xs
xsm
sm
md
lg

ประมวลจริยธรรมผู้ประนีประนอม

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

หลายปีที่ผ่านมาศาลยุติธรรมได้ให้ความสำคัญกับวิธีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการกำหนดนโยบายให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศจัดให้มีระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลควบคู่ไปกับการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ประชาชนในการยุติข้อพิพาทด้วยตนเอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ศาลยุติธรรมหลายแห่งประสบความสำเร็จในการนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ในศาล โดยมี 2 ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมให้ประสบความสำเร็จคือ การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน และ การพัฒนาระบบงานไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล หมายถึง การระงับข้อพิพาทซึ่งเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลตั้งแต่ศาลรับฟ้องจนถึงก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดด้วยข้อตกลงและความสมัครใจของคู่ความทั้งสองฝ่าย โดยมีผู้ประนีประนอมเป็นผู้ดำเนินการไกล่เกลี่ย ให้คำแนะนำและช่วยเหลือให้คู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกัน แต่ไม่มีอำนาจในการกำหนดข้อตกลงให้แก่คู่ความแต่อย่างใด การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาลไม่ถือว่าเป็นการสละสิทธิทางศาล ดังนั้นคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจขอยกเลิกหรือถอนตัวออกจากการไกล่เกลี่ยเมื่อใดก็ได้

เช่น คดีหมิ่นประมาทคดีหนึ่ง คู่ความปฎิเสธข้อเสนอให้ขอขมา และยืนยันให้นำคดีสู่การพิจารณาคดีของศาล แม้ในระหว่างการไกล่เกลี่ย ผู้ประนีประนอมจะพูดโน้มน้าวในทำนองว่าเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาแล้วน่าจะเข้าข่ายหมิ่นประมาท แต่คู่ความได้โต้แย้งว่า ผู้ประนีประนอมไม่มีสิทธิ์ชี้ผิดชี้ถูกหรือตัดสินคดีและตกลงถอนตัวจากการไกล่เกลี่ย คดีนี้จึงขึ้นสู่การพิจารณาของศาล

เหตุที่นำระบบไกล่เกลี่ยมาใช้ในศาล เนื่องจากปริมาณคดีที่ฟ้องร้องต่อศาลมีจำนวนมากและในแต่ละคดีศาลต้องใช้เวลาในการพิจารณา สืบพยานหลักฐานต่างๆอย่างรอบคอบก่อนที่จะพิพากษาคดี ทำให้มีคดีที่ค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาสูงขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันจึงมีการนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้ก่อนฟ้องคดี เช่น คดีกองทุนให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา (กยศ.)เพื่อลดปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลและลดปริมาณคดีในที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล

นอกจากนั้น การที่คู่ความสมัครใจระงับข้อพิพาทลงด้วยความพอใจของคู่ความเอง ทำให้การดำเนินคดีเสร็จสิ้นด้วยความรวดเร็ว ประหยัด มีประสิทธิภาพ และยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีของคู่ความ

การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเป็นวิธียุติข้อพิพาทอีกวิธีหนึ่งที่ศาลในหลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้ โดยมีผู้ประนีประนอมซึ่งเป็นบุคคลกลางทำหน้าที่ช่วยเหลือคู่พิพาทในการเจรจาและหาข้อยุติร่วมกัน

ใครคือผู้ที่เหมาะสมกับการเป็นผู้ประนีประนอม.....? ที่ต้องมาทำหน้าที่ ช่วยเหลือ สนับสนุนการเจรจาระหว่างคู่ความให้บรรลุถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การระงับข้อพิพาท โดยจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นกลาง ปราศจากอคติ ประพฤติตนถูกต้องตามกฎหมายและทำนองคลองธรรม อยู่ในกรอบศีลธรรมและจริยธรรม มีความรู้และเข้าใจในปรัชญาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอย่างถ่องแท้และมีความพร้อมที่จะเสียสละเพื่อส่วนรวม

ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ฯ กำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้ประนีประนอมไว้ว่า เมื่อมีคดีขึ้นสู่ศาล ผู้รับผิดชอบราชการศาลหรือองค์คณะผู้พิพากษาอาจแต่งตั้งผู้พิพากษา ข้าราชการศาลยุติธรรม หรือบุคคลภายนอกผู้ใดผู้หนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้ประนีประนอมเพื่อช่วยเหลือศาลในการไกล่เกลี่ย การแต่งตั้งบุคคลภายนอกเป็นผู้ประนีประนอมต้องคำนึงถึงคุณสมบัติและความเหมาะสม ความยอมรับจากบุคคลทั่วไปและความพอใจของคู่ความทุกฝ่าย

นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้วผู้ประนีประนอมที่ปฏิบัติหน้าที่ในศาลได้รับการแต่งตั้งโดยผู้รับผิดชอบราชการศาลหรือจากองค์คณะผู้พิพากษาจะต้องดำรงตนให้อยู่ในศีลธรรมและจริยธรรมอันดีเพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีในการอำนวยความยุติธรรมและรักษาความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน เพราะจริยธรรมกับการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่คู่กันไม่อาจแยกออกจากกันได้ โดยผู้ประนีประนอมจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเคร่งครัด ระมัดระวัง และรักษาชื่อเสียงไม่ให้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว หรือประพฤติตนในทางที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของสถาบันศาลยุติธรรม

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้จัดทำประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการให้ผู้พิพากษาถือเป็นแนวประพฤติปฏิบัติหรือเป็นข้อเตือนใจว่า ผู้พิพากษาที่ดีนั้นสมควรดำรงตนอย่างไร เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา

ในกรณีของผู้ประนีประนอมก็เช่นเดียวกัน ศาลยุติธรรมได้จัดทำประมวลจริยธรรมผู้ประนีประนอมขึ้นมา เพื่อแนะนำว่าผู้ประนีประนอมควรปฏิบัติหรือไม่ควรปฏิบัติอย่างไรทั้งในการปฏิบัติหน้าที่และการดำรงตน ซึ่งจริยธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญๆนั้น ได้แก่

ความเป็นกลาง ซึ่งผู้ประนีประนอมจะต้องวางตัวเป็นกลางและต้องไม่ยินยอมให้บุคคลภายนอกใช้อิทธิพลใดๆ อันอาจทำให้ผู้ประนีประนอมเสียความเป็นกลางในการไกล่เกลี่ย ไม่ประพฤติหรือแสดงพฤติการณ์ที่ทำให้คู่ความเข้าใจว่าฝักใฝ่ช่วยเหลือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

ความขัดแย้งในผลประโยชน์ ผู้ประนีประนอมต้องเปิดเผยความขัดแย้งในผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การกระทำหรือความสัมพันธ์ที่อาจก่อให้ผู้ประนีประนอมเกิดอคติ ความสัมพันธ์ทางการเงิน ธุรกิจ วิชาชีพ ครอบครัวหรือทางสังคมกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น

การรักษาความลับ ผู้ประนีประนอมต้องเก็บรักษาบรรดาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยหรือที่ตนได้รู้เห็นมาอันเนื่องจากการทำหน้าที่ผู้ประนีประนอมไว้เป็นความลับ

จริยธรรมที่เกี่ยวกับการดำรงตนและครอบครัว นอกจากการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ประนีประนอมอย่างเคร่งครัด เป็นกลางและสุจริตแล้ว ผู้ประนีประนอมต้องประพฤติตนให้ถูกต้องตามกฎหมายและทำนองคลองธรรม กล่าวคือ

ผู้ประนีประนอมต้องไม่ประพฤติชั่ว ไม่ประพฤติตนเป็นคนเสเพลมีหนี้สินรุงรัง เสพของมึนเมาจนไม่สามารถครองสติได้ เล่นการพนันเป็นอาจิณ และต้องอยู่ในมารยาทอันดีงามขณะปฏิบัติหน้าที่ ใช้กิริยาวาจาสุภาพ ให้เกียรติคู่ความทุกฝ่าย มีความสุภาพเรียบร้อย มีอัธยาศัยแก่บุคคลทั่วไป ไม่ใช้ความเป็นผู้ประนีประนอมของตนหรือยอมให้ผู้อื่นใช่ความเป็นผู้ประนีประนอมของตนแสวงหาประโยชน์อันไม่ชอบ

ประมวลจริยธรรมผู้ประนีประนอมที่จัดทำขึ้นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อคู่ความและผู้ประนีประนอมเอง เป็นการดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของศาลยุติธรรม และสร้างความมั่นใจให้เกิดแก่ประชาชนทั่วไปว่ากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในศาล เป็นประบวนการที่โปร่งใส และผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประนีประนอมมีความเป็นกลาง ซื่อสัตย์สุจริตกอรปด้วยคุณธรรมและจริยธรรม อันเป็นหลักประกันว่า ศาลยุติธรรมเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น