่กังวลสินค้านำเข้าปนเปื้อนสาร ห่วงภาคส่งออกสินค้าตกค้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เปิดเกมรุกอาเซียนลดความเสี่ยงตลาดญี่ปุ่น ยันไม่กังวลสินค้านำเข้าปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เพราะมีหลายหน่วยงานเฝ้าระวัง-ดูแลได้อย่างดีแล้ว แต่ห่วงภาคส่งออกกำลังมีปัญหาสินค้าตกค้าง เร่งแผนหาตลาดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยง ประสาน ธปท.ช่วยสภาพคล่อง และตั้งศูนย์ฮอตไลน์ แก้ปัญหาเร่งด่วน



นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเปิดสัมมนาหัวข้อ การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน ว่า อาเซียนได้กำหนดให้เริ่มใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง (Self Certification) ภายในปี 2555 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ บรูไน โดยมีเป้าหมายที่จะใช้ระบบนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่จะรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

สำหรับระบบดังกล่าว เป็นระเบียบปฏิบัติใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า ที่ได้แหล่งกำเนิดภายในอาเซียนได้อย่างเสรี โดยระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเองนี้ ผู้ส่งออกที่มีความรู้เรื่องหลักเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่จะส่งออก สามารถรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง บนใบกำกับสินค้า(Invoice) หรือเอกสารการค้าอื่น โดยต้องผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง (Certified Exporter) กับกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวเอง นอกจากจะช่วยลดภาระผู้ส่งออกแล้ว ยังช่วยลดภาระภาครัฐ โดยเมื่อปี 2553 ไทยส่งออกสินต้า ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA มูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 45 มีการขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าภายใต้ข้อตกลง AFTA ในปี 2553 มากถึง 130,000 ฉบับ

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กล่าวถึงการดูแลสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น หลังกระแสข่าวความหวาดกลัวในการระมัดระวังสารปนเปื้อนกัมมันตรังสีในหลายประเทศ โดยมองว่า ขณะนี้มีหน่วยงานด้านสาธารณสุข และสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ เข้ามารับผิดชอบกำกับดูแลอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการตรวจสอบโดยให้น้ำหนักไปที่การคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อความปลอดภัยทางด้านอาหารตามความจำเป็น ไม่ได้เป็นการเข้มงวดตรวจสอบจนเกินเลย เนื่องจากไทย-ญี่ปุ่น มีข้อตกลงเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างกัน

ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงให้ความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ก็ได้เปิดศูนย์ HOT LINE ช่วยแก้ปัญหาเรื่องสินค้าตกค้างในการส่งออกไปญี่ปุ่นให้แก่ผู้ส่งออก ขณะเดียวกัน ยังได้จัดทำแผนหาตลาดทดแทนตลาดญี่ปุ่น โดยกระจายสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน จีน และ อินเดีย นอกจากนี้ ยังประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอให้ช่วยเหลือผู้ส่งออกในเรื่องของสภาพคล่องด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น