เลขาฯ ศาลยุติธรรม ส่งหนังสือ แจง อาจารย์ธรรมศาสตร์ กล่าวหา ก.ต.ป้องผู้พิพากษาออกหมายจับมิชอบ ยันตรวจสอบแล้วทำถูกต้องตามกฎหมาย ปราศจากอคติ ขณะที่รองเลขาฯ ออกบทความทำความเข้าใจเรื่อง “ออกหมายจับ”
วันนี้ (5 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายวิรัช ชินวินิจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้ลงนามหนังสือชี้แจ้งส่งถึง นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 14 ก.พ.53 กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งอนุกรรมการไต่สวนนายอิทธิพล โสขุมา ผู้พิพากษาศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำนองว่า “ คณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ควรเข้าไปตรวจสอบนายอิทธิพลว่า ออกหมายจับโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มากกว่าที่จะปกป้องผู้พิพากษาด้วยกันเอง นายสุนัยไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ที่ ป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการมาไต่สวนสามารถทำได้” นั้น
สำนักงานศาลยุติธรรม ขอเรียนว่า ก.ต.มีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ความประพฤติและการดำรงตนของผู้พิพากษาโดยเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติและปราศจากอคติ ไม่เคยปกป้องผู้พิพากษา หากพบว่ามีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตต่อหน้าที่ กรณี นายอิทธิพล ก.ต.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องทั้งปวงแล้ว พบว่า นายอิทธิพล ได้ดุลพินิจในการออกหมายจับไปตามอำนาจหน้าที่ ด้วยความสุจริต รอบคอบ ชอบด้วยกฎหมาย และปราศจากอคติครอบงำ ปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการออกหมายจับตามคู่มือตุลาการและข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายจับอาญา กรณีนี้จึงมิใช่เรื่องที่ ก.ต.ออกมาปกป้องผู้พิพากษาด้วยกันเอง แต่เป็นการยืนยันในหลักการความถูกต้องของกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายและคุ้มครองผู้พิพากษาที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้อง อิสระ และเป็นกลาง
“ดังนั้น ข้อความที่ให้สัมภาษณ์จึงอาจมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ คลาดเคลื่อนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย อันส่งผลกระทบต่อความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องของสังคมและความรู้สึกของข้าราชการตุลาการ ตลอดจนความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนที่มีต่อศาลยุติธรรม” สำนักงานศาลยุติธรรม ระบุ
ส่วนกรณีที่ให้สัมภาษณ์ว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนีนั้น ขอเรียนว่าเหตุที่จะออกหมายจับตาม ป.วิ อาญา ม.66 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลนั้นไม่มาตามหมายเรียกหรือหมายนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นหลบหนี” การที่ผู้พิพากษาพิจารณาจากพยานและพฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงแล้วเห็นว่าเจ้าพนักงานตำรวจเคยออกหมายเรียกแล้วผู้ต้องหาไม่มาพบหลายครั้ง ต้องด้วยเหตุผลของกฎหมายว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หลบหนี ส่วนที่ผู้ต้องหาคัดค้านว่าไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องว่ากันในชั้นพิจารณา ประการสำคัญ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลเป็นระบบที่ได้รับการยอมรับในหลักสากลว่าการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาต้องกระทำผ่านกระบวนการอุทธรณ์ ฎีกา ตามลำดับชั้นศาล ซึ่งรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้บัญญัติรับรองหลักการดังกล่าวตลอดมา
“ศาลยุติธรรมจึงไม่เคยถูกแทรกแซงโดยองค์กรใดๆ ส่วนกฎหมาย ป.ป.ช.เป็นเพียงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจย่อมต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ซึ่งไม่รวมถึงการตรวจสอบการพิจารณาพิพากษาคดีของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม เพราะจะเป็นการก้าวล่วงแทรกแซงการใช้ดุลพินิจของศาลอันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคม หลักประกันความเป็นอิสระในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน มหาชน และความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม” สำนักงานศาลยุติธรรมระบุ
ขณะที่ นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แสดงความเห็นผ่านบทความเรื่อง “การออกหมาย” ระบุว่า หลักทั่วไปในการดำเนินคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนที่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดมิได้
การจับและควบคุมตัวมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในร่างกายของบุคคล ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและมีผลต่อบุคคลนั้นอย่างรุนแรง ดังนั้น จึงต้องมีกฎหมายให้อำนาจทำได้และการดำเนินการจะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 32 วรรค 3 กำหนดไว้ว่า การจับและคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
เหตุที่จะออกหมายจับได้นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 66 กำหนดว่า เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
1.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
2.เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งหรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี
ที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายมีวัตถุประสงค์ให้การออกหมายจับได้รับการพิจารณากลั่นกรองด้วยความรอบคอบ เพื่อเป็นหลักประกันความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล
ดังนั้น เพื่อให้เกิดดุลยภาพระหว่างการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ประธานศาลฎีกาจึงออกข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ.2548 เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการออกหมายจับและหมายค้น และเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาพยานหลักฐานของศาลก่อนออกหมาย ข้อบังคับดังกล่าววางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการออกหมายจับไว้ดังนี้
การร้องขอให้ศาลออกหมายจับ ให้ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจชำระคดี หรือศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่ที่จะทำการจับ
พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือเจ้าพนักงานอื่นซึ่งร้องขอให้ศาลออกหมายจับจะต้องเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนหรือสอบสวนคดีที่ร้องขอออกหมายนั้น และต้องพร้อมที่จะมาให้ศาลสอบถามก่อนออกหมายได้ทันที
ในการร้องขอให้ออกหมายจับ ผู้ร้องขอต้องเสนอพยานหลักฐานตามสมควรว่า ผู้จะถูกจับน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้นั้นจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าผู้จะถูกจับไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัด โดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าผู้นั้นจะหลบหนี
เมื่อศาลออกหมายจับและเจ้าพนักงานจับบุคคลตามหมายจับได้แล้ว ให้เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องรายงานให้ศาลที่ออกหมายทราบโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 7 วันนับแต่วันจับ
ผู้พิพากษามีดุลพินิจอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่อาจมีการแทรกแซงหรือก้าวล่วงจากหน่วยงานหรือบุคคลใด รวมถึงการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษาในการพิจารณาออกหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญาพิจารณาความอาญาด้วย หากคู่ความไม่เห็นพ้องด้วยกับดุลพินิจของผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี รวมถึงคำสั่งของศาลในเรื่องใดๆ ในระหว่างการพิจารณาคดี คู่ความย่อมสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกา คำสั่งดังกล่าวของศาลต่อไปได้ในหลักการดังกล่าวมีคำสั่งคดีศาลปกครองสูงสุดที่ ร.59/2545 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่าผู้ฟ้องคดีถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ศาลอาญาพิพากษาว่าผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดจริงและคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องคณะผู้พิพากษาว่ากระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ศาลปกครองสูงสุดจึงวินิจฉัยว่า การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของศาลเป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการ ซึ่งไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาเป็นลำดับชั้น การโต้แย้งคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือคำพิพากษาของศาล จะทำได้แต่โดยอุทธรณ์หรือฎีกาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความเท่านั้น ศาลจึงไม่ใช่หน่วยงานทางปกครองและผู้พิพากษาตุลาการไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯแต่เป็นองค์กรและเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญการกระทำของผู้พิพากษาจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะเข้าไปตรวจสอบ แนววินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จึงสอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล ซึ่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในการประกันอำนาจอิสระของผู้พิพากษาในการพิจารณาอรรถคดี ซึ่งรวมถึงการพิจารณาออกหมายจับด้วย