xs
xsm
sm
md
lg

“สมบัติ” ชง รบ.ห้ามยุบสภา-เสนองดซักฟอก ชี้ไร้ประโยชน์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์
ปธ.คกก.แก้ไข รธน.ชงผลศึกษาแก้รัฐธรรมนูญชุดใหญ่ ห้ามยุบสภา-งด ส.ส. อภิปรายไว้วางใจ อ้าง ไร้ประโยชน์หลายประเทศไม่ใช้ ปลดแอก ส.ส.ไร้สังกัดพรรค เตรียมเสนอ “มาร์ค” ปลายเดือนกุมภาพันธ์ รอความคิดเห็นประชาชน ยอมรับผลหากรัฐบาลเมินข้อเสนอ ยันเป็นประโยชน์ระยะยาว

วันนี้ (16 ก.พ.) นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นประธานการแถลงผลการดำเนินการของคณะกรรมการในการศึกษาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ และสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม โดยเห็นควรให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) พิจารณาปรับโครงสร้างการเมืองและกระบวนการยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการศึกษาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญและสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรม ของคณะกรรมการดังกล่าวได้มีการนำเสนอใน 6 ประเด็นใหญ่ดังต่อไปนี้ คือ 1.โครงสร้างของสถาบันการเมือง 2.พรรคการเมือง 3. องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 4.ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ 5.การกระจายอำนาจ 6.การปรับกระบวนการยุติธรรม

โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ที่น่าสนใจคือ ในส่วนของ 1.โครงสร้างของสถาบันการเมือง ที่ระบุว่า 1.1 ประมุขของประเทศ ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข 1.2 ฝ่ายบริหาร (1) หัวหน้าฝ่ายบริหาร ให้หัวหน้าของพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนสูงสุดจากระบบบัญชีรายชื่อมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (2) ฝ่ายบริหารมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่กระทบกับการบริหารงานของรัฐบาลที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติ

ทั้งนี้ ข้อเสนอในส่วนนี้ที่น่าสนใจ คือ ในประเด็นที่ 1.3 คือ ในส่วนของข้อเสนอระหว่างความเป็นอิสระระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ระบุว่า (1) รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภาผู้แทนราษฎรในขณะเกี่ยวกันสภาผู้แทนราษฎรไม่มีสิทธิอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี แต่สามารถอภิปรายทั่วไปได้ ทั้งนี้กระบวนการตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติยังคงอยู่เช่นเดิม เช่น การตรวจสอบโดยตัวแทนของประชาชนโดยคณะกรรมมาธิการ และการตั้งกระทู้ถามในสภา เป็นต้น (2) กระบวนการถอดถอนฝ่ายบริหาร อาจเกิดจากกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาหรือกรณีที่เป็นความผิดทางกฎหมายที่ไม่ใช่คดีอาญา ข้อกล่าวหาดังกล่าวให้ ป.ป.ช.ไต่สวน ถ้ามีมูลให้ส่งเรื่องให้วุฒิสภา เพื่อพิจารณาถอดถอนต่อไป

ในขณะที่ประเด็นที่ 1.4 กล่าวถึงสถาบันนิติบัญญัติ ที่ระบุว่า รัฐสภา ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 1.5 สภาผู้แทนราษฎร (1) การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง (2) ฝ่ายบริหารและข้าราชการการเมืองต้องไม่เป็นสมาชิกรัฐสภา (3) การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เทน เลือกสมาชิกสภาผู้แทน ได้ 1 คน และให้มีสมาชิกสภาผู้แทน แบบบัญชีรายชื่อครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด (4) สภาผู้แทนราษฎร มีอำนาจหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ ตรากฎหมาย ควบคุมงบประมาณแผ่นดิน และตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน 1.6 วุฒิสภา (1) สมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้ง ทางตรง โดยอาจแบ่งจังหวัดออกเป็น 3 กลุ่ม จังหวัดขนาดใหญ่มีสมาชิกวุฒิสภา 3 คน จังหวัดขนาดกลาง 2 คน และจังหวัดขนาดเล็ก 1 คน โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง (2) ให้วุฒิสภา มีอำนาจเสนอร่างกฎหมาย ถอดถอนฝ่ายบริหารกรณีที่ส่อว่าใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฎิบัติตามมาตรการทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และการไต่สวนมูลเหตุของการถอดถอนในขั้นตอนของ ป.ป.ช. ก่อนเสนอวุฒิสภา ให้ดำเนินการภายในระยะเวลาไม่เกินสามสิบวัน เว้นแต่กรณีที่เป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อนอาจขยายระยะเวลาได้ไม่เกินสองครั้งๆ ละไม่เกินสามสิบวัน

ในขณะที่ประเด็นที่ 2 ในการศึกษาของคณะกรรมการดังกล่าว คือ เรื่องพรรคการเมือง และ 3.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพียง 3 องค์กร คือ คณะกรรมการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ส่วนองค์กรอื่นยังคงอยู่แต่ไม่จำเป็นต้องบัญญัติรายละเอียดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ มีข้อเสนอที่น่าสนใจของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขในรัฐธรรมนูญ ในประเด็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ระบุในข้อ 3.5 ว่า ปัจจุบันมีเรื่องการกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตเป็นจำนวนมาก ในขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช ไม่สามารถตรวจสอบไต่สวนได้ทัน เห็นควรให้มีการแก้ไขปรับปรุงดังนี้ คือ

๓.๕.๑ ในกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่ามีการกระทำทุจริตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้หน่วยงาน
ต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นรายงานให้สำนักงาน ป.ป.ช.ทราบและดำเนินการตรวจสอบไต่สวน เมื่อสรุปได้แล้วให้รายงานผลไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป กรณีที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริต ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวน สรุปผลเป็นประการใดให้แจ้งสำนักงาน ป.ป.ช. หากเป็นหัวหน้าส่วนราชการหรือรองหัวหน้าส่วนราชการถูกร้องเรียนให้ส่งเรื่องไปให้สำนักงาน ป.ป.ช. โดยให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบไต่สวน

๓.๕.๒ ควรมีการกำหนดเงื่อนเวลาในการไต่สวนในเรื่องที่มีความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศ

๓.๕.๓ ให้ ป.ป.ช.สามารถเปิดเผยข้อมูลของข้าราชการ นักการเมืองและบุคคลสาธารณะได้ ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ

๓.๕.๔ ปรับปรุงกฎหมายให้ ป.ป.ช.มีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงรวมทั้งมีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเพิ่มขึ้น

ในขณะที่หัวข้อที่ 4 ของการนำเสนอ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายประจำ ระบุว่า การแต่งตั้งหัวหน้าส่วนราชการ เช่น ปลัดกระทรวงหรืออธิบดีให้ฝ่ายบริหารเป็นผู้เสนอชื่อต่อสมาชิกวุฒิสภาผ่านกระบวนการไต่สวนประวัติโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ

ประเด็นที่ 5 เรื่องการกระจายอำนาจ ที่มีความน่าสนใจในเรื่องของการที่ระบุว่า ควรให้มีการปฎิรูประบบภาษีควรปฏิรูประบบภาษีใหม่ทั้งระบบ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายได้จากภาษีที่มีฐานภาษีอยู่ในท้องถิ่น และสามารถจัดเก็บภาษีเหล่านั้นได้เองมากขึ้น ภาษีดังกล่าวควรมีจำนวนมากเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ และตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ระบุว่า ควรส่งเสริมบทบาทของชุมชน และผู้นำชุมชนให้เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส โดยทบทวนที่มาของสมาชิกสภาท้องถิ่นให้มีที่มาโดยวิธีการอื่น นอกเหนือจากการเลือกตั้ง เช่น วิธีการสรรหา หรือการขอฉันทานุมัติของประชาชน เป็นต้น

และประเด็นสุดท้าย ในเรื่องที่ 6 ที่คณะกรรมการนำเสนอคือเรื่อง ของการปรับระบบกระบวนการยุติธรรม ในส่วนของ ตำรวจ อัยการ และศาล

โดยเสนอในส่วนของโครงสร้างตำรวจ ในประเด็นที่น่าสนใจ คือ เรื่อง (๑) การแยกงานสอบสวนออกจากงานของตำรวจ ออกมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมโดยมีหลักการสอบสวนเช่นเดียวกับอัยการและศาล โดยกำหนดให้คดีอาญาแผ่นดินให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สำหรับคดีลหุโทษ และคดีที่ยอมความได้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตำรวจและให้ตำรวจรับผิดชอบคดีอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวน

(๒) กระจายอำนาจตำรวจจากส่วนกลางสู่ระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการบริหารงานตำรวจระดับจังหวัดโดยเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยประชาชน อัยการ ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุมประพฤติ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงานสามารถรับรู้ปัญหาในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงและเป็นที่ยอมรับของประชาชน

ส่วนในประเด็นของโครงสร้างอัยการนั้น ระบุว่า โครงสร้างอัยการในปัจจุบันเป็นเช่นเดียวกับตำรวจ คือ มีการรวมศูนย์อำนาจ อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการยังไม่มีความเหมาะสมในการอำนวยความยุติธรรม การเกิดผลประโยชน์ขัดกันกับการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการ ที่ปรึกษาในรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรอื่น จึงมีข้อเสนอในการปฏิรูปอัยการ ดังนี้

(๑) ห้ามมิให้พนักงานอัยการไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ โดยไม่มีข้อยกเว้น

(๒) ให้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาสั่งฟ้องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นการเฉพาะ ซึ่งอาจเรียกชื่อว่า “คณะกรรมการอัยการพิเศษ” เป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจสำหรับแต่ละคดี

(๓) ห้ามมิให้พนักงานอัยการไปดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายในรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ

(๔) ให้การบริหารงานบุคคลของอัยการมีคณะกรรมการอัยการโดยมีโครงสร้างในแนวทางเดียวกับคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม โดยกำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นประธานกรรมการ และกำหนดให้มีตัวแทนของข้าราชการอัยการในแต่ละระดับชั้น (ยกเว้นข้าราชการอัยการชั้นหนึ่งและชั้นสอง) ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอัยการ

(๕) การให้คำปรึกษา ตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริการสาธารณะ หรือเกี่ยวกับโครงการที่มีวงเงินหรือทรัพย์สินตั้งแต่หนึ่งพันล้านบาทขึ้นไป สำนักงานอัยการสูงสุดต้องพิจารณาในลักษณะเป็นองค์คณะ โดยจะต้องจัดตั้งเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจให้สำนักงานอัยการสูงสุด มีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวแก่ ป.ป.ช. สตง.และรัฐสภา รวมทั้งจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อสาธารณชน

(๖) ในคดีที่มีโทษอุกฉกรรจ์ กำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่สอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวน เพื่อให้คำแนะนำและร่วมตรวจสอบพยานหลักฐานตั้งแต่ชั้นเริ่มสอบสวน

ส่วนการพิจารณาคดีของศาลนั้น นอกจากจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความยุติธรรม และยึดมั่นในความถูกต้องชอบธรรมด้วย จึงมีข้อเสนอในการปฏิรูปดังนี้

(๑) กำหนดให้การพิจารณาคดีของศาล นอกจากจะต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แล้ว ยังต้องคำนึงถึงความยุติธรรมด้วย

(๒) ปรับบทบาทการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา โดยให้ศาลอุทธรณ์สามารถสืบพยานเพิ่มเติมได้หากมีข้อสงสัยในข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม และให้ศาลฎีการับฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายหรือเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

(๓) กำหนดคุณสมบัติของผู้สอบผู้พิพากษา ต้องมีอายุ ๓๐ ปี และให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายมาทำหน้าที่ผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์และฎีกาได้ และให้ผู้ประกอบอาชีพอื่นมาทำหน้าที่ผู้พิพากษาสมทบ

(๔) ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินงานของศาล โดยกำหนดอัตรา ไม่ต่ำกว่าร้อยละของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า ข้อสรุปขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเสนอ ความเห็นของประชาชนของประชาชน ที่คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จปลายเดือน ก.พ.แล้ว จึงนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องเป็นเรื่องระยะยาวหากมีการถกเถียง ปัญหาที่หลากหลาย แตกต่าง ก็จะได้แนวทางปฏิรูปการเมืองที่แก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง

เมื่อถามว่า หากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและมีการยุบสภาเกิด ข้อเสนอจะทำอย่างไร นายสมบัติ กล่าวว่า ถ้ามีรัฐบาลใหม่ เรื่องการปฏิรูปก็ยังไม่จบ รัฐบาลที่มา หรือสภาที่มาใหม่ ก็สามารถไปเสนอแก้ไขในมาตรา 291 และจัดตั้ง ส .ส.ร.ใหม่ได้

เมื่อถามว่า แนวทางนี้เป็นการเสนอที่สุดโต่งไปหรือไม่ เพราะการเมืองก็ยังน้ำเน่าอยู่ นายสมบัติ กล่าวว่า เราก็พยายามที่จะดูว่าอะไรเป็นทางออก เพราะสิ่งที่คิดมายังขลุกขลักอยู่ในระบบเดิม เรียกว่า รูปแบบควบอำนาจ ซึ่งก็ต้องการที่จะนำเสนออะไรที่แตกต่างไปจากของเดิม และมีการถกเถียง จะทำให้การเมืองไทยพ้นจากวงจรอุบาทว์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนที่ต้องช่วยกัน คิดให้ตกผลึกจึงจะมีผลประโยชน์ต่อประเทศ

เมื่อถามว่า การปฏิรูปทางการเมือง ก็ยังเป็นการทำเพื่อตัวนักการเมือง ไม่ใช่เพื่อประชาชน นายสมบัติ กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูปที่คณะกรรมการออกมา ไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องมีคนได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ เป็นเรื่องปกติทางการเมือง ไม่มีใครไม่ได้ประโยชน์เป็นไปไม่ได้ แต่เรามีหลักว่าควรจะเป็นอย่างไร เช่น การที่เสนอให้มีระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มมากขึ้น ก็เพื่อที่จะสนับสนุนพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองควรจะเป็นพรรคการเมืองที่มีความเข้มแข็ง ถ้าประชาชนเลือกคุณมาก คุณก็ต้องทำพรรคให้เป็นที่นิยมของประชาชน และมีผู้นำเป็นที่เชื่อถือได้ ส่วนเรื่องระบบเขตเดียวเบอร์เดียว มาจากหลักสากลไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการทุจริต

“โครงสร้างการเมืองไทย จะได้ดี ต้องเปลี่ยนจากสามเหลี่ยมหน้าจั่ว เป็นแบบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด และถ้าเปลี่ยนได้โอกาสที่จะไปตบตาประชาชนก็เป็นเรื่องยาก แต่วันนี้ไม่ว่าจะเสนออะไรออกมาก็มีคนหาช่องเพื่อหาประโยชน์ได้” นายสมบัติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่สำเร็จ คณะกรรมการจะเสียชื่อหรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า เราทำงานตามหลักการ และคิดว่า หากเราเสนอหลักการเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ ใครได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ก็เป็นเรื่องระบอบประชาธิปไตย เราเกิดมาอย่าไปยึดติดมากนัก ตนก็เป็นเดินดินธรรมดา หากเสียชื่อแล้วประเทศได้ประโยชน์ก็ไม่เป็นไร เพราะตนก็ไม่ใช่คนมีศักดิ์ตระกูลอะไร

เมื่อถามว่า ข้อเสนอที่ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนมากที่สุด จากระบบบัญชีรายชื่อมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล นายสมบัติ กล่าวว่า การที่ให้พรรคที่ได้รับเสียงเลือกตั้งมากเป็นอันดับ 1 จากระบบบัญชีรายชื่อจัดตั้งรัฐบาล พรรคนั้นต้องทำให้พรรคเป็นที่นิยม และ ส.ส.ที่จะสมาชิกพรรคต้องมีความสมัครใจไม่ใช่การบังคับ ซึ่งพรรคต้องเข็มแข็ง เพราะคนอยากเป็นสมาชิกพรรค คนเป็นหัวหน้าพรรคต้องรู้ การอยู่ร่วมกันต้องมีความเชื่อมั่นด้วยกันไม่ใช่ถูกบังคับ และจะไม่เหมือนระบบพรรคร่วมรัฐบาลอย่างทุกวันนี้ที่คุณไม่ตั้งเขา เขาก็ไม่เลือกคุณ

เมื่อถามต่อว่า การที่ให้หัวหน้าพรรคที่ได้คะแนนสูงมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล จะทำให้พรรคเล็กเสียเปรียบหรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า พรรคการเมืองในโลกไม่มีพรรคเล็กที่จะได้ประโยชน์มากกว่าพรรคใหญ่ และจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคใหญ่นั้น ก็เป็นธรรมดาเพราะพรรคที่ใหญ่กว่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ส่วนที่มองว่าเป็นข้อเสนอที่สอดคล้อง กับขอ้อเสนอนายกอร์ศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์เสนอนั้น ตนคิดว่านายกอร์ปศักดิ์พูดทีหลัง แต่เรื่องนี้ เราคิดมาก่อน แต่ก็เป็นการดีไม่ใช่เรื่องเสียหาย

เมื่อซักว่า การที่ไม่มีสิทธิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นั้นแสดงว่า จะไม่มีการตรวจสอบ นายสมบัติ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหา คือ การที่รัฐบาลมาจากจำนวน ส.ส.ในรัฐสภา เรานับจำนวนส.ส.ในสภา ถ้าไม่มีเสียงในสภาเกินครึ่งก็ตั้งไม่ได้ พอมาตั้งรัฐบาลผสม ก็มีปัญหาเรา เห็นปัญหาจากการอภิปราย ระบบที่มีอยู่มันเป็นปัญหา เสนอให้ประชาชนเลือกโดยตรงและเป็นถ่วงกันนั้นไม่จริง เพราะใช้ได้ไม่จริง ทำให้หลักตรวจสอบอ่อนแอ พอหลักตรวจสอบอ่อนแอ ก็ทำให้มีการโกงกันเยอะ

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจในหลายประเทศก็ไม่มี เพราะการอภิปรายก็ทำโดยเสียงข้างน้อย และบางครั้งการอภิปรายก็ไม่มีความโปร่งใส และการหาประโยชน์ ระบบที่เราใช้อยู่เป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การเมืองไม่โปร่งใส และไม่ประสบความสำเร็จ แต่ถ้าใช้วิธีการถอดถอนทางการเมืองซึ่งเราก็ทำได้” นายสมบัติ กล่าว

เมื่อถามว่า ข้อเสนอแก้มาตรา 291 หากรัฐบาลไม่รับไปดำเนินการเท่ากับเป็นการสูญเปล่าหรือไม่ นายสมบัติ กล่าวว่า ตนก็อาจจะได้ประโยชน์ทางวิชาการ ลูกศิษย์ก็จะได้ประโยชน์ ข้อเสนอคือข้อเสนอ ถ้าไม่มีข้อตอบรับตนก็เห็นด้วย แสดงว่า มันไม่มีความหมาย ไม่มีประโยชน์ คนก็ทิ้งไป มีนักวิชาการในโลกนี้มีเยอะแยะที่คิดอะไรมาแล้วไม่มีคนนำไปใช้ เพราะทำให้ขาเสียประโยชน์
กำลังโหลดความคิดเห็น